วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

รำลึกความหลัง ฮิตาชิ 666

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้ข่าวมาจากพี่ๆที่ทุ่งสงว่าได้นำซากรถจักร ฮิตาชิ หมายเลข 666 ออกไปจมทะเลเพื่อทำเป็นปะการังเทียมเสียแล้ว ทำให้รู้สึกเสียดายนิดๆ แต่ก็ทำใจได้เพราะถึงเก็บไว้ก็คงทำได้แค่เพียงทาสีใหม่แล้วเอามาวางไว้ให้คนถ่ายภาพ ส่วนเรื่องที่จะเก็บไว้เป็นอนุสรณ์หรือเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์รถไฟนั้น ยังมีคันอื่นที่สภาพดีกว่านี้อีกมาก ซึ่งก็ต้องทำใจว่า เราจะเก็บอะไรไว้ทั้งหมดไม่ได้ต้องเลือกเอาไว้ได้แค่บางส่วนเท่านั้น

ผมรู้จักรถจักรคันนี้เมื่อปี 2537 ปีนั้น เจ้าฮิตาชิคันนี้ทำสับเปลี่ยนอยู่ที่สถานีสุราษฎร์ธานี โดยภาระกิจหลักคือ นำตู้โดยสารที่ตัดสำรองไว้ที่สถานีสุราษฎร์ธานี ไปต่อท้ายขบวนรถโดยสารในขณะนั้น คือ

ขบวนรถเร็วที่ 48 นครศรีธรรมราช - กรุงเทพ ( ปัจจุบันเป็นขบวน 174)
ขบวนรถเร็วที่ 42 กันตัง - กรุงเทพ (ปัจจุบัน เป็นขบวน 168 ไม่มีตู้ตัดสำรองแล้ว )
ขบวนรถด่วนที่ 16 นครศรีธรรมราช - กรุงเทพ (ปัจจุบันเป็นขบวน 86)

ผมชอบรถไฟมาตั้งแต่เมื่อไหร่นั้นผมเองก็ไม่ทราบ แต่กว่าจะรู้ตัวก็ติดจนเลิกไม่ได้เสียแล้ว สมัยเรียนชั้นประถม ผมชอบนั่งวาดรูปรถไฟ โดยเอาแบบมาจากแสตมป์ชุดรถไฟ วาดซ้ำไปซ้ำมาอยู่จนโดนเพื่อนๆล้อ จนถึงตอนเรียน ปวช ก็ยังไม่เลิกบ้ารถไฟ มีเพื่อนคนนึงบอกกับผมว่า "สงสัยมึงต้องฉีดรถไฟเข้าเส้นเลือดซักขบวนแล้วละ ถึงจะหายบ้า"

ผมชอบนั่งดูรถไฟมากๆ ยิ่งในเวลาที่ผมรู้สึกไม่สบายใจผมจะไปนั่งดูรถไฟเป็นประจำ มันเป็นความรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูกที่ได้เห็นรถไฟเคลื่อนตัวผ่านไป เหมือนกับขบวนรถไฟได้ลากเอาความรู้สึกไม่สบายใจของผมออกไปด้วย ผมมักจะหาเวลาว่างนั่งรถไฟเที่ยวอยู่เป็นประจำ โดยขบวนที่ผมจะนั่งเป็นประจำก็คือ รถธรรมดา สุราษฎร์ธานี - ทุ่งสง รถขบวนนี้ในปัจจุบัน ยกเลิกไปแล้ว เพราะไม่มีผู้โดยสารและไม่มีรถจักรมาลาก ทำให้ผมหมดเส้นทางท่องเที่ยวไปอีกหนึ่งเส้นทางอย่างน่าเสียดาย

ภาพความหลังในตอนนั้น ผมจะขับมอเตอร์ไซค์ มาจอดไว้ที่หน้าสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี ซื้อตั๋ว ซึ่งในสมัยนั้นเป็นตั๋วแข็งที่ดูคลาสสิคมากๆ ในราคา 13 บาท เพื่อที่จะไปลงที่สถานี ฉวาง รถขบวนนี้จะจอดอยู่ในชานชาลาที่สาม เป็นตู้ชั้นสาม เก้าอี้ไม้ มีอยู่สามตู้ ใช้หัวรถจักร ยี่ห้อ แฮนเชน ทำขบวน รถจะออกจากสุราษฎร์ธานีในเวลาประมาณบ่ายสอง ถึงฉวางตอน สี่โมงกว่าๆ หลังจากนั้นผมก็จะนั่งขบวน สุไหงโกลก - สุราษฎร์ธานีกลับ ขบวนรถธรรมดาจากสุไหงโกลกนี้จะใช้หัวรถจักรดีเซลไฮโดรลิกยี่ห้อ กรุ๊ป ซึ่งตอนนี้หาดูได้ยากทำขบวนเป็นประจำ ในสมัยนั้น รถธรรมดาสายยาวๆ อย่าง ชุมพร - หาดใหญ่ หรือ สุราษฎร์ธานี - สุไหงโกลก พัทลุง - นครศรีธรรมราช รวมทั้งรถธรรมดาจากธนบุรี จะใช้รถจักรยี่ห้อ กรุ๊ป แทบทั้งสิ้น วันไหนเห็น อัลสทอม ลากรถพวกนี้ วันนั้นผมจะตื่นเต้นมากๆที่เห็นรถจักรใหญ่ๆมาลากรถธรรมดา

วันเวลาผ่านไป ยี่สิบปี สิ่งต่างๆก็เปลี่ยนไป รถจักร แฮนเชน เหลือประจำการอยู่เพียงคันเดียวคือ หมายเลข 3015 ที่สุราษฎร์ธานี (ตอนนี้ย้ายไปนอนสงบนิ่งอยู่ที่ทุ่งสงเรียบร้อยแล้ว) ที่เหลือก็ขายให้กับบริษัทเอกชน นำไปยำอะไหล่ ยุบรวมกันได้เป็นรถจักรทำงานสองสามตัว แต่จะมีกี่ตัวนั้นผมก็ไม่ทราบ ส่วน กรุ๊ป หายไปจากเส้นทางแถวบ้านผมนานมากแล้ว พอจะรู้มาว่า หลงเหลืออยู่ที่ หาดใหญ่ สอง สามตัว และที่ธนบุรี อีกสองตัว นอกนั้นนอนรอความตายและตัดบัญชีทิ้งทั้งนั้น (แต่ที่วิ่งได้จริงๆน่าจะเหลือที่แขวงธนบุรีคันเดียว)

หัวรถจักรแห่งความหลังที่ผมจดจำได้ดีอีกตัวหนึ่งคือ ยี่ห้อ ฮิตาชิ รุ่นเก่าหมายเลข 666 ซึ่งสมัยนั้นทำสับเปลี่ยนอยู่ในสถานีสุราษฎร์ธานี ผมยังทันได้ขึ้นไปนั่งบนหัวรถจักรตัวนี้ในช่วงที่ทำสับเปลี่ยน ยังได้เห็นการเตะตู้ไฟ ในแคป เพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง จากสภาพอันเก่าแก่ของหัวรถจักร แต่พอผมขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพ เจ้าหัวรถจักรตัวนี้ก็เสียชีวิต จนต้องลากไปเก็บไว้ที่ทุ่งสงจนกระทั่งทุกวันนี้



ภาพรถจักรหมายเลข 666 หลังปลดประจำการที่โรงรถจักรทุ่งสง ภาพโดย William Ford

ในสมัยนั้น เพื่อนรุ่นพี่ หรือ พี่รุ่นเพื่อนของผมทำงานอยู่ที่การรถไฟหลายคน ดังนั้นช่วงเย็นๆจึงเป็นช่วงเวลาที่คึกคักมากๆ รถไฟสามขบวนหลักของสายใต้ตอนบน คือ รถเร็ว นครศรี - กรุงเทพ ที่ตอนนั้นเป็นขบวนเลขที่ 48 จะเข้ามาก่อน ตามด้วยเร็วกันตัง ขบวน 42 จนมาจบที่ด่วน นครศรีธรรมราช ขบวนที่ 16 คือสามขบวนที่พี่รุ่นเพื่อน เพื่อนรุ่นพี่ของผมในสมัยนั้นที่เป็น พตร. ต้องตรวจสภาพของล้อเลื่อนและสภาพทั่วๆไป เวลาที่รอรถและทำงานช่วงนี้พวกเราจะนั่งคุยกันจนเสร็จงานแล้วเดินเข้าไปที่ตลาดท่าข้าม ซื้อกับข้าวไปทำกินกันบนบ้านพัก ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับสถานีรถไฟจนค่ำๆถ้าไม่มี รายการนั่งกินน้ำชาก็จะแยกย้ายกัน ผมก็จะขับมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน โดยจะทำแบบนี้เป็นประจำ บางวันผมก็ไปช่วยพี่ๆเขาเปลี่ยนห้ามล้อ ที่เป็นแท่งเหล็กที่หนักพอสมควร บางครั้งก็นั่งดูห้ามล้อของรถสินค้า ที่สมัยนั้นยังใช้ ตญ และ บตญ กันมาก ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ใช้แคร่วางตู้ คอนเทนเนอร์เสียมากกว่า

บางวัน ช.10 ในสมัยนั้นที่ตอนนี้เลื่อนตำแหน่งและย้ายกลับไปทำงานในส่วนกลางแล้ว คือ ช.พัฒน์พงษ์ ก็พาพวกเราไปนั่งกินข้าวที่หลังที่ทำการ พตร. ผมชอบไปนั่งฟังเพื่อนๆพี่ๆคุยกัน เพราะมันทำให้ผมได้รู้เรื่องรถไฟมากขึ้น บางวันผมก็ต้องวิ่งไปซื้อ ท่อยางมาสวม แทนท่อน้ำมันให้รถจักรเพื่อแก้ไขชั่วคราวให้รถจักรทำการได้ วันนั้นผมได้เข้าไปในห้องเครื่องของรถจักรอัลสทอม ที่พื้นเต็มไปด้วยน้ำมัน เสื้อผมเลอะเทอะไปหมด สภาพไม่เหมือนเด็กเรียนแผนกอิเล็กทรอนิกส์เลยสักนิดเดียว มันเหมือนเด็กอู่ที่ไหนซักแห่งมากกว่า

ในสมัยนั้นโทรศัพท์มือถือยังมีไม่มากนัก ตัวเครื่องก็จะใหญ่ๆอย่างที่เรียกกันเล่นๆว่า "กระดูกหมู" ท่าน ช.พัฒน์พงษ์ พกเจ้านี่อยู่เครื่องหนึ่งด้วยเช่นกัน เวลามีปัญหาเรื่องรถจักรหรือเรื่องใดๆ ก็จะสะดวกมากๆตรงที่ ช. จะกดโทรศัพท์มือถือที่ค่าโทรโคตรแพง ในสมัยนั้นประสานงานได้อย่างทันท่วงที พี่เขียว (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เคยถาม ช.พัฒน์พงษ์ว่า "ค่าโทรศัพท์เดือนนึงตั้งหลายบาทแบบนี้ ช. จะไปเบิกที่ใคร" ผมได้ยินคำคอบที่ผมประทับใจและเก็บนำมาใช้ในชีวิตประจำวันจนถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือ

"การรถไฟให้ผมมาเยอะแล้ว ส่วนนี้ก็ถือว่าผมคืนกลับไปให้การรถไฟก็แล้วกัน"

ผมเที่ยวเล่นอยู่แถวๆสถานีรถไฟอยู่สองปี จนกระทั่งผมจบ ปวส จึงเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพ ทำให้ผมห่างหายจากสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานีไปนานมาก และก็มีการเปลี่ยนแปลงในแก๊งค์ยามเย็นของผมอยู่พอสมควร นั่นก็คือ พี่เขียว เสียชีวิตเนื่องจากโดนไฟช็อตที่บ้าน พี่ต้อม เลื่อนไปเป็นช่างเครื่อง ส่วน พี่เอก ช่างเครื่อง ก็ขึ้นเป็น พขร.ทำให้ผมไม่มีใครที่รู้จักในสถานีรถไฟสุราษฎร์อีกเลย ทุกวันนี้จึงทำได้แค่ไปนั่งมองรถไฟและรำลึกความหลังเท่านั้น บางครั้งเห็นพี่ๆที่สนิทกันสมัยนั้นทำขบวนรถผ่านไปในยามที่ผมเดินเล่นอยู่ริมทางรถไฟ ก็ได้แต่ยิ้มและโบกมือให้กันเท่านั้น และถ้าโอกาสดีๆ เราก็จะได้นั่งกินข้าว กินเบียร์ เย็น นั่งคุยเรื่องความหลังกันบ้างที่ร้านปานโภชนา แถวๆหน้าสถานี ในยามที่ไปธุระแถวๆสถานีแล้วพี่ๆเหล่านั้นทำขบวนมาพักที่สุราษฎร์ธานี แต่จะให้เที่ยวกินให้เหมือนเมื่อก่อนนั้นก็ทำไม่ได้เสียแล้ว ทั้งเรื่องของวัย และความรับผิดชอบ ทำให้ความหลังในช่วงก่อนนั้นเป็นความหลังที่น่าประทับใจเรื่องหนึ่งในชีวิตผมเลยทีเดียว

จนวันหนึ่งเฟซบุ๊คก็ทำให้เราได้มาเจอกันอีกครั้ง สามารถทักทาย พูดคุยกันได้โดยที่ไม่ต้องเจอกัน ระยะทางไม่ใช่ปัญหาและอุปสรรคอีกต่อไป ทุกวันนี้ผมอยู่ในช่วงการพักผ่อนหลังจากทำงานหนักมาเกือบยี่สิบปี สิ่งแรกที่ผมทำคือ เดินทางท่องเที่ยว ถ่ายภาพรถไฟ ในมุมมองที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่สมัยทำงานประจำ แต่ถึงผมจะถ่ายภาพรถไฟมาได้มากมาย แต่ในชีวิตผมคงไม่มีโอกาสได้ถ่ายภาพ ฮิตาชิ รุ่นนี้ตัวเป็นๆที่วิ่งได้อีกแล้ว และเมื่อได้รับรู้ถึงความรู้สึกแบบนั้น ทำให้ผมยิ่งอยากที่จะถ่ายภาพเก็บไว้เยอะๆในขณะที่มีโอกาส เพราะทุกวันนี้อะไรๆมันเปลี่ยนไปเร็วมากๆ เผลอแป๊บเดียว เส้นทางที่ใช้ไม้หมอนก็เกือบจะหมดไปจากประเทศไทย กลายเป็นหมอนคอนกรีตเกือบหมด และคาดว่าอีกไม่เกินห้าปี เราคงจะหาดูไม้หมอนที่ใช้งานจริงๆได้ยากจนแทบจะไม่ได้เห็นอีกเลย

บ่นยาวๆ ตามประสาคนแก่ แต่จบอย่างเร็วๆแบบวัยรุ่น แล้วจะมาบ่นใหม่พรุ่งนี้นะครับ ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรขอเวลาคิดก่อนนะครับ

นภดล มณีวัต








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น