วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี

พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี หรือ พระพุทธรูปปางทรงเครื่อง


ความเป็นมาของ ปางโปรดพญาชมพูบดี หรือ ปางทรงเครื่อง พญาชมพูบดีผู้มีฤทธิ์เดชมาก มีความริษยาพระเจ้าพิมพิสาร เพราะทรงมีปราสาทงดงามกว่าปราสาทของพระองค์ จึงมารุกรานข่มเหง จนพระเจ้าพิมพิสารต้องหนีไปพึ่งพระบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระองค์เองเป็นพระเจ้าราชาธิราชที่งดงามดุจท้าวมหาพรหม และรับสั่งให้ท้าวสักกเทวราชแปลงเป็นราชทูตไปทูลเชิญพญาชมพูบดีมา พญาชมพูบดีตกตะลึงในความงดงามและความยิ่งใหญ่แห่งพระนครของพระราชาธิราช พระพุทธองค์ทรงให้โอกาสพญาชมพูบดีแสดงอิทธิฤทธิ์ แต่ก็พ่ายต่อพระพุทธองค์ จึงทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับคืนสู่สภาพเดิมและทรงแสดงธรรมโปรด จนพญาชมพูบดีเบื่อหน่ายในราชสมบัติอันไม่ยั่งยืน ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พญาชมพูบดี


ปางโปรดพญาชมพูบดี เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่ง ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาคว่ำบนพระชานุ (เข่า) แบบปางมารวิชัย ต่างกันที่ปางนี้ทรงเครื่องต้นอย่าง พระมหากษัตริย์ ทำให้บางครั้งก็เรียกกันว่า ปางทรงเครื่อง

ประวัติที่มาของปางนี้มีว่า พญาชมพูบดีผู้ครองเมืองปัญจาลนคร ทรงมีอำนาจเหนือกษัตริย์ทั่วชมพูทวีป เพราะทรงมีศาสตราวิเศษ 3 อย่าง คือศรวิเศษ ฉลองพระบาทแก้ว และจักรแก้ว แต่วันหนึ่งทรงเห็นปราสาทของพระเจ้าพิมพิสาร ที่กรุงราชคฤห์ มีความงดงามกว่าปราสาทของพระองค์ จึงไม่พอพระทัย ส่งอาวุธวิเศษออกไปเพื่อทำลายปราสาทและจับพระเจ้าพิมพิสาร จนพระเจ้าพิมพิสารต้องหนีไปพึ่งพระบารมีของพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่เวฬุวันวิหาร

พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าพญาชมพูบดีสามารถบรรลุพระอริยผลได้ จึงเนรมิตพระองค์เองเป็นพระเจ้าราชาธิราช ทรงเครื่องต้นสำหรับพระมหากษัตริย์ ประทับบนรัตนบัลลังก์ ให้เหล่าพระสงฆ์เนรมิตรกายเป็นอำมาตย์ราชบริพาร และเนรมิตรให้พระเวฬุวันวิหารกลายเป็นพระราชวังอันวิจิตรงดงาม และรับสั่งให้ท้าวสักกเทวราชแปลงเป็นราชทูต ไปทูลเชิญพญาชมพูบดีมาเฝ้ายังพระเวฬุวันวิหาร พญาชมพูบดีทรงตกตะลึงในความงดงามและความยิ่งใหญ่อลังการแห่งพระนครของพระเจ้าราชาธิราช

เมื่อพญาชมพูบดีได้เข้าเฝ้าพระเจ้าราชาธิราช ก็ยังไม่ทรงคลายทิฐิมานะ พระพุทธองค์จึงทรงให้โอกาสพญาชมพูบดีแสดงอิทธิฤทธิ์ แต่ก็พ่ายแพ้ต่อบารมีของพระพุทธองค์ พญาชมพูบดีก็เกิดความยำเกรง คลายทิฐิมานะลง พระบรมศาสดาจึงทรงบันดาลให้นครเนรมิตร กลับคืนเป็นพระเวฬุวันวิหาร พร้อมทั้งพระองค์และเหล่าสาวกก็กลับสู่สถานะเดิม จากนั้นทรงแสดงธรรมโปรด จนพญาชมพูบดีรู้สึกปีติโสมนัส ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์จึงทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พญาชมพูบดี แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พญาชมพูบดี จนบรรลุอรหัตตผล

ปางโปรดพญาชมพูบดี เป็นพระพุทธรูปประจำผู้เกิดปีกุน (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 102 พ.ค. 52 โดยกานต์ธีรา)

ปางทรมานพระยามหาชมพู จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปางทรมานพระยามหาชมพู เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์ หรือเรียกอีกอย่างว่าปางทรงเครื่อง หรือ พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์

พญาชมพูบดีผู้มีฤทธิ์เดชมาก มีความริษยาพระเจ้าพิมพิสาร เพราะทรงมีปราสาทงดงามกว่าปราสาทของพระองค์ จึงมารุกรานข่มเหง จนพระเจ้าพิมพิสารต้องหนีไปพึ่งพระบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระองค์เองเป็นพระเจ้าราชาธิราชที่งดงามดุจท้าวมหาพรหม และรับสั่งให้ท้าวสักกเทวราชแปลงเป็นราชทูตไปทูลเชิญพญาชมพูบดีมา พญาชมพูบดีตกตะลึงในความงดงามและความยิ่งใหญ่แห่งพระนครของพระราชาธิราช พระพุทธองค์ทรงให้โอกาสพญาชมพูบดีแสดงอิทธิฤทธิ์ แต่ก็พ่ายต่อพระพุทธองค์ จึงทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับคืนสู่สภาพเดิมและทรงแสดงธรรมโปรด จนพญาชมพูบดีเบื่อหน่ายในราชสมบัติอันไม่ยั่งยืน ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พญาชมพูบดี


ตำนานพระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี (ปางทรงเครื่อง)

https://sites.google.com/site/kornlifestyle/home/phraphuthth-rup-pang-pord-phra-phya-chmphu-bdi

ตำนานพระพุทธรูปปางนี้มีตำนานกล่าวไว้ว่า ในปฐมโพธิกาล มีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งพระนามว่า พญาชมพูบดี พระมเหสีทรงพระนามว่า พระนางกาญจนาเทวี ครองปัญจาลนคร พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีบุญญาธิการมาก ด้วยพระองค์ทรงอาวุธวิเศษมีอำนาจเหนือกษัตริย์น้อยใหญ่ทั้งหลาย ถึง ๓ อย่าง คือ ศรวิเศษ เรียกว่า “วิษสร” ฉลองพระบาทแก้ว และจักรแก้ว มีกษัตริย์ในนครต่างๆ ยอมถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองเป็นเมืองขึ้นมากมาย ยังไม่มีกษัตริย์พระนครใดใกล้เคียงจะหาญเข้ามาต่อต้านได้ พระองค์ปรารถนาความยิ่งใหญ่โดยไม่ทรงรู้จักพอเช่นเดียวกับสามัญชนทั่วไป เมื่อทรงเห็นกษัตริย์นครใดมีราชสมบัติมากมีฤทธิ์น้อยกว่าก็ทรงใช้ศรวิเศษไปร้อยพระกรรณเอามาหมอบกราบแทบพระบาทให้ยอมเป็นเมืองขึ้นนของปัญจาลนคร

วันหนึ่งเป็นวันพระจันทร์เพ็ญ พญาชมพูบดีทรงทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์งามสง่าอยู่ท่ามกลางหมู่ดาวในท้องฟ้า ก็ทรงเทียบพระองค์ว่าพระองค์มีรัศมีล่วงดาวทั้งหลายฉะนั้น ทรงเบิกบานพระทัยด้วยความหวังแน่ในพระทัยเป็นที่ยิ่งนัก จึงทรงฉลองคู่พระบาทแก้วเหาะไปในอากาศ ทอดพระเนตรดูหัวเมืองทั้งหลายในชมพูทวีป

ครั้นเสด็จมาถึงพระนครราชคฤห์ ทรงเห็นยอดปราสาทสูงสล้างงามยิ่งนัก ก็ทรงจินตนาการว่า ปราสาทของใครหนอช่างงามยิ่งกว่าปราสาทของเรา ก็ทรงรู้สึกไม่พอพระราชหฤทัยด้วยความริษยา จึงได้เสด็จลงมายกพระบาทขึ้นกระทืบเพื่อจะให้ยอดปราสาทหักทลายลง แต่ด้วยพุทธานุภาพทรงรักษาคุ้มครอง ในฐานะที่พระเจ้าพิมพิสารเป็นอริยสาวกขั้นโสดาบัน ผู้ซึ่งมีพระราชศรัทธาไม่หวั่นไหวสั่นคลอนในพระรัตนตรัย ยอดปราสาทของพระองค์จึงไม่กระทบกระเทือน ดูประหนึ่งว่าเป็นเหล็กกล้า สามารถต่อต้านการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงได้ทุกประการ พญาชมพูบดีทรงกระทืบเท่าใดๆ ยอดปราสาทก็มิได้ระคายเคืองแต่ประการใดเลยและขณะเดียวกันนั้น พระบาทของพญาชมพูบดีกลับแตก พระโลหิตไหลออกโทรมพระบาท พญาชมพูบดีเจ็บพระบาทยิ่งทรงพิโรธหนักขึ้น ทรงชักพระแสงขรรค์ออกฟันจนสุดกำลัง ยอดปราสาทก็หาได้หักพังลงไม่ แต่พระแสงขรรค์กลับบิดงอบิดเบี้ยว พญาชมพูบดีทรงขัดพระทัยและเสียขวัญอย่างหนัก เพราะไม่เคยพบการผิดหวังเช่นนี้มาก่อน ทั้งทรงพิโรธหนักขึ้นเป็นร้อยเท่าพันทวี รีบเสด็จกลับปัญจาลนคร โดยทรงพระดำริจะใช้วิษสรมาร้อยพระกรรณเจ้าของปราสาทนี้ไปหมอบกราบแทบพระบาทของพระองค์ ครั้นเสด็จถึงพระนครแล้วก็ทรงใช้วิษสรให้ไปเอากษัตริย์ผู้ครอบครองนครราชคฤห์มาโดยเร็ววิษสรจากแล่งแล่นไปในอากาศโดยเร็ว ส่งเสียงร้องกัมปนาทเป็นที่หวั่นหวาด ของคนและสัตว์ที่ได้สดับทั่วกัน

พระเจ้าพิมพิสารพอได้ทรงสดับก็ทรงสะดุ้งพระทัยรีบ เสด็จออกจากปราสาทไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเวฬุวันวิหารแต่เช้าตรู่ เพื่อขอประทานความคุ้มครองเมื่อวิษสรมาถึงปราสาทก็เข้าค้นหาพระเจ้าพิมพิสารเป็นการใหญ่ ครั้นไม่พบก็ทำลายภูฉัตรกระจัดกระจาย แล้วก็ติดตามออกไปยังพระเวฬุวันวิหารแผดเสียงสะเทือนสะท้านน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง ครั้นพระบรมศาสดาเห็นวิษสรเข้ามารุกรานเช่นนั้น ก็ทรงเนรมิตพุทธจักรส่งออกไปขับไล่ทำลายวิษสรนั้น พุทธจักรมีอานุภาพมากกว่า แล่นออกไปไล่ทำลายวิษสรให้สิ้นฤทธิ์แล้วกลับคืนไป เมื่อวิษสรพ่ายแพ้แล้ว ก็รีบหนีคืนเข้าแล่งศรแห่งพญาชมพูบดี

ครั้นพญาชมพูบดีทรงเห็นวิษสรพ่ายแพ้ยับเยินกลับมาเช่นนั้น ก็ทรงโทมนัสหนักหนา ถอดฉลองพระบาทแก้วออกทั้งคู่ แล้วสั่งให้ออกไปมัดพระเจ้าพิมพิสารเอาตัวมาทันที ฉลองพระบาทแก้วคู่ได้กลายเป็นพญาวาสุกรีแผ่พังพานเลื้อยแล่นไปโดยนภากาศ ร้องส่งเสียงคำรามสนั่นหวั่นไหวดั่งฟ้าร้อง ครั้นถึงเมืองราชคฤห์แล้วก็ตรงเข้าหาพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อไม่พบก็เข้าทำลายราชบัลลังก์เสียย่อยยับ แล้วก็แล่นออกไปทางพระเวฬุวันมหาวิหาร

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงเห็นนาคราชของพญาชมพูบดีติดตามรุกรานมาถึงมหาวิหารเช่นนั้น ก็ทรงเนรมิตพญาครุฑให้โบยบินออกไปขับไล่โจมตีพญาวาสุกรีคู่นั้นให้พ่ายยับเยินหนีกลับไปเช่นคราวก่อน ครั้นนาคราชคู่นั้นหลบหนีกลับไปแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงพิจารณาอุปนิสัยของพญาชมพูบดีก็ทรงเห็นว่าท้าวเธอมีอุปนิสัยสูงส่งควรจะบรรลุอริยผลขั้นสูงได้ จึงตรัสเรียกท้าวสักกเทวราชให้มาเฝ้าแล้วทรงแจ้งให้ทราบพระประสงค์จะทรมานพญาชมพูบดีผู้มีพระทัยหลงใหลใฝ่ฝันในราชสมบัติทั่วทั้งทวีปนั้น โดยพระพุทธองค์จะทรงเนรมิตพระองค์เป็นพระเจ้าราชาธิราช ให้พระสงฆ์เป็นเสวกามาตย์ราชบริพาร ให้พระเวฬุวันมหาวิหารกลายเป็นพระราชนิเวศสถานที่งดงามไม่มีสถานที่ใดจะเปรียบปานได้ ขอให้ท้าวสักกเทวราชเป็นราชทูตไปเอาตัวพญาชมพูบดีมาเข้าเฝ้ายังพระเวฬุวันมหาวิหารแห่งนี้

ครั้นท้าวสักกเทวราชทราบพระพุทธประสงค์ดังนั้นแล้ว ก็จำแลงเพศเป็นราชทูตที่สง่างามด้วยอาภรณ์วิจิตร ซึ่งล้วนแล้วแต่สูงด้วยค่ามากยิ่งกว่าเครื่องอาภรณ์ใดๆ ของพญาชมพูบดี แล้วเสด็จเข้าไปยืนปรากฏพระกายที่ปราสาทหน้าพระพักตร์พญาชมพูบดี ในท่ามกลางอำมาตย์ราชบริพารที่เฝ้าแหนกันอยู่นั้น แล้วทรงเปล่งสุรเสียงว่า “ดูก่อนพญาชมพูบดีบัดนี้พระเจ้าราชาธิราช เจ้านายของข้าพเจ้า มีพระบัญชาให้มาเชิญตัวท่านไปเข้าเฝ้าในบัดนี้” เมื่อเห็นราชทูตเจรจากับพระองค์ด้วยวาจาไม่เคารพนอบน้อมเช่นนั้น พญาชมพูบดีก็ทรงพิโรธนักหนา ก็ร้องตวาดแล้วขว้างจักรแก้วไป หมายให้ประหารชีวิตราชทูตจำแลงนั้นในบัดดล เมื่อท้าวสักกเทวราชเห็นเช่นนั้น ก็ทรงขว้างจักรของพระองค์ออกไปต่อกรกำจัดจักรแก้วนั้น อินทร์จักรได้แล่นออกไปทำลายจักรแก้วนั้นให้พ่ายแพ้โดยครู่เดียวเท่านั้นและกระชากพระบาทของพญาชมพูบดีให้ตกจากพระแท่นประทับและลากไปตามพื้นถึง ๑๒ วา ทั้งกลับกลายเป็นเปลวไฟเผาปราสาทราชวังลุกลามไปทั่วพระราชนิเวศน์ทันที บรรดาเสวกามาตย์ราชบริพารพากันตกตะลึง ด้วยกลัวต่อไฟ พากันวิ่งวุ่นกระจัดกระจายกันออกจากท้องพระโรงทันที แม้พญาชมพูบดีก็ยอมพ่ายแพ้แก่ราชทูตจำแลงนั้น แล้วรับจะทำตามบัญชาทุกประการ


ต่อนั้น องค์อินทร์ก็เรียกจักรของพระองค์กลับคืน ทันใดนั้น เปลวไฟที่กำลังลุกลามไหม้ไปทั่วนั้นก็ดับมอดลงทันที ไม่ปรากฏมีสิ่งใดเสียหายดังเมื่อครู่ก่อนนี้เลย ทุกสิ่งทุกอย่างคงตั้งอยู่ตามเดิม พญาชมพูบดีขอผัดเวลาออกไป ๑ เดือนก่อนจึงจะไป แต่ท้าวสักกเทวราชในเพศแห่งราชทูตไม่ยินยอม เพียงแต่ผ่อนให้ ๓ ราตรีเท่านั้น และก่อนที่จะเสด็จกลับไปก็ทรงสำทับว่า ถ้าพญาชมพูบดีทรงบิดพลิ้วไม่ไปตามกำหนด ๓ ราตรีนั้น ให้ทรงมาตามซ้ำสองไซร้ ก็จะทรงเผาเมืองเสียให้ราบเป็นหน้ากลอง แล้วกลับไปเฝ้ากราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบก่อนถึงวันกำหนด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเนรมิตพระเวฬุวันมหาวิหารให้เป็นราชนิเวศน์ พร้อมด้วยปราสาทราชวังกำแพงแก้ว ๗ ชั้น วิจิตรพิสดารเพียบพร้อมด้วยตลาดบก ตลาดน้ำ งดงามไม่มีนครใดในโลกหล้าเทียบเทียมได้ เพื่อต้อนรับอวดศักดาแก่พญาชมพูบดีผู้มีมานะในราชสมบัติตน กับทรงให้พระอัครสาวกและพระมหาสาวกนิรมิตกายเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่เข้าเฝ้าประจำอยู่ในตำแหน่ง ให้พญากาฬนาคราชและนางวิมาลามเหสีมาจัดตลาดน้ำ ให้ท้าวสักกเทวราชพร้องด้วยนางสุธรรมา นางสุจิตรา และนางสุชาดา และพญาครุฑมาจัดตลาดเพชรนิลจินดาตลาด ทอง ตลาดเงินตลาดผ้าสรรพาภรณ์ ตลาดอาหาร ตลาดลูกไม้ ตลาดไม้ดอกนานาพรรณ งดงามเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นที่เจริญตาเจริญใจสของผู้ได้พบเห็น หาสถานที่ใดงดงามเสมอเหมือนมิได้

ครั้นถึงวันกำหนดหมาย พญาชมพูบดีเสด็จขึ้นช้างพระที่นั่งพร้อมด้วยจตุรงคเสนา ยกพลมาโดยลำดับ ทั้งตั้งพระทัยว่า ถ้าเห็นว่ามีกำลังมากกว่าพอที่จะบังคับข่มขู่พระเจ้าราชาธิราชนั้นได้ ก็จะจัดการเอาเป็นเมืองขึ้นทันทีด้วยเช่นกัน ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนิรมิตพระวรกายเป็นพระเจ้าราชาธิราช ทรงเครื่องต้นสำหรับพระมหากษัตริย์จักรพรรดิอันวิจิตรยิ่งนัก ทรงขึ้นประทับบนรัตนบัลลังก์ ในท่ามกลางมหาอำมาตย์ราชเสนาน้อยใหญ่ ณ ท้องพระโรงรัตนมหาสมาคม มีพระบัญชาให้มาฆสามเณรไปย่นทางเดินอันมีระยะถึง ๖๐ โยชน์ที่พญาชมพูบดีกำลังเสด็จมาให้สั้นลงเพื่อจะได้พลันถึงในครู่เดี๋ยวนั้น มาฆสามเณรรับพระบัญชานั้นแล้ว ก็ออกไปนอกวิหาร ย่นระยะทางมาของพญาชมพูบดีพร้อมด้วยจตุรงคเสนา เพื่อให้ถึงชานพระนครที่เนรมิตขึ้นนไว้ต้อนรับนั้น ครั้นแล้วก็แปลงเพศเป็นราชทูตเข้าไปหาพญาชมพูบดีร้องเชิญว่า “บัดนี้พระองค์เสด็จมาถึงพระนครแล้ว ควรจะเสด็จลงจากคอช้างพระที่นั่ง แล้วเสด็จดำเนินพระบาทเข้าสู่พระนคร” เมื่อพญาชมพูบดีทรงขัดเคืองและขัดขืน มาฆสามเณรในเพศแห่งราชทูตก็แสดงอานุภาพฉุดช้างพระที่นั่งให้ล้มลง พญาชมพูบดีทรงเห็นดังนั้นก็เกรงเดชานุภาพ ก็จำใจปฏิบัติตามโดยเสด็จดำเนินตามมาฆสามเณรเข้าพระนครไปขณะที่เสด็จเข้าพระนคร พอทอดพระเนตรเห็นท้าวจตุโลกบาลคุมทหารพร้อมด้วยศาตราวุธรักษาพระนคร ก็ทรงเกรงขามครั่นคร้าม ครั้นเสด็จดำเนินต่อไป ก็ทรงเห็นตลาดต่างๆ ทั้งหลายเข้า ก็ถึงกับทรงตะลึงแลด้วยความแปลกพระราชหฤทัยระคนด้วยทรงพอพระทัยยิ่งนัก เห็นแม่ค้าทั้งหลายอัน มีรูปร่างงามโฉมสะคราญไม่มีที่เปรียบ ทั้งวาจาปราศรัยเชิญชวนก็ไพเราะเสนาะโสตจับพระทัยเหลือประมาณ ทำให้ท้าวเธอหลงเพลิดเพลินจนมาฆสามเณรต้องคอยเตือนให้รีบเสด็จไปทุกระยะทีเดียว กระทั่งถึงที่ประทับของพระพุทธองค์ที่ทรงนิรมิตพระรูปโฉมดุจท้าวมหาพรหมประกอบด้วยพระรัศมี ๖ ประการ
ประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์ ท่ามกลางมุขอำมาตย์ราชเสนาบดี ก็ทรงเกรงกลัวแทบพระทัยจะดีดดิ้นหลุดออกจากทรวง ทรงทรุดพระวรกายนั่งลง แม้อย่างนั้น ก็ไม่ยอมถวายบังคม ด้วยอำนาจมานะทิฏฐิแรงกล้า เมื่อพระบรมศาสดาทรงให้โอกาสท้าวเธอแสดงฤทธิเดชบรรดามี พญาชมพูบดีก็แสดงจักรแก้ว วิษสร และฉลองพระบาทแก้วอันเป็นอาวุธอานุภาพสูงประจำพระองค์แล้ว อาวุธต่างๆ นั้นก็หาทำอันตรายใดๆ แก่พระพุทธองค์ได้ไม่กลับพังสลายในทันทีจนเป็นเหตุให้พญาชมพูบดีท้อพระทัยและยอมเกรงพระบารมีจนหมดสิ้นท่า

ต่อนั้นพระพุทธองค์ก็ตรัสธรรมเทศนาชำระอกุศลจิตของพญาชมพูบดีให้ผ่องใส ด้วยอนุปุพพีกถาให้พญาชมพูบดีมีจิตศรัทธาในกุศลธรรม ถึงกับทรงมอบกายถวายชีวิตตนในพระรัตนตรัย ขอบรรพชาอุปสมบท จึงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคตอนาวรญาณ ก็ทรงคลายอิทธาภิสังขาร บันดาลพระนครนิรมิตให้กลับคืนเป็นดังเดิมพระองค์ก็ทรงกลายเพศเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหล่าบรรดาอำมาตย์ราชบริพารก็กลับกลายเป็นพระภิกษุสงฆ์อัครสาวกและมหาสาวกตามปกติแวดล้อมพระบรมศาสดาเหล่าเทพเจ้าชั้นฟ้า ชั้นพสุธา และชั้นดินดาลใต้พิภพก็พากันกลับคืนสถิตยังสถานที่อยู่ของตนๆ ต่อนั้นพระบรมศาสดาก็ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พญาชมพูบดีให้เป็นภิกษุสงฆ์ทรงจตุปาริสุทธิศีลในบวรพุทธศาสนา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น