วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

เรื่องนี้น่าสนใจครับ เลยนำมาฝากกัน

เรื่องของ " นายพันโท จมื่นฤทธิ์รณจักรกราบถวายบังคมทูลลาตาย"

ที่มา https://www.facebook.com/payapenad?fref=nf

เหตุการณ์ตอนปลายรัชกาล วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2468 พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปพระราชทานน้ำสรงพระศพ ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัว ร.6 ประทับอยู่ ณ พระที่นั่งอุดรฯซึ่งมีเฉลียงทั้งบนและล่าง เชื่อมต่อกับพระที่นั่งอัมพรสถาน มีอัฒจันทร์(บันได)หินอ่อน ทอดลงไปที่ถนนสำหรับรถยนต์พระที่นั่งเข้าเทียบ หากมีพระราชประสงค์จะเสด็จขึ้นลง จากตรงนั้นก็ทรงทำได้ แต่ปกติแล้วรถจะเทียบหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน บรรดาราชองครักษ์และมหาดเล็กตามเสด็จ ก็จะไปรอรับเสด็จที่พระที่นั่งอัมพรสถาน

วันนั้นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จจากพระที่นั่งอุดรฯ ตรงไปที่พระที่นั่งอัมพรสถานเพื่อจะประทับรถพระที่นั่งจากตรงนั้น ระหว่างเสด็จมาตามลำพังพระองค์เดียว เพราะผู้คนไปรอที่อัฒจันทร์ด้านพระที่นั่งอัมพรกันหมด พอเลี้ยวจากอัฒจันทร์ชั้นบนจะลงมาที่ชั้นล่าง ก็ทอดพระเนตรเห็น นายพันโทจมื่นฤทธิ์รณจักร(กรับ โฆษะโยธิน) ผู้บังคับการทหารรักษาวัง และราชองครักษ์เวร มายืนเฝ้าถวายการเคารพอยู่ริมถนนเชิงอัฒจันทร์


พระเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านไป ทรงรับความเคารพ ด้วยความแปลกพระทัยที่องครักษ์เวรมายืนเฝ้าอยู่ตรงนี้ตามลำพังแทนที่จะไปรอเฝ้าที่หน้าพระที่นั่งอัมพรอย่างที่ควรทำ แต่ก็ทรงนึกว่าหรือราชองครักษ์จะรอเฝ้าเพราะมีเรื่องกราบบังคมทูลเป็นส่วนตัว แต่ท่าทีเขาก็ไม่เห็นจะถวายหนังสือ หรือมีเรื่องกราบบังคมทูล และที่แปลกพระทัยอีกอย่างคือ แทนที่จะแต่งเต็มยศขาวตามหมายกำหนดการ จมื่นฤทธิ์ฯกลับแต่งเต็มยศใหญ่ จะทรงทักว่าแต่งผิดก็เกรงว่า จมื่นฤทธิ์ฯ จะตกใจ จึงเสด็จผ่านไปเฉยๆ

จนกระทั่งเสด็จกลับจากงานพระศพ กลับมาที่พระที่นั่งอุดร ทรงลืมเรื่องของจมื่นฤทธิ์ฯไปแล้ว ทอดพระเนตรเห็นพานดอกไม้ธูปเทียนกราบถวายบังคมทูลลาตาย วางอยู่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็น จึงทรงหยิบหนังสือขึ้นทอดพระเนตร มีข้อความว่า

" ...ดอกไม้ธูปเทียนของข้าพระพุทธเจ้า นายพันโท พระฤทธิรณจักร (กรับ โฆษะโยธิน) ขอพระราชทานกราบบังคมลาถึงแก่กรรม ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ".....

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ทรงระลึกได้ทันทีว่าบ่ายนี้ที่จมื่นฤทธิ์ฯ มาเฝ้าในเครื่องแต่งกายเต็มยศใหญ่ ก็คงเป็นเพราะประสงค์ จะมาถวายบังคมลาตายด้วยตัวเอง นั่นเอง

เมื่อความได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเช่นนั้น พระองค์ทรงเสียพระราชหฤทัยและเสียดายจมื่นฤทธิ์รณจักร เป็นอย่างมาก ถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า "จมื่นฤทธิ์รณจักร แกรักฉัน อุตส่าห์นำวิญญาณในเครื่องแบบเต็มยศมาลาฉัน"

ปล. เป็นระเบียบของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนข้าราชสำนักจะต้องมีญาติ พี่น้องทำหนังสือกราบบังคมทูลในนามผู้ตาย ถวายบังคมลาตาย ส่งไปที่กระทรวงวัง พร้อมดอกไม้ธูปเทียนใส่พานไปด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงวัง จะได้นำพานและหนังสือ ทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทราบใต้ฝ่าละอองฯ หลังจากนั้นสำนักพระราชวัง ก็จะจัดน้ำหลวงอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศส่งไปให้ผู้ถึงแก่กรรม

ค่ำวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว ได้รับสั่งให้มหาดเล็กห้องบรรทม โทรศัพท์ไปเชิญ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวังให้มาร่วมโต้ะเสวย และทรงเล่าเรื่องวิญญาณของนายทหารมหาดเล็กที่มาเข้าเฝ้าให้ฟัง เรื่องนี้จึงเป็นที่แพร่กระจายในราชสำนักยุคนั้น

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

กลับไปเยือนสถานีคีรีรัฐนิคม

วันนี้ผมไปเดินเที่ยวที่สถานีรถไฟคีรีรัฐนิคม ทางรถไฟที่เคยเป็นความหวังที่จะไปยังจังหวัดภูเก็ต แต่สุดท้ายก็สร้างมาได้แค่สถานีคีรีรัฐนิคมแห่งนี้เท่านั้น เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางที่ผูกพันธ์กับคนในอำเภอพุนพินและคีรีรัฐนิคมด้านฝั่งคลองพุมดวงเป็นอย่างมาก เพราะสมัยก่อนไม่มีถนนหนทางสะดวกสะบายอย่างในทุกวันนี้ การเดินทางเข้ามาในตัวอำเภอหรือตัวจังหวัด รวมทั้งขนส่งสินค้าก็อาศัยรถไฟสายนี้เท่านั้น ขบวนรถไฟสายนี้เป็นรถรวม ซึ่งเป็นการพ่วงรวมตู้สินค้ามากับขบวนด้วย ในสมัยเด็กๆผมยังเห็นตู้ ตญ.พ่วงรวมมากับขบวนนี้อยู่บ่อยๆ บางครั้งก็เป็นยางพาราแผ่นมาทั้งตู้

เส้นทางสายนี้ผมเคยนั่งไปจริงๆแค่ครั้งเดียว แต่ก็ไปแบบแปลกๆนิดหน่อยคือเกาะหัวรถจักรไปกับ พี่ๆพนักงานแขวงทุ่งสง ที่เมื่อก่อนยังต้องมีเวรทำขบวนเข้าไปนอนค้างคืนที่สถานีนี้อยู่ทุกวัน ( ในปัจจุบันใช้พนักงานที่ประจำอยู่สุราษฎร์ธานีทำขบวนเข้าไป) ผมนั่งไปหน้ารถจักร แฮนเช่น หมายเลข 3027 ที่ไม่รู้ว่าทำไมผมถึงจำได้ไม่ลืม ทั้งๆที่ผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้วก็ตาม

สมัยนั้นเรื่องเหล้าผมไม่ค่อยจะยอมแพ้ใครซักเท่าไหร่ ดังนั้นเมื่อถึงคีรีรัฐนิคม ผมก็แยกย้ายกับพี่ๆพนักงานที่เดินทางเข้าบ้านพักพร้อมข้าวคนละกล่องที่ซื้อมาจากสถานีสุราษฎร์ธานี ผมเดินเที่ยวๆอยู่แถวนั้นจนค่ำก้เข้าไปนั่งกินเหล้าอยู่ในสวนอาหาร ใกล้ๆสถานี เหล้าแบนนึงกับสองอย่างตามสูตร นั่งไปเรื่อยๆมีโตีะข้างๆชวนคุยบ้าง นั่งคุยกับนักร้องบ้าง เฮฮาไปตามประสาวัยรุ่น จนตีสอง ถึงเวลาที่ร้านในสมัยนั้นจะปิด ผมก็เริ่มหาที่นอน คีรีรัฐนิคมในสมัยนั้นมันช่างเงียบเหงาเหลือเกิน ยิ่งตีสองกว่าๆยิ่งเงียบหนัก ร้านก็ปิดหมด ที่พักที่ไหนก็ไม่มี ในที่สุดผมก็เดินมานอนที่ในตู้รถไฟที่จอดอยู่หน้าสถานี โดยผมเลือกนอนตู้ที่ติดกับหัวรถจักร เพราะถ้าพนักงานติดเครื่องผมจะได้ตื่นมาได้ทัน

"ยุงจะไม่กัดคนเมา" คืนนั้นผมพิสูจน์เรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน ผมหลับสนิทไม่รู้สึกว่ามียุงมากัดเลย แต่ตอนเช้าที่แขนมีแต่รอยแดงๆเต็มไปหมด แล้วผมก็เกาะหัวรถจักรกลับมาสุราษฎร์ธานีอีกครั้งโดยสวัสดิภาพ วันนี้ผมไปนั่งรอรถไฟสายนี้ที่ออกจากสุราษฎร์ธานีมาพร้อมกับที่ผมขับรถยนต์ออกมา แต่ปรากฏว่าผมมาถึงก่อนเกือบชั่วโมง อาจจะเป็นเพราะกำลังมีการปรับปรุงสภาพทางใหม่อยู่ทำให้รถทำความเร็วไม่ได้ ต้องมาช้าๆเพื่อความปลอดภัย ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ผู้โดยสารทั้งขบวนจะมีไม่ถึงสิบคน เพราะการเดินทางด้วนยานพาหนะแบบอื่นสะดวกสะบายมากกว่านั่นเอง

สถานีคีรีรัฐนิคมวันนี้กำลังขยายย่านสถานีรวมทั้งขยายความยาวของรางหลีก เปลี่ยนหมอนไม้เป็นหมอนคอนกรีต โรยหิน อัดหิน ทำร่องน้ำใหม่ แต่ไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนเป็นราง 100 ปอนดืด้วยหรือเปล่า โดยผู้รับเหมาโครงการนี้คือบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ที่ทำงานกับการรถไฟมายาวนานมากแล้วนั่นเอง



สถานีคีรีรัฐนิคม 23/4/2558

และเมื่อปรับปรุงทางเสร๊จหลังจากนี้ เราอาจจะได้เห็นรถจักร ยี่ห้ออื่นๆเข้ามาในเส้นทางสายนี้บ้าง หลังจากที่แฮนเชล ยึดครองจนตอนนี้ตัดบัญชีเลิกใช้งานไปเกือบหมดแล้วยกตำแหน่งให้ GEK เข้ามาแทนร่วมสิบปี เอาไว้วันไหนปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยผมจะเข้าไปถ่ายภาพมาให้ชมกันอีกครั้ง วันนี้ได้บ่นได้เล่าความหลังไปบ้าง ทำให้รู้สึกดีขึ้นมาบ้างตามประสาคนแก่ๆ

อันนี้แถมเป็นสาระความรู้เพิ่มเติมครับ เดี๋ยวจะว่าอ่านมาตั้งนานไม่มีสาระเลย

กรมรถไฟ เริ่มการสำรวจตั้งแต่ พ.ศ. 2481 และเวนคืนที่ดินไว้ตลอดสาย ตั้งแต่สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ ถึงสถานีท่านุ่น จังหวัดพังงา ระยะทาง 162 กิโลเมตร แล้วมีโครงการจะต่อแนว ข้ามฝั่งไปยังเกาะภูเก็ตอีกด้วย โดยสร้างสะพานข้ามทะเล ระหว่างท่านุ่นและท่าฉัตรไชย ถึงอ่าวมะขาม อีก 49 กิโลเมตร แต่ยังไม่ได้สำรวจ โครงการก็ระงับไปเสียก่อน เพราะไม่ได้รับเงินงบประมาณ

ในปี พ.ศ. 2484 ได้เริ่มทำการก่อสร้าง โดยถมดินเป็นตอนๆ จากทุ่งโพธิ์ลงไป แต่เกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เสียก่อน จึงได้ชะงักโครงการ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2494 ได้รับงบประมาณมาดำเนินการต่อ จึงก่อสร้างทางอีก โดยเริ่มจาก สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ ไปจนถึงสถานีคีรีรัฐนิคม ระยะทาง 31 กิโลเมตร โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดเดินรถได้เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2499 สิ้นค่าก่อสร้าง 33,147,800 บาท ส่วนเส้นทางที่เหลือจากคีรีรัฐนิคม ไปจนถึงท่านุ่นนั้น ก็ไม่ได้ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก คงค้างไว้เพียงแค่นั้น

ข้อมูลจาก รถไฟไทยดอทคอม

วันนี้ร่ำลากันแค่นี้ก่อนนะครับ สวัสดีครับ

นภดล มณีวัต

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

รำลึกความหลัง ฮิตาชิ 666

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้ข่าวมาจากพี่ๆที่ทุ่งสงว่าได้นำซากรถจักร ฮิตาชิ หมายเลข 666 ออกไปจมทะเลเพื่อทำเป็นปะการังเทียมเสียแล้ว ทำให้รู้สึกเสียดายนิดๆ แต่ก็ทำใจได้เพราะถึงเก็บไว้ก็คงทำได้แค่เพียงทาสีใหม่แล้วเอามาวางไว้ให้คนถ่ายภาพ ส่วนเรื่องที่จะเก็บไว้เป็นอนุสรณ์หรือเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์รถไฟนั้น ยังมีคันอื่นที่สภาพดีกว่านี้อีกมาก ซึ่งก็ต้องทำใจว่า เราจะเก็บอะไรไว้ทั้งหมดไม่ได้ต้องเลือกเอาไว้ได้แค่บางส่วนเท่านั้น

ผมรู้จักรถจักรคันนี้เมื่อปี 2537 ปีนั้น เจ้าฮิตาชิคันนี้ทำสับเปลี่ยนอยู่ที่สถานีสุราษฎร์ธานี โดยภาระกิจหลักคือ นำตู้โดยสารที่ตัดสำรองไว้ที่สถานีสุราษฎร์ธานี ไปต่อท้ายขบวนรถโดยสารในขณะนั้น คือ

ขบวนรถเร็วที่ 48 นครศรีธรรมราช - กรุงเทพ ( ปัจจุบันเป็นขบวน 174)
ขบวนรถเร็วที่ 42 กันตัง - กรุงเทพ (ปัจจุบัน เป็นขบวน 168 ไม่มีตู้ตัดสำรองแล้ว )
ขบวนรถด่วนที่ 16 นครศรีธรรมราช - กรุงเทพ (ปัจจุบันเป็นขบวน 86)

ผมชอบรถไฟมาตั้งแต่เมื่อไหร่นั้นผมเองก็ไม่ทราบ แต่กว่าจะรู้ตัวก็ติดจนเลิกไม่ได้เสียแล้ว สมัยเรียนชั้นประถม ผมชอบนั่งวาดรูปรถไฟ โดยเอาแบบมาจากแสตมป์ชุดรถไฟ วาดซ้ำไปซ้ำมาอยู่จนโดนเพื่อนๆล้อ จนถึงตอนเรียน ปวช ก็ยังไม่เลิกบ้ารถไฟ มีเพื่อนคนนึงบอกกับผมว่า "สงสัยมึงต้องฉีดรถไฟเข้าเส้นเลือดซักขบวนแล้วละ ถึงจะหายบ้า"

ผมชอบนั่งดูรถไฟมากๆ ยิ่งในเวลาที่ผมรู้สึกไม่สบายใจผมจะไปนั่งดูรถไฟเป็นประจำ มันเป็นความรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูกที่ได้เห็นรถไฟเคลื่อนตัวผ่านไป เหมือนกับขบวนรถไฟได้ลากเอาความรู้สึกไม่สบายใจของผมออกไปด้วย ผมมักจะหาเวลาว่างนั่งรถไฟเที่ยวอยู่เป็นประจำ โดยขบวนที่ผมจะนั่งเป็นประจำก็คือ รถธรรมดา สุราษฎร์ธานี - ทุ่งสง รถขบวนนี้ในปัจจุบัน ยกเลิกไปแล้ว เพราะไม่มีผู้โดยสารและไม่มีรถจักรมาลาก ทำให้ผมหมดเส้นทางท่องเที่ยวไปอีกหนึ่งเส้นทางอย่างน่าเสียดาย

ภาพความหลังในตอนนั้น ผมจะขับมอเตอร์ไซค์ มาจอดไว้ที่หน้าสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี ซื้อตั๋ว ซึ่งในสมัยนั้นเป็นตั๋วแข็งที่ดูคลาสสิคมากๆ ในราคา 13 บาท เพื่อที่จะไปลงที่สถานี ฉวาง รถขบวนนี้จะจอดอยู่ในชานชาลาที่สาม เป็นตู้ชั้นสาม เก้าอี้ไม้ มีอยู่สามตู้ ใช้หัวรถจักร ยี่ห้อ แฮนเชน ทำขบวน รถจะออกจากสุราษฎร์ธานีในเวลาประมาณบ่ายสอง ถึงฉวางตอน สี่โมงกว่าๆ หลังจากนั้นผมก็จะนั่งขบวน สุไหงโกลก - สุราษฎร์ธานีกลับ ขบวนรถธรรมดาจากสุไหงโกลกนี้จะใช้หัวรถจักรดีเซลไฮโดรลิกยี่ห้อ กรุ๊ป ซึ่งตอนนี้หาดูได้ยากทำขบวนเป็นประจำ ในสมัยนั้น รถธรรมดาสายยาวๆ อย่าง ชุมพร - หาดใหญ่ หรือ สุราษฎร์ธานี - สุไหงโกลก พัทลุง - นครศรีธรรมราช รวมทั้งรถธรรมดาจากธนบุรี จะใช้รถจักรยี่ห้อ กรุ๊ป แทบทั้งสิ้น วันไหนเห็น อัลสทอม ลากรถพวกนี้ วันนั้นผมจะตื่นเต้นมากๆที่เห็นรถจักรใหญ่ๆมาลากรถธรรมดา

วันเวลาผ่านไป ยี่สิบปี สิ่งต่างๆก็เปลี่ยนไป รถจักร แฮนเชน เหลือประจำการอยู่เพียงคันเดียวคือ หมายเลข 3015 ที่สุราษฎร์ธานี (ตอนนี้ย้ายไปนอนสงบนิ่งอยู่ที่ทุ่งสงเรียบร้อยแล้ว) ที่เหลือก็ขายให้กับบริษัทเอกชน นำไปยำอะไหล่ ยุบรวมกันได้เป็นรถจักรทำงานสองสามตัว แต่จะมีกี่ตัวนั้นผมก็ไม่ทราบ ส่วน กรุ๊ป หายไปจากเส้นทางแถวบ้านผมนานมากแล้ว พอจะรู้มาว่า หลงเหลืออยู่ที่ หาดใหญ่ สอง สามตัว และที่ธนบุรี อีกสองตัว นอกนั้นนอนรอความตายและตัดบัญชีทิ้งทั้งนั้น (แต่ที่วิ่งได้จริงๆน่าจะเหลือที่แขวงธนบุรีคันเดียว)

หัวรถจักรแห่งความหลังที่ผมจดจำได้ดีอีกตัวหนึ่งคือ ยี่ห้อ ฮิตาชิ รุ่นเก่าหมายเลข 666 ซึ่งสมัยนั้นทำสับเปลี่ยนอยู่ในสถานีสุราษฎร์ธานี ผมยังทันได้ขึ้นไปนั่งบนหัวรถจักรตัวนี้ในช่วงที่ทำสับเปลี่ยน ยังได้เห็นการเตะตู้ไฟ ในแคป เพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง จากสภาพอันเก่าแก่ของหัวรถจักร แต่พอผมขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพ เจ้าหัวรถจักรตัวนี้ก็เสียชีวิต จนต้องลากไปเก็บไว้ที่ทุ่งสงจนกระทั่งทุกวันนี้



ภาพรถจักรหมายเลข 666 หลังปลดประจำการที่โรงรถจักรทุ่งสง ภาพโดย William Ford

ในสมัยนั้น เพื่อนรุ่นพี่ หรือ พี่รุ่นเพื่อนของผมทำงานอยู่ที่การรถไฟหลายคน ดังนั้นช่วงเย็นๆจึงเป็นช่วงเวลาที่คึกคักมากๆ รถไฟสามขบวนหลักของสายใต้ตอนบน คือ รถเร็ว นครศรี - กรุงเทพ ที่ตอนนั้นเป็นขบวนเลขที่ 48 จะเข้ามาก่อน ตามด้วยเร็วกันตัง ขบวน 42 จนมาจบที่ด่วน นครศรีธรรมราช ขบวนที่ 16 คือสามขบวนที่พี่รุ่นเพื่อน เพื่อนรุ่นพี่ของผมในสมัยนั้นที่เป็น พตร. ต้องตรวจสภาพของล้อเลื่อนและสภาพทั่วๆไป เวลาที่รอรถและทำงานช่วงนี้พวกเราจะนั่งคุยกันจนเสร็จงานแล้วเดินเข้าไปที่ตลาดท่าข้าม ซื้อกับข้าวไปทำกินกันบนบ้านพัก ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับสถานีรถไฟจนค่ำๆถ้าไม่มี รายการนั่งกินน้ำชาก็จะแยกย้ายกัน ผมก็จะขับมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน โดยจะทำแบบนี้เป็นประจำ บางวันผมก็ไปช่วยพี่ๆเขาเปลี่ยนห้ามล้อ ที่เป็นแท่งเหล็กที่หนักพอสมควร บางครั้งก็นั่งดูห้ามล้อของรถสินค้า ที่สมัยนั้นยังใช้ ตญ และ บตญ กันมาก ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ใช้แคร่วางตู้ คอนเทนเนอร์เสียมากกว่า

บางวัน ช.10 ในสมัยนั้นที่ตอนนี้เลื่อนตำแหน่งและย้ายกลับไปทำงานในส่วนกลางแล้ว คือ ช.พัฒน์พงษ์ ก็พาพวกเราไปนั่งกินข้าวที่หลังที่ทำการ พตร. ผมชอบไปนั่งฟังเพื่อนๆพี่ๆคุยกัน เพราะมันทำให้ผมได้รู้เรื่องรถไฟมากขึ้น บางวันผมก็ต้องวิ่งไปซื้อ ท่อยางมาสวม แทนท่อน้ำมันให้รถจักรเพื่อแก้ไขชั่วคราวให้รถจักรทำการได้ วันนั้นผมได้เข้าไปในห้องเครื่องของรถจักรอัลสทอม ที่พื้นเต็มไปด้วยน้ำมัน เสื้อผมเลอะเทอะไปหมด สภาพไม่เหมือนเด็กเรียนแผนกอิเล็กทรอนิกส์เลยสักนิดเดียว มันเหมือนเด็กอู่ที่ไหนซักแห่งมากกว่า

ในสมัยนั้นโทรศัพท์มือถือยังมีไม่มากนัก ตัวเครื่องก็จะใหญ่ๆอย่างที่เรียกกันเล่นๆว่า "กระดูกหมู" ท่าน ช.พัฒน์พงษ์ พกเจ้านี่อยู่เครื่องหนึ่งด้วยเช่นกัน เวลามีปัญหาเรื่องรถจักรหรือเรื่องใดๆ ก็จะสะดวกมากๆตรงที่ ช. จะกดโทรศัพท์มือถือที่ค่าโทรโคตรแพง ในสมัยนั้นประสานงานได้อย่างทันท่วงที พี่เขียว (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เคยถาม ช.พัฒน์พงษ์ว่า "ค่าโทรศัพท์เดือนนึงตั้งหลายบาทแบบนี้ ช. จะไปเบิกที่ใคร" ผมได้ยินคำคอบที่ผมประทับใจและเก็บนำมาใช้ในชีวิตประจำวันจนถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือ

"การรถไฟให้ผมมาเยอะแล้ว ส่วนนี้ก็ถือว่าผมคืนกลับไปให้การรถไฟก็แล้วกัน"

ผมเที่ยวเล่นอยู่แถวๆสถานีรถไฟอยู่สองปี จนกระทั่งผมจบ ปวส จึงเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพ ทำให้ผมห่างหายจากสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานีไปนานมาก และก็มีการเปลี่ยนแปลงในแก๊งค์ยามเย็นของผมอยู่พอสมควร นั่นก็คือ พี่เขียว เสียชีวิตเนื่องจากโดนไฟช็อตที่บ้าน พี่ต้อม เลื่อนไปเป็นช่างเครื่อง ส่วน พี่เอก ช่างเครื่อง ก็ขึ้นเป็น พขร.ทำให้ผมไม่มีใครที่รู้จักในสถานีรถไฟสุราษฎร์อีกเลย ทุกวันนี้จึงทำได้แค่ไปนั่งมองรถไฟและรำลึกความหลังเท่านั้น บางครั้งเห็นพี่ๆที่สนิทกันสมัยนั้นทำขบวนรถผ่านไปในยามที่ผมเดินเล่นอยู่ริมทางรถไฟ ก็ได้แต่ยิ้มและโบกมือให้กันเท่านั้น และถ้าโอกาสดีๆ เราก็จะได้นั่งกินข้าว กินเบียร์ เย็น นั่งคุยเรื่องความหลังกันบ้างที่ร้านปานโภชนา แถวๆหน้าสถานี ในยามที่ไปธุระแถวๆสถานีแล้วพี่ๆเหล่านั้นทำขบวนมาพักที่สุราษฎร์ธานี แต่จะให้เที่ยวกินให้เหมือนเมื่อก่อนนั้นก็ทำไม่ได้เสียแล้ว ทั้งเรื่องของวัย และความรับผิดชอบ ทำให้ความหลังในช่วงก่อนนั้นเป็นความหลังที่น่าประทับใจเรื่องหนึ่งในชีวิตผมเลยทีเดียว

จนวันหนึ่งเฟซบุ๊คก็ทำให้เราได้มาเจอกันอีกครั้ง สามารถทักทาย พูดคุยกันได้โดยที่ไม่ต้องเจอกัน ระยะทางไม่ใช่ปัญหาและอุปสรรคอีกต่อไป ทุกวันนี้ผมอยู่ในช่วงการพักผ่อนหลังจากทำงานหนักมาเกือบยี่สิบปี สิ่งแรกที่ผมทำคือ เดินทางท่องเที่ยว ถ่ายภาพรถไฟ ในมุมมองที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่สมัยทำงานประจำ แต่ถึงผมจะถ่ายภาพรถไฟมาได้มากมาย แต่ในชีวิตผมคงไม่มีโอกาสได้ถ่ายภาพ ฮิตาชิ รุ่นนี้ตัวเป็นๆที่วิ่งได้อีกแล้ว และเมื่อได้รับรู้ถึงความรู้สึกแบบนั้น ทำให้ผมยิ่งอยากที่จะถ่ายภาพเก็บไว้เยอะๆในขณะที่มีโอกาส เพราะทุกวันนี้อะไรๆมันเปลี่ยนไปเร็วมากๆ เผลอแป๊บเดียว เส้นทางที่ใช้ไม้หมอนก็เกือบจะหมดไปจากประเทศไทย กลายเป็นหมอนคอนกรีตเกือบหมด และคาดว่าอีกไม่เกินห้าปี เราคงจะหาดูไม้หมอนที่ใช้งานจริงๆได้ยากจนแทบจะไม่ได้เห็นอีกเลย

บ่นยาวๆ ตามประสาคนแก่ แต่จบอย่างเร็วๆแบบวัยรุ่น แล้วจะมาบ่นใหม่พรุ่งนี้นะครับ ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรขอเวลาคิดก่อนนะครับ

นภดล มณีวัต








วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

ยามเช้าที่สดใส ใกล้ๆบ้าน

หลายปีทีเดียวที่ผมทำงานอยู่ในรูปแบบของมนุษย์เงินเดือน มีชีวิตที่เร่งรีบและเหน็ดเหนื่อยกับสิ่งต่างๆรอบตัว นอนไม่เป็นเวลาเสร็จงานเกือบเช้าตื่นมาก็ทำงานต่อ จนลืมไปแล้วว่าพระอาทิตย์ตอนเช้าเป็นยังไง จนเมื่อปลายปีที่แล้ว ผมตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ลาออกมาโดยที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ ผมรู้เพียงแค่ว่าร่างกายต้อการพักผ่อน นอกจากนั้นสภาพจิตใจของผมก็ต้องการฟื้นฟูอย่างมาก สภาพงานที่เครียดจัด ชิงไหวชิงพริบทุกทางเพื่อให้งานผ่านไปได้อย่างไม่มีปัญหา ต้องใช้คิดตลอดเวลาจนแทบหาเวลาพักผ่อนไม่ได้ จนสภาพร่างกายดูแก่กว่าวัยไปมากเหลือเกิน ทั้งๆที่ผมเพิ่งจะย่างเข้าวัยรุ่นเท่านั้นเอง (ล้อเล่น)

หลังจากออกจากงานผมเป็นเหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ ลอยไปตามจังหวะของชีวิต ท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ จังหวัดไหนไม่เคยไปก็ไป ที่ไหนอยากไปก็ไปโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย ตื่นเช้ามาบางครั้งก็ยังต้องถามตัวเองว่า ตอนนี้เราอยู่ที่ไหน ผมเดินทางท่องเที่ยวอยู่หลายเดือน จนเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมก็มีอันต้องอยู่ติดบ้าน สาเหตุเนื่องมาจากแมวที่เลี้ยงไว้ขาหัก ต้องดูแลใกล้ชิด ทำให้ไปไหนมาไหนไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน และการอยู่กับที่ อยู่กับบ้าน กินแล้วนอน กอนแล้วนิน ของผมทำให้รู้สึกอึดอัดเวลาสวมกางเกง เริ่มเคลื่อนไหวไม่กระฉับกระเฉงเหมือนก่อน ใช่ครับ ผมกำลังอ้วน

ดังนั้นผมก็เริ่มคิดหาวิธีลดน้ำหนักแบบที่ผมอยากจะทำ ในความคิดผมการทำงานอะไรหรือเวลาทำสิ่งใดต้องไม่ทรมานตัวเองมากนัก และต้องมีความสุขที่จะทำด้วย คิดไปคิดมาจึงมาลงตัวที่ การปั่นจักรยาน และการปั่นจักรยานของผมก็ต้องไม่ใช่การไปเป็นกลุ่มปั่นแข่งกัน แล้วมาคุยทับกันว่าใครปั่นได้ไกลกว่า ใครปั่นเร็วกว่า ผมอยากปั่นแบบสบายๆและที่สำคัญได้แวะถ่ายภาพไปด้วย เพราะผมชอบเก็บสื่งที่ประทับใจเอาไว้ในภาพถ่าย เวลากลับมาดูอีกครั้งจะทำให้เรารำลึกความหลังได้มากกว่าการเก็บมันเอาไว้ในสมองอย่างเดียว

ผมปรึกษาเพื่อนผมที่เปิดร้านขายจักรยานเก่าแก่ในเมืองสุราษฎร์ธานี จนได้จักรยานมาหนึ่งคัน เป็นจักรยานที่อัพคุณสมบัติขึ้นมาจากจักรยานแม่บ้านจ่ายตลาดนิดนึง แต่มีเกียร์ช่วยทุ่นแรงในการขับขี่ และที่สำคัญราคาไม่แพงมากนักอยู่ในราคาหลักพัน ผมออกจากร้านมาพร้อมกับคำถามของเพื่อนเจ้าของร้านที่ว่า "จะได้กี่วันวะ" ผมก็ตอบในใจว่า "ไม่รู้เหมือนกัน" และเมื่ออุปกรณ์พร้อม ต่อมาในทุกๆเช้าถ้าไม่มีเหตุสุดวิสัยจริงๆ เวลาตีห้าผมจะสะพายเป้ ที่มีกล้องถ่ายรูป ปั่นจักรยานออกไปชมบรรยากาศยามเช้าของตลาดท่าข้าม และพื้นที่ใกล้เคียงทุกวัน พร้อมกับเก็บภาพมาเป็นที่ระลึกอยู่เสมอ ภาพที่เยอะที่สุดก็เป็นภาพรถไฟกับสะพานจุลจอมเกล้า รวมทั้งบรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้น สายหมอกยามเช้า ที่นานมากแล้ว นานจนผมลืมไปแล้วว่าผมได้เห็นบรรยากาศแบบนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่


สายหมอกยามเช้าที่บ้านทุ่งโพธิ์


ผมชอบที่จะออกไปในเส้นทางสายล่างที่มุ่งหน้าออกไปทางอำเภอท่าฉาง ไชยา เพราะเส้นทางสายนั้นยังมีท้องทุ่งนาอยู่พอสมควร มีต้นตาลใหญ่ มีวัว ควาย และต้นไม้ใหญ่ให้ชมอยู่มาก ไม่เหมือนเส้นทางสายหลัก ที่มีอต่รถใหญ่และต้นเฟื่องฟ้า กับร้านค้าข้างทาง ที่ดูแล้วไม่แตกต่างกับที่ผมได้เจอในชีวิตประจำวัน ผมปั่นไปเรื่อยๆ ตรงไหนสวยก็จอดถ่ายภาพ มีเพื่อนๆพี่ๆที่ปั่นจักรยานตอนเช้า ผ่านมาเห็นก็หันมามองบ้าง แต่ก็ผ่านเลยไปคงจะคิดว่าไอ้นี่มันคงจะบ้า มาถ่ายรูปอะไรอยู่ได้ทุกวัน บางกลุ่มก็ดูเป็นมืออาชีพใช้รถราคาแพงๆปั่นเร็วเหมือนขี่มอเตอร์ไซค์ กลุ่มนี้ผมคิดว่าเขาคงจะไม่ทันสังเกตุด้วยซ้ำว่าข้างทางที่เขาปั่นผ่านไปมีคนบ้านั่งถ่ายรูปอยู่

ผมปั่นจักรยานอยู่หลายวัน จนรู้สึกว่าถ้าวันไหนไม่ออกไปปั่นจักรยานจะรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง เพราะเวลากลับบ้านผมจะแวะซื้ออาหารเช้าติดมือกลับมาด้วยทุกครั้ง ทำให้ผมได้กินมื้อเช้า ที่ผมไม่ได้กินมานานหลายปี การกินมื้อเช้าทำให้มื้อดึกของผมหายไป เพราะมันไม่หิว ร่างกานก็รู้สึกกระฉับกระเฉง มีเวลาคิดที่จะทำอะไรหลายอย่าง อย่างน้อยๆก็มีแรคิดแรงเขียนเรื่องราวในบล็อกนี่ละครับ ที่ผมคิดว่าผมจะทำให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผมไปอีกอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพราะในขณะที่ปั่นจักรยานผมคิดอะไรๆได้มากมายหลายอย่างเหมือนกัน อยากจะนำมาบันทึกไว้ เพื่อป้องกันการลืม และจะได้กลับมาอ่านได้อีกครั้งเมื่อต้องการ

โม้มากมากแล้วสำหรับวันนี้ คงจะพอแค่นี้ก่อนนะครับ ไว้โอกาสหน้าจะมาบ่นให้อ่านกันอีก และถึงแม้ว่าจะไม่มีคนอ่านผมก็จะมาบ่นอยู่ดี ด้วยความเคารพทุกท่านครับ

นภดล มณีวัต

ข้างทางรถไฟ


ชายคนนี้ ผมเจอตอนถ่ายภาพรถไฟที่สถานีสวี จังหวัดชุมพร เขาเดินมาขอบุหรี่ผมหนึ่งมวน ทักทายบอก พขร. ให้ขับรถดีๆ แล้วเดินจากไปเงียบๆ หลังจากนั้น ผมได้เจอเขาอีกครั้ง ในวันที่การเมืองร้อนแรง ที่องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม วันนั้นเขาแต่งตัวเต็มยศ ติดธงชาติ ห้อยนกหวีด เขาขอบุหรี่ผม หนึ่งมวนเหมือนเดิม แต่คราวนี้ เขาเป่านกหวีดให้ผมฟังด้วย

โลกไม่กลมหรอกนะ แต่มันแคบ

ไปเป็นมหาราชาที่อินเดีย

เจ้านี่เป็นแขกที่กวนตีนที่สุดเท่าที่ผมเจอในอินเดีย ผมเจอมันที่ ตโปธาร วรรณะของมันคงจะสูงอยู่นะ เพราะเข้ามาในเขตที่พวกชั้นสูงๆอาบน้ำกันได้ มันคอยหากินด้วยการเอาน้ำในโถราดมือ อวยพร แล้วเรียกมหาราชา มหารานี มันรดน้ำใส่มือผม แล้วบอกว่า มหาราชา วันฮันเดรดรูปี ...


ผมบอกมันเป็นภาษาไทยว่า วันฮันเดรดพ่อมึงสิ แล้วเดินหนี มันวิ่งมาดักหน้า ดักหลัง ทำท่าร่ายมนต์ มุบมิบๆ เหมือนจะเล่นของ ผมเลยทำปากมุบมิบๆ ร้องกลอนมโนราห์ ให้มันฟัง มันทำหน้างงๆ ผมบอกมันว่า ของกูแช่งน่ากลัวกว่าของมึงอีก ผมจ้องหน้ามันแล้วยิ้ม มันก็ยิ้มแล้วบอกว่า เทนรูปี โอเค..?

เล่นลดราคาจนน่าใจหายแบบนี้ ผมเลยให้มันไป สิบรูปี ก็ประมาณ ห้าบาทไทย แล้วบอกมันว่า มึงมานี่ๆๆ มาถ่ายรูปก่อน หลังจากให้ไปสิบรูปี ตอนนี้ผมจะทำอะไรกับมันก็ได้ จะถ่ายกี่รูปก็ตามใจ ก่อนจากมันยังยิ้ม แล้วบอก กู๊ด บาย สุดท้ายเลยให้มันอีกสิบรูปี มันเป็นแขกคนเดียวในอินเดียที่ทำให้ผมหัวเราะได้เต็มที่ คิดถึงมันทีไร ต้องยิ้มทุกที ... ไอ้แขกนรก

กลับมาอีกครั้ง

ทำไมต้องกลับมาอีกครั้ง ต้องมีคนสงสัยแน่ๆว่า "กลับมาทำไม ... ฉันลืมเธอไปหมดแล้ว" สาเหตุมาจากการที่ผมนอกใจ บล็อก เวบบอร์ด ไปสิงสถิตย์อยู่ในเฟซบุ๊คนั่นเอง สี่ปีกว่าๆที่หายหน้าไป สี่ปีกว่าๆที่เรียกได้ว่าลืมไปเลยกับการมานั่งเขียนอะไรๆเกี่ยวกับสิ่งที่ได้พบเห็นลงมาในเวบบอร์ด หรือเวบบล็อก แห่งนี้ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รู้จักชาวโปแลนด์ สามคนที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทย พวกเขาแทบจะไม่ใช้เฟซบุ๊คเลย การเขียนบันทึกต่างๆ พวกเขาใช้เวบบล็อก เขียนเล่าเรื่องราวต่าๆมากกว่าเฟซบุ๊ค ทำให้ผมมานั่งคิดทบทวนดูแล้ว เวบบล็อก หรือเวบบอร์ดต่างๆมีข้อดีมากกว่าเฟซบุ๊คมากมาย ไม่หายไปไหน ค้นหาง่าย และที่สำคัญไม่ปลิวหายไปไหนง่ายๆเหมือนเฟซบุ๊ค ผมเห็นเพื่อนๆหลายคน รวมทั้งเพจดังๆหลายเพจ ที่อยู่ดีๆก้หายไปเนื่องจากผิดระเบียบของเฟซบุ๊ค ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมา หายวับไปกับตา ดังนั้นผมจึงกลับมาอีกครั้งกับ เวบบล็อกแห่งนี้ กลับมาเป็นบล็อกเกอร์ อีกครั้ง และตั้งใจว่าคราวนี้จะอยู่ยาวๆเลยครับ

เฟซบุ๊คมีข้อดีอยู่ตรงที่สะดวกรวดเร็ว ถ่ายภาพปุ๊บ แชร์ได้เลยทันที ทันใจ และผมเองก็ติดใจในความสามารถอันนั้น จนบอกลาจากการเขียนเวบบล้อกไปนานถึงสี่ปีกว่าๆ แต่ผมยังมั่นใจว่ายังมีใครอีกหลายคนที่ยังใช้งาน บล็อกเกอร์ แห่งนี้อยู่ ผมจึงกลับมาตามหาความรู้สึกเก่าๆอีกครั้ง เพื่อที่ว่าจะได้ใช้ชีวิตให้ช้าลงเสียบ้าง หลังจากใช้ชีวิตรวดเร็วไปกับ 3G จนตอนนี้มี 4G เข้าไปแล้ว วันนี้ถือฤกษ์งามยามดีในการเริ่มต้นการเขียนบล็อกของผม ด้วยการบ่นๆๆๆ ไปตามเรื่องตามราวแบบนี้ไปก่อนนะครับ ผมยังต้องกลับไปแก้ไข เวบไซท์ www.siamsouth.com ของผมอีกพักใหญ่ๆ เพราะปล่อยมานาน นานจนเริ่มจะแก้ ข้อผิดพลาดต่างๆไม่ไหวแล้ว ต้องขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนเลยทีเดียว


ภาพเสาสัญญาณในท่าอนุญาต

วันนี้ร่ำลากันด้วยภาพนี้ครับ ผมชอบภาพนี้เพราะว่า มันคล้ายๆกับการอนุญาตให้ผมได้ไปต่อ ในการเขียนบล็อกเพื่อต่อสู้กับเฟซบุ๊ค ที่รวดเร็ว และดูหยาบเกินไปในความรู้สึก ที่ใครคิดจะทำอะไรก็ได้ ง่ายไปเสียทุกอย่าง ต้องเขียนสั้นๆ เพราะเขียนยาวไปก็ไม่มีคนอ่าน แต่ถ้าเขียนในนี้ ผมมั่นใจว่า คนในนี้รักการเขียน การอ่านกันทั้งนั้น ทำให้สามารถเล่าเรื่องราวต่างๆในบางมุมมองของคนบ้าๆ คนหนื่งมาแบ่งปันกันได้อย่างไม่รู้สึกขัดเขินมากนัก

ด้วยความเคารพ

นภดล มณีวัต 21/4/2558