วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความตระหนี่ลาภเป็นความโง่เขลา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ความตระหนี่ลาภเป็นความโง่เขลา เหมือนชาวนาที่ตระหนี่ไม่ยอมหว่านพันธุ์ข้าวลงในนา เขาเก็บพันธุ์ข้าวเปลือกไว้จนเน่าและเสีย ไม่สามารถจะปลูกได้อีก ข้าวเปลือกที่หว่านลงแล้วหนึ่งเมล็ด ย่อมให้ผลหนึ่งรวงฉันใด ทานที่บุคคลทำแล้วก็ฉันนั้น ย่อมมีผลมากผลไพศาล การรวบรวมทรัพย์ไว้โดยมิได้ใช้สอยให้เป็นประโยชน์ ทรัพย์นั้นจะมีคุณค่าแก่ตนอย่างไร เหมือนผู้มีเครื่องประดับอันวิจิตรตระการตาแต่หาได้ประดับไม่ เครื่องประดับนั้นจะมีประโยชน์อะไร รังแต่จะก่อความหนักใจในการเก็บรักษา "

พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนหลักที่สำคัญที่สุดเอาไว้ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุมาทำให้เกิดขึ้น” ดังนั้นความทุกข์ก็ต้องมีเหตุมาทำให้เกิดขึ้น ซึ่งโดยสรุปแล้วเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ของจิตใจขึ้นมาก็คือ “ความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตัวเรา-ของเรา” (หรือความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา) ส่วนเหตุที่ทำให้เกิดความยึดถือนี้ขึ้นมาก็คือ “ความรู้ผิดว่ามีตัวเราอยู่จริง” คือเพราะมีความรู้ผิดว่ามีตัวเราอยู่จริง ที่เป็นความเคยชินที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ที่มันคอยกระตุ้นหรือผลักดันให้จิตเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมาอยู่เสมอๆในชีวิตประจำวันของเรา แล้วก็ทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์อยู่เสมอๆตามไปด้วย