วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เมียร์แคต

เมียร์แคต จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


เมียร์แคต (อังกฤษ: Meerkat, Suricate; ชื่อวิทยาศาสตร์: Suricata suricatta) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีขนาดลำตัวเล็ก น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม (2 ปอนด์) และสูงประมาณ 50 เซนติเมตร (20 นิ้ว) จัดอยู่ในวงศ์พังพอน (Herpestidae) มีถิ่นอาศัยอยู่ในทะเลทรายคาลาฮารีทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Suricata และแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย

เมียร์แคตมีอุ้งเล็บที่มีลักษณะโค้งเพื่อใช้ในการขุด และมีจมูกไวมาก มีขนสั้นสีน้ำตาล มีขนเป็นแนวเส้นขนานพาดข้ามหลัง อาศัยและหาอาหารในโพรงดินที่ขุดขึ้น โดยอาหารได้แก่ แมลงชนิดต่าง ๆ รวมถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังตัวเล็ก ๆ อีกด้วย อีกทั้งยังสู้และกินสัตว์มีพิษต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น แมงป่อง ตะขาบ งูพิษ เป็นต้น


มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่บางครั้งอาจมีสมาชิกถึง 30 ตัว และอยู่ร่วมกับสัตว์ขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ เช่น กระรอกดิน ไม่ชอบอยู่กับที่ ชอบยืนชะเง้อคอ เพื่อตรวจดูและดมกลิ่นในบริเวณรอบ ๆ จะออกมารับแสงแดดในช่วงเวลาเช้าเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น เมียร์แคตถือได้ว่าเป็นสัตว์มีประสาทสัมผัสและการระแวดระวังภัยที่ดีมาก โดยเฉพาะเรื่องการรับฟังเสียงจะสามารถได้ยินเสียงในรัศมีถึง 160 ฟุต (50 เมตร) และจะอพยพย้ายที่อยู่เมื่อมีภัย ทั้งนี้โพรงของเมียร์แคตมีความลึกลงไปในใต้ดิน โพรงดินที่สร้างขึ้นสามารถเชื่อมต่อกัน ทำให้มีช่องทางเข้าออกมากขึ้นและช่วยให้มีทางหลบหนีเมื่อมีภัยมา

เมียร์แคตจะขยายพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 1 ปี จะออกลูกตามโพรง ช่วงฤดูผสมพันธุ์คือเดือนตุลาคม-มีนาคม ระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 11 สัปดาห์ ออกลูกครั้งละ 2-5 ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น