วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

กลับไปเยือนสถานีคีรีรัฐนิคม

วันนี้ผมไปเดินเที่ยวที่สถานีรถไฟคีรีรัฐนิคม ทางรถไฟที่เคยเป็นความหวังที่จะไปยังจังหวัดภูเก็ต แต่สุดท้ายก็สร้างมาได้แค่สถานีคีรีรัฐนิคมแห่งนี้เท่านั้น เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางที่ผูกพันธ์กับคนในอำเภอพุนพินและคีรีรัฐนิคมด้านฝั่งคลองพุมดวงเป็นอย่างมาก เพราะสมัยก่อนไม่มีถนนหนทางสะดวกสะบายอย่างในทุกวันนี้ การเดินทางเข้ามาในตัวอำเภอหรือตัวจังหวัด รวมทั้งขนส่งสินค้าก็อาศัยรถไฟสายนี้เท่านั้น ขบวนรถไฟสายนี้เป็นรถรวม ซึ่งเป็นการพ่วงรวมตู้สินค้ามากับขบวนด้วย ในสมัยเด็กๆผมยังเห็นตู้ ตญ.พ่วงรวมมากับขบวนนี้อยู่บ่อยๆ บางครั้งก็เป็นยางพาราแผ่นมาทั้งตู้

เส้นทางสายนี้ผมเคยนั่งไปจริงๆแค่ครั้งเดียว แต่ก็ไปแบบแปลกๆนิดหน่อยคือเกาะหัวรถจักรไปกับ พี่ๆพนักงานแขวงทุ่งสง ที่เมื่อก่อนยังต้องมีเวรทำขบวนเข้าไปนอนค้างคืนที่สถานีนี้อยู่ทุกวัน ( ในปัจจุบันใช้พนักงานที่ประจำอยู่สุราษฎร์ธานีทำขบวนเข้าไป) ผมนั่งไปหน้ารถจักร แฮนเช่น หมายเลข 3027 ที่ไม่รู้ว่าทำไมผมถึงจำได้ไม่ลืม ทั้งๆที่ผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้วก็ตาม

สมัยนั้นเรื่องเหล้าผมไม่ค่อยจะยอมแพ้ใครซักเท่าไหร่ ดังนั้นเมื่อถึงคีรีรัฐนิคม ผมก็แยกย้ายกับพี่ๆพนักงานที่เดินทางเข้าบ้านพักพร้อมข้าวคนละกล่องที่ซื้อมาจากสถานีสุราษฎร์ธานี ผมเดินเที่ยวๆอยู่แถวนั้นจนค่ำก้เข้าไปนั่งกินเหล้าอยู่ในสวนอาหาร ใกล้ๆสถานี เหล้าแบนนึงกับสองอย่างตามสูตร นั่งไปเรื่อยๆมีโตีะข้างๆชวนคุยบ้าง นั่งคุยกับนักร้องบ้าง เฮฮาไปตามประสาวัยรุ่น จนตีสอง ถึงเวลาที่ร้านในสมัยนั้นจะปิด ผมก็เริ่มหาที่นอน คีรีรัฐนิคมในสมัยนั้นมันช่างเงียบเหงาเหลือเกิน ยิ่งตีสองกว่าๆยิ่งเงียบหนัก ร้านก็ปิดหมด ที่พักที่ไหนก็ไม่มี ในที่สุดผมก็เดินมานอนที่ในตู้รถไฟที่จอดอยู่หน้าสถานี โดยผมเลือกนอนตู้ที่ติดกับหัวรถจักร เพราะถ้าพนักงานติดเครื่องผมจะได้ตื่นมาได้ทัน

"ยุงจะไม่กัดคนเมา" คืนนั้นผมพิสูจน์เรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน ผมหลับสนิทไม่รู้สึกว่ามียุงมากัดเลย แต่ตอนเช้าที่แขนมีแต่รอยแดงๆเต็มไปหมด แล้วผมก็เกาะหัวรถจักรกลับมาสุราษฎร์ธานีอีกครั้งโดยสวัสดิภาพ วันนี้ผมไปนั่งรอรถไฟสายนี้ที่ออกจากสุราษฎร์ธานีมาพร้อมกับที่ผมขับรถยนต์ออกมา แต่ปรากฏว่าผมมาถึงก่อนเกือบชั่วโมง อาจจะเป็นเพราะกำลังมีการปรับปรุงสภาพทางใหม่อยู่ทำให้รถทำความเร็วไม่ได้ ต้องมาช้าๆเพื่อความปลอดภัย ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ผู้โดยสารทั้งขบวนจะมีไม่ถึงสิบคน เพราะการเดินทางด้วนยานพาหนะแบบอื่นสะดวกสะบายมากกว่านั่นเอง

สถานีคีรีรัฐนิคมวันนี้กำลังขยายย่านสถานีรวมทั้งขยายความยาวของรางหลีก เปลี่ยนหมอนไม้เป็นหมอนคอนกรีต โรยหิน อัดหิน ทำร่องน้ำใหม่ แต่ไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนเป็นราง 100 ปอนดืด้วยหรือเปล่า โดยผู้รับเหมาโครงการนี้คือบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ที่ทำงานกับการรถไฟมายาวนานมากแล้วนั่นเอง



สถานีคีรีรัฐนิคม 23/4/2558

และเมื่อปรับปรุงทางเสร๊จหลังจากนี้ เราอาจจะได้เห็นรถจักร ยี่ห้ออื่นๆเข้ามาในเส้นทางสายนี้บ้าง หลังจากที่แฮนเชล ยึดครองจนตอนนี้ตัดบัญชีเลิกใช้งานไปเกือบหมดแล้วยกตำแหน่งให้ GEK เข้ามาแทนร่วมสิบปี เอาไว้วันไหนปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยผมจะเข้าไปถ่ายภาพมาให้ชมกันอีกครั้ง วันนี้ได้บ่นได้เล่าความหลังไปบ้าง ทำให้รู้สึกดีขึ้นมาบ้างตามประสาคนแก่ๆ

อันนี้แถมเป็นสาระความรู้เพิ่มเติมครับ เดี๋ยวจะว่าอ่านมาตั้งนานไม่มีสาระเลย

กรมรถไฟ เริ่มการสำรวจตั้งแต่ พ.ศ. 2481 และเวนคืนที่ดินไว้ตลอดสาย ตั้งแต่สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ ถึงสถานีท่านุ่น จังหวัดพังงา ระยะทาง 162 กิโลเมตร แล้วมีโครงการจะต่อแนว ข้ามฝั่งไปยังเกาะภูเก็ตอีกด้วย โดยสร้างสะพานข้ามทะเล ระหว่างท่านุ่นและท่าฉัตรไชย ถึงอ่าวมะขาม อีก 49 กิโลเมตร แต่ยังไม่ได้สำรวจ โครงการก็ระงับไปเสียก่อน เพราะไม่ได้รับเงินงบประมาณ

ในปี พ.ศ. 2484 ได้เริ่มทำการก่อสร้าง โดยถมดินเป็นตอนๆ จากทุ่งโพธิ์ลงไป แต่เกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เสียก่อน จึงได้ชะงักโครงการ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2494 ได้รับงบประมาณมาดำเนินการต่อ จึงก่อสร้างทางอีก โดยเริ่มจาก สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ ไปจนถึงสถานีคีรีรัฐนิคม ระยะทาง 31 กิโลเมตร โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดเดินรถได้เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2499 สิ้นค่าก่อสร้าง 33,147,800 บาท ส่วนเส้นทางที่เหลือจากคีรีรัฐนิคม ไปจนถึงท่านุ่นนั้น ก็ไม่ได้ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก คงค้างไว้เพียงแค่นั้น

ข้อมูลจาก รถไฟไทยดอทคอม

วันนี้ร่ำลากันแค่นี้ก่อนนะครับ สวัสดีครับ

นภดล มณีวัต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น