วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี


วัดพระบรมธาตุไชยา เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ 50 หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมเป็นวัดราษฎร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 มีนามว่า พระธาตุไชยา และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาติให้เลื่อนฐานะเป็น วัดพระธาตุไชยา ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และพระราชทานนามใหม่ว่าพระบรมธาตุไชยา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พระบรมธาตุไชยานี้ ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไชยา ประมาณ 2 กิโลเมตร ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟไชยาไปทางตะวันตก ประมาณ 1 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากถนนทางหลวง แผ่นดินสายเอ 41 ไปทางตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร

อาณาเขตแบ่งเป็น 2 ส่วน

1. เขตพุทธาวาส มีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ก็แลด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีกำแพงยาว 127 เมตร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีกำแพงยาว 66 เมตร ภายในเขต พุทธาวาส ประกอบด้วยองค์เจดีย์พระบรมธาตุไชยา พระวิหารคดหรือระเบียงพระเวียน พระเจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหารหลวง พระพุทธรูปสิลาทรายแดง ตนพระสีมหาโพธิ์และพลับพลาที่ประทับ

2. เขตสังฆาวาส อยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก ประกอบด้วยกุฏิ พระสงฆ์อยู่อาศัย กุฏิวิปัสสนากรรมฐาน ศาลาการเปรียญ โรงเรียนปริยัติธรรม ศาลาบูรพาจารย์ ห้องสมุด และหอฉัน ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีโรงเรียนวัดพระบรมธาตุไชยา สอนชั้นเด็กเล็กถึงชั้นประถมปีที่ 6 ด้านทิศตะวันออก มีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไชยา


ประวัติความเป็นมาของวัด

วัดพระบรมธาตุไชยา เป็นวัดที่เก่าแก่มากสังเกตได้จากโบราณวัตถุ โบราณสถานที่ยังปรากฏอยู่ทำให้ทราบได้ว่าวัดนี้มีมานานหลายวัดหลายสมัย คือตั้งขึ้นแล้วร้างไป แล้วกลับฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดียวกัน ดังต่อไปนี้

1.สมัยทวารดี มีพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่เท่าคน และย่อมกว่าเหลืออยู่ในบริเวณจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ คือพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดสูง 104 ซม. หน้าตักกว้าง 74 ซม. ทำด้วยสิลา ลักษณะประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหลาย ขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางหายซ้อนกัน ขมวดพระเกศาเป็นต่อมขนาดโต อุษณีย์ปรากฏไม่ชัด ไม่มีอูรณา จีวรบางแนบพระองค์มีแต่ขอบที่ห่อหุ้มอังสะซ้าย อายุราพุทธศตวรรษที่ 11-12 ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พิพิฑภัณฑสถานแห่งชาติไชยา พระพุทธรูปประทับยืน ซึ่งประทับยินบนฐานบัวลงลักปิดทองทั้งองค์ จีวรห่อคลุม ปลายจีวรตัดตรง รัดประคบมีลวดลาย ไม่มีพระรัศมี เม็ดพระเกศากลมใหญ่ ทำด้วยสิลา ขนาดสูง 142 ซม. ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ด้วยเหตุนี้ท้ำให้เชื่อถือได้ว่าวัดนี้หรือสถานที่แห่งนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยทราวดี คือระหว่าง พ.ศ. 1000-1200

2. สมัยศรีวิชัย มีองค์เจดีย์พระมหาธาตุแบบศรีวิชัย ปรากฏอยู่เป็นปูชนียสถาน อันศักดิ์สิทธิ์ โดยมิได้รับการดัดแปลงเว้นแต่ตอนส่วนยอด เพราะได้หักพังลงบมาและหายสาบสูญไปจึงทำใหม่เป็นศิลปะแบบไทยแล้วยังมีรูปสำริดของ ของพระอวโลกิเตศวลโพธิสัตว์ขนาดใหญ่ สวยงามเป็นชิ้นเอกของปฏิมากรรม สมัยนี้ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิฑภัณฑสถานแห่งชาติพระนครและมีองค์ขนาดย่อมตลอดถึงที่ทำด้วยศิลาอีกหลายองค์ มีมากกว่าในสถานที่ใดๆในประเทศไทย รวมทั้งเศษหักพังของโบราณวัตถุสมัยเดียวกันอีกหลายชิ้น ดังนั้นทำให้เชื่อได้ว่าวัดนี้มีความเจริญรุ่งเรื่องอยู่ในสมัยศรีวิชัย คือระหว่าง พ.ศ. 1200-1500

3. สมัยสุโขทัย มีพุทธศิลป์เป็นแบบสกุลช่าง นครศรีธรรมราช โดยได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ลัทธิเถวราท แบบลังกาวงศ์ มีหลักฐานปรากฏว่ามีใบพัทธสีมาคู่แฝดปรากฏอยู่รอบๆเขตพระอุโบสถเดิมของวัดทำให้เชื่อได้ว่าสมัยนี้ก็มีการปรับปรุงวัดหรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าในสมัยสุโขทัยซึ่งพ้องกับสมัยนครศรีธรรมราชนั้นวัดนี้ยังคงมีอยู่

4. สมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานปรากฏมากมายกว่าสมัยใด คือ พระพุทธรูปเป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดงมีมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ มีขนาดโตมากกว่าคนธรรมดา ลงมาถึงขนาดเท่าคน และย่อมกว่าแสดงให้เห็นศรัทธาหรือความรุ่งเรื่องของพุทธศาสนาอย่างสูงสุด ในสมัยนั้น ในสถานที่แห่งนี้

5. สมัยกรุงธนบุรี แม้นจะมีระยะสั้น แต่ก็เชื่อว่าวัดนี้คงเจริญรุ่งเรืองอยู่ โดยจะเห็นได้จากศิลาจารึกที่ใกล้ๆกัน แสดงถึงการทำนุบำรุง พุทธศาสนาในถิ่นทั่วๆ ไป แต่ว่าโบราณวัตถุที่สร้างขึ้น ในสมัยกรุงธนบุรีนี้มีน้อย และแบบที่สร้างขึ้นคงเหมือนแบบสมัยอยุธยานั้นเอง

6. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าวัดพระบรมธาตไชยานี้คงจะรวมอยู่ในบรรดาสิ่งที่ถูทำลายโดยพวกพม่าข้าสึกในสมัยรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งรางไปในที่สุดได้มาค้นพบและบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ เมื่อครั้งดำรงค์สมาณศักดิ์เป็นพระครูรัตนมุนีศรีสังฆาราชาลังกาแก้ว เจ้าคณะเมืองไชยา ระหว่าง พ.ศ. 2439 ถึง 2453 เป็นวัดที่ฟื้นคืนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง การบูรณะที่สำคัญคือตกแต่งองค์พระบรมธาตุเจดีย์ แล้วฉาบปูนผิวบางๆทั่วทั้งองค์พร้องทั้งเสริมยอดที่หักไป มีการสร้างพระวิหารหลวงขึ้นมาใหม่ในที่เดิมและสร้างวิหารคดรอบบริเวณล้อมองค์พระเจดีย์และพระวิหารหลวงยกพระพุทธรูปที่เกลื่อนกลาดอยู่เข้าไปประดิษฐานในพระวิหารคดเสียใหม่จนเป็นที่เรียบร้อย ปริมณฑลพระวิหารคดที่ยกขึ้นในครั้งนั้นแคบเข้าของเดิมเพียงเล็กน้อย


ความสำคัญของวัด

ความสำคัญของวัดพระบรมธาตุไชยาอยู่ที่พระบรมธาตุไชยาซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพัทธเจ้าอันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธสานิกชนทั้วไปและเป็นพุทธสถานเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของช่างศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยไว้ได้สมบูรณ์วัดพระบรมธาตุไชยาจึงเป็นวัดที่มีความสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวไชยาและสุราษฎร์ธานีมานานนับแต่โบราณกาลซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญแก่วัดประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติและยกฐานะวัดเป็นพระอารมหลวง

สิ่งสำคัญภายในวัดพระบรมธาตุไชยา

พระบรมธาตุไชยา เป็นพุทธเจดีย์สมัยศรีวิชัยสร้างตามลัทธิมหายานประมาณ พ.ศ. 1300 ในสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยกำลังรุ่งเรื่องและได้แพร่อำนาจปกคลุมตลอดแหลมมาลายูจนถึงเมืองไชยาตั้งอยู่ระหว่างระอุโบสถกับพระวิหารหลวงในบริเวณปิ่นกลางล้อมรอบด้วยพระระเบียงคดทั้ง 4 ด้าน ฐานพระบรมธาตุขุดเป็นสระกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 60 – 70 เซนติเมตร จนเห็นฐานเดิมก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูน ซึ่งก่อนหน้าที่จะบูรณะในสมัยพระชยาภิวัฒน์ ฐานพระบรมธาตุฝังจมอยู่ ต่ำกว่าระดับพื้นดิน ปัจจุบันมีน้ำขังอยู่รอบฐานตลอดปี บางปีในหน้าแล้งรอบๆฐานพระบรมธาตุจะแห้งและมีตาน้ำผุดขึ้นมา จนชาวบ้านพากันแตกตื่นและถือว่าเป็นน้ำทิพย์ที่ศักดิ์สิทธิ์สามารถแก้โรคภัยต่างๆได้ ต่อมาทางวัดได้ใช้ปูนซีเมนต์ปิดตาน้ำนั้นเสีย

การบูรณะปฏิสังขรณ์

พระบรมธาตุไชยาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยใดบ้างไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด ตามทางสันนิษฐานแสดงว่าพระบรมธาตุไชยาได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมทรับซ้อนกันหลายครั้งในพุทธศตวรรษที่ 18 คงจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์พระบรมธาตุไชยาและได้เปลี่ยนเจดีย์ทิศหรือยอดเจดีย์บริวารเป็นหินทรายสีแดงโดยทำเป็นหน้าเทวดาจตุรพักตร์ซึ่งเข้าใจว่าเป็นพระโพธิสัตว์อวโรกิเตศวร


ประวัติของพระบรมธาตุ

1. พระบรมธาตุ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุ ในอำเภอพุมเรียง เมืองไชยาเก่านี้ เป็นของเก่า สร้างตั้งแต่ครั้งโบราณช้านานมาหลายร้อยปีแล้วจนไม่มีผู้ใดทราบได้ว่าใครเป็นผู้สร้างไว้แต่ครั้งไหน ในที่สุดจะสื่อให้ได้แต่เพียงว่าเมื่อพระบรมธาตุองค์นี้ชำรุดแล้วใครเป็นผู้ปฏิสังขรณ์เมื่อครั้งไหนบ้าง ก็ยังไม่ได้ความ การที่สืบสาวหาเรื่องราวของเก่าๆที่ไม่ได้ความดีๆนั้นเป็นเพราะด้วยผู้ที่ได้ทำการก่อสร้างไว้ในครั้งแรกทั้งผู้ปฏิสังขรณ์ในชั้นหลังมักไม่จารึกจดหมายบอกเหตุไว้ให้ได้หลักฐาน ครั้งกาลล่วงเลยมาช้าๆนานๆเช่นนี้ก็ไม่มีใครสามารถอาจจดจำได้ การสืบหาหลักฐานเรื่องราวต่างๆจึงไม่สามารถทราบได้ดี

รูปของพระธาตุ

องค์พระเจดีย์อยู่บนฐานแต่ฐานในเวลาชำรุดถูกดินถมขึ้นมาเสียราว 2 ศอก สูงตั้งเชิงฐานที่สุดถึงยอดที่เหลือประมาณ 10 วาเศษ ความกว้างของฐาน 4 วา 2 ศอก ยาว 5 วา ตอนต่อจากพื้นขึ้นไปถึงหอระฆัง ลดชั้นมีหน้ามุข หน้าบัน และมีบราลีทุกๆชั้น แต่บราลีมักทำเป็นรูปเจดีย์เล็กๆ ตลอดทรวดทรงของพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุองค์นี้มักมีผู้ชมว่าสง่างามกว่าที่อื่น ซึ่งได้พบเห็นมาแม้ว่าไม่สูงไม่ใหญ่ก็จริงแต่วิธีลดหลังชั้นเชิงชดช้อย

ว่าด้วยการชำรุด

2. น่าเสียดายที่ของหลักฐานดังกล่าวมาแล้วนั้นมาชำรุดทรุดโทรมไปยอดเจดีย์ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้น หักพังลงมาถึงหอระฆังลวดลายซึ่งเป็นของละเอียดก็ทำลายเสียโดยมาก เครื่องที่ทำให้ชำรุดไปเร็วก็คือไม้ต่างๆ มีโพธิ์ไทร เป็นต้น งอกขึ้นตามระหว่างอิฐทำให้แตกแยะ หลังคาระเบียงพระเวียน ปกคลุมไปด้วยหญ้าและเถาวัลย์ ในลานพระบรมธาตุกำแพงชั้นใน ซึ่งปูด้วยอิฐหน้าวัวนั้น ชำรุดแตกหัก กำแพงชั้นนอกนั้นหักพังลงเสียทั้งหมด พระเจดีย์เล็กใหญ่ต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในบริเวณพระบรมธาตุนั้นชำรุดไป 4 ใน 5 วิหารหลวงและวิหารต่างๆ ก็ดุจเดียวกัน พระพุทธปฎิมากรทั่วไปในบริเวณพระบรมธาตุนี้แตกหักออกเป็นท่อนๆ บั้นๆ ที่ยังเป็นองค์ดีมีอยู่บ้างก็แต่ที่ทำด้วยศิลา ในบริเวณพระบรมธาตุทั่วไปซึ่งต้นไม้และเถาวัลย์ต่างๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ดังนี้ ควรนับว่าหลายปีมาแล้ว ที่ปราศจากผู้รักษาตกแต่งปฎิสังขรณ์ จนต้นไม้โตขึ้น วัดผ่าศูนย์กลาง ขนาด 6-7 นิ้วฟุตก็มี เมื่อได้เห็นเข้าก็นึกเสียดายว่า ของอย่างนี้ยากที่จะมีขึ้นได้ก็เมื่อมีอยู่แล้วก็ไม่น่าให้เสื่อมสูญไป จึงได้ชวนพุทธศาสนิกชน ที่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พร้อมใจกันกระทำปฎิสังขรณ์

การปฎิสังขรณ์ใหม่

3. การปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุนี้ อาตมาภาพได้ลงมือจับทำการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ศก 115 ถึง ศก 129 นี้ นับได้ 14 ปีเศษ การที่ทำเสร็จไปคือ พระเจดีย์ซึ่งบรรจุพระสารีริกธาตุนั้น ได้ปฎิสังขรณ์ขึ้นตามเค้าเดิมของเก่าบ้าง ได้ดัดแปลงไปให้แปลกไปบ้าง ได้เพิ่มเติมขึ้นใหม่บ้าง ที่เพิ่มเติมจากของเก่าบ้างนั้นคือ ได้ต่อบัวคอระฆัง และขยับยอดให้สูงขึ้นไป 1 แห่ง กับได้ทำฉัตรใส่ยอด คือทำเป็น 3 ชั้น ก้านและใบฉัตรภายในรองด้วยเงินแล้วหุ้มด้วยทองคำ ทองที่เหลือจากหุ้มฉัตร ยังได้หุ้มตลอดลงมาถึงลูกแก้วและปลี สิ้นทองคำหนัก 82 บาท 3 สลึง ต่อนั้นลงมา ได้ปิดด้วยทองคำเปลวตลอดคอระฆังและบัว


ว่าด้วยผู้ที่อุดหนุน

4. การที่จัดทำสำเร็จไปได้เพียงนี้ โดยได้รับความอุดหนุนจากท่านข้าราชการและราษฎร์ผู้มีจิตศรัทธาโดยมาก เมื่อแรกลงมือทำในการนี้มีพระศรีราชสงครามรามภักดี ปลัดเมืองไชยาคนเด่า กับภรรยาหลวงวิชิตสงคราม เป็นต้น ช่วยในการนี้โดยเต็มกำลังทั้งพระอธิการวัดต่างๆ คือ พระปลัดเสือ วัดสพ พระเริก วัดไชธารา พระชู วัดเวียง พระหีต วัดดอนพต พระกลับ วัดท่าม่วง ก็ได้มาช่วยระดมกันออกแรงทำส่วนเงินใช้จ่ายในการนี้ทั่วไปทุกอย่าง ตั้งแต่ลงมือทำจนนับว่าสำเร็จไปเพียงนี้สิ้นเงิน 11,357 บาท ทองคำหนัก 82 บาท 3 สลึง ส่วนเงินและทองเหล่านี้โดยท่านผู้มีจิตศรัทธาออกตลอดทั่วเจ้านายและข้าราชการอีกราษฎรทั่วไปดังรายนามและนามแจ้งอยู่ในบัทชีรายละเอียดหมายเลขที่นั้นแล้ว และยังมีผู้ลงขันลับๆ ซึ่งมิได้มีรายชื่อไว้ก็มี โดยมากรวมเป็นจำนวนเงิน...บาท กับทองคำหนัก...บาท ครั้นมาเมื่อปี ร.ศ. 121 ซึ่งการใหญ่ๆ ได้จัดทำเสร็จไปแล้วนั้น ส่วนราษฎรผู้ที่ได้เกื้อกูลในการนี้ โดยมากได้ชักชวนกันให้มีการสมโภชพระบรมธาตุเสียครั้งหนึ่ง ได้มีการมหรสพ 3 วัน 3 คืน เพื่อให้เป็นการครึกครื้นของราษฎร และได้นิมนต์พระสงฆ์นั่งเรียงรอบพระระเบียงสวดมนต์สมโภชแล้วถวายอาหารบิณฑบาตทั้ง 3 วัน แล้วได้มีเครื่องไทยทานมีผ้าไตรเป็นต้น ถวายพระสงฆ์ในงานนี้ทั่วทุกๆ รูป การที่ต้องไปต่อไป

5. ส่วนการที่จะต้องทำต่อไป มีวิหารต่างๆ ซึ่งยังไม่ได้ปฎิสังขรณ์อยู่บ้างหลายอย่าง แต่ที่จำเป็นก็คือ พระอุโบสถ 1 หลัง การที่จะปฎิสังขรณ์ต่อไปให้แล้วเสร็จทุกสิ่งนั้น คงจะเปลืองเวลาอยู่อีกหลายปีจึงจะนับว่าสำเร็จส่วนสิ่งที่จะจัดขึ้นใหม่ต่อไปนั้น เมื่อเห็นว่ามีผู้ศรัทธาอุดหนุน จะควรทำสิ่งใด เพิ่มเติมขึ้น จะได้จัดทำต่อไป

พระวิหารคด

พระระเบียงหรือพระวิหารคด โดยรอบเจดีย์พระบรมธาตุไชยาทั้งหมดมีแปลนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 39 เมตร สูง 4 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสกุลช่างไชยา ขนาดและปางต่างๆ รวมทั้งสิ้น 180 องค์ และมีพระเจดีย์ หอระฆัง รูปปั้นพระชยาภิวัฒน์ ผู้เป็นประธานในการบูรณะปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยราชการที่ 5 หลังจากนั้นมีการบูรณะอีกเพียงเล็กน้อยบางสมัย พระระเบียงจึงได้ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา

พระวิหารหลวง

พระวิหารหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกขององค์เจดีย์พระบรมธาตุไชยา สร้างยื่นล้ำเข้าไปในพระวิหารคด ในพระวิหารหลวงมีพระพุทธใหญ่น้อยหลายองค์ การบูรณะพระวิหารหลวงนั้น ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยท่านเจ้าคุณพระชยาภิวัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2444 โดยได้เปลี่ยนเครื่องไม้ต่างๆ ใหม่หมด หลังคา 2 ชั้น มีช่อฟ้า นาคสะดุ้ง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ที่หน้าบันสลักลายดอกไม้เทศ พื้นประดับด้วยกระจกสีตามลวดลายปิดทองคำเปลว ฝาผนังใช้โบกปูนใหม่ทั้งหมด ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2502 พระราชชัยกวี เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นประธานในการบูรณะพระวิหารหลวง โดยรื้อพระวิหารหลังเก่าที่ชำรุดออกคงไว้แต่พระพุทธรูปและฝาผนังด้านหลังพระพุทธรูป ส่วนหน้าบันของเดิมนั้นได้นำไปแสดงไว้ในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ศาลานีลวัฒนานนท์พระวิหารหลวงที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ได้เสริมฝาผนังให้สูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยท้ายพระวิหารหลวงด้านตะวันตก เดิมเป็นห้องลับแล ได้ตัดออก เพื่อเป็นที่นมัสการพระบรมธาตุ แต่เนื่องจากเวลาฝนตกฝนจะสาด ทางวัดจึงปล่อยไว้เป็นห้องโถง เมื่อครั้งพระครูโสภณเจตสิการาม ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ของวัดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2478 ก็ได้ใช้พระวิหารหลวงนี้เป็นสถานที่แสดงโบราณวัตถุต่างๆ ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลและประชุมคณะสงฆ์ ต่อมา พ.ศ. 2541 ได้บูรณะอีกครั้งหนึ่ง

พระอุโบสถ

พระอุโบสถตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกขององค์เจดีย์พระบรมธาตุ นอกกำแพงพระวิหารคดเริ่มสร้างประมาณ พ.ศ. 1335 เขตพัทธสีมากว้าง 13.15 เมตร ยาว 18.80 เมตร แต่เดิมนั้นมีใบพัทธสีมาเพียงใบเดียว เรียงรายรอบพระอุโบสถจนถึงสมัยพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาได้แผ่เข้ามาในประเทศไทยประมาณ พ.ศ. 1800 พระสงฆ์ลังกาได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาซ้ำลงในที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้พระพุทธศาสนาบริสุทธิ์มีความมั่นคง และสมบูรณ์ยิ่งขึ้นวัดที่ได้ผูกพัทธสีมาซ้ำแล้ว จึงให้ปักใบพัทธสีมาเพิ่มขึ้นเป็นคู่แฝด โดยมากมักจะเป็นอารามหลวง ด้วยเหตุนี้ วัดพระบรมธาตุไชยาจึงมีใบพัทธสีมา 2 ใบ ดังปรากฎเห็นอยู่ในปัจจุบัน หลังจากท่านเจ้าคุณพระชยาภิวัฒน์ ได้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุและพระวิหารคดแล้ว ทางวัดได้ทำการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวัดพระบรมธาตุไชยา ได้ยกฐานขึ้นเป็นพระอารามหลวงแล้ว ได้รับงบประมาณ เมื่อ พ.ศ. 2498 ทางวัดได้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ตรงที่เดิม แต่ขยายส่วนออกไปอีกยาวกว่าเดิมเล็กน้อยภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระรูปศิลาทรายแดงปางมารวิชัยสมัยอยุธยา เบื้องหน้าพระประธานมีใบพัทธสีมาคู่ ซึ่งเป็นของเดิมแต่ครั้งพระอุโบสถหลังเก่า

พระพุทธรูปศิลาทรายแดง 3 องค์

พระพุทธรูปศิลาทรายแดง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่กลางกลางแจ้งบนลานภายในกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยา โดยฝีมือสกุลช่างไชยา อาสน์เป็นของทำใหม่โดยยกให้สูงขึ้น

รูปปั้นพระชยาภิวัฒน์ ( หนู ติสฺโส )

พระชยาภิวัฒน์ ( หนู ติสฺโส ) มีพระราชทินนามเต็มว่า พระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ ชาวบ้านบางมะเดื่อ ตำบลบางมะเดื่อ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เคยแสดงตลกหลวงหน้าพระที่นั่งในสมัยพุทธเจ้าหลวง ได้อุปสมบทตั้งแต่อายุ 20 ปีบริบูรณ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ได้ริเริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2478 โดย พระครูโสภณเจตสิการาม อดีตเจ้าคณะอำเภอไชยาได้รวบรวมศิลปะโบราณวัตถุมาเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ พระวิหารหลวงและพระระเบียง ต่อมากรมศิลปากร ได้พิจารณารับเป็นสาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรียกชื่อในขนาดนั้นว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม ครั้นถึง พ.ศ. 2493 พระเดชพระคุณพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยา เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ได้เริ่มสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบไทยประยุกต์อาคารใหม่หลังแรก เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2495 ต่อมา พ.ศ. 2499 ได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นเป็นหลังที่สอง ด้านทิศเหนือ ใหญ่กว่าหลังแรก สร้างด้วยเงินงบประมาณของกรมศิลปากร และเงินงบประมาณการจร ซึ่ง พ.ต.อ.พัฒน์ นีลวัฒนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้จัดหา อาคารหลังนี้ต่อมาได้มีชื่อว่าศาลานีลวัฒนานนท์ ต่อมาเมื่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับพระวิหารหลวงชำรุดทรุดโทรมและทางวัดจะรื้อสร้างใหม่ จึงได้ย้ายศิลปวัตถุทั้งหมดจากวิหารหลวงนำไปเก็บและตั้งแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์ที่สร้างใหม่ เมื่อวันที่ 28 – 31 มกราคม พ.ศ. 2500 กิจการพิพิธภัณฑ์ได้เจริญก้าวหน้าตามลำดับมาประจวบกับในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี กรมศิลปากรเห็นเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะปรับปรุงกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล จึงก่อสร้างเพิ่มเติมตัวอาคารขึ้นอีกหลังหนึ่งใน พ.ศ. 2524-2525 รวมเป็นอาคาร 3 หลัง และปรับปรุงการจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุ โดยใช้สิ่งที่มีอยู่เดิม ตลอดจนที่ได้รับบริจาคและได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี งานทั้งปวงนี้ได้สำเร็จเรียบร้อยลงแล้ว จึงได้ประกอบพีธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2525 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยานี้ ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกภายในบริเวณวัดพระบรมธาตุไชยา

พระมหากษัตริย์กับวัดพระบรมธาตุไชยา

วัดพระบรมธาตุไชยา เป็นพระอารามหลวง ที่พระมหากษัตริย์ และพระบรมราชานุวงศ์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้เสร็จพระราชดำเนิน และเดินทางมานมัสการพระบรมธาตุไชยาเสมอมา

งานการศึกษา

วัดพระบรมธาตุไชยา มีการศึกษาทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนนักธรรมและแผนกบาลี แผนกนักธรรมเปิดสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2472 มีทั้งชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก นักเรียนหลายวัดที่มาเรียน เช่นวัดเวียง วัดศรีเวียง วัดวชิราราม วัดรัตนาราม และวัดธารน้ำไหล ส่วนแผนกบาลีเปิดเรียนเมื่อ พ.ศ. 2501 ฝ่ายวิปัสสนาธุระได้เปิดสอนวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่ พ.ศ. 2479 เป็นต้นมา เมื่อ พ.ศ. 2541 ได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา

งานเผยแผ่

ประเพณีทำบุญปีใหม่ กลางวันเวลาเช้า มีการทำบุญตักบาตรและอวยพรปีใหม่ ในบริเวณเขตพุทธาวาส กลางคืนพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และเจริญชัยมงคลคาถา มีการแสดงธรรม ฟังธรรม สนทนาธรรมพุทธศาสนิกชนมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

ประเพณีทำบุญวันวิสาขบูชา วันอัฎฐมีบูชา วันอาสาฬหบูชา และ วันมาฆบูชา เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ เพราะเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พิธีกรรมต่างๆ กระทำขึ้นโดยมีพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ้งบรรจุอยู่ในองค์เจดีย์พระบรมธาตุเป็นประธานโดยมีการทำวัตรสวดมนต์ แสดงพระธรรมเทศนา ฟังธรรม สนทนาธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน พุทธศาสนิกชนที่มาร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสยิ่ง

ประเพณีทำบุญเข้าพรรษา วันแรมค่ำ 1 เดือน 8 เวลากลางวันพุทธศาสนิกชนนำดอกไม้ธูปเทียนมาถวายแก่พระภิกษุสามเณร และข้าวตอกมาถวายวัด วันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 พระภิกษุสามเถรในอำเภอไชยาทั้งหมด มาประชุมพร้อมกันทำวัตรนมัสการพระบรมธาตุไชยาแล้วเข้าประชุมในพระวิหารหลวง เพื่อทำวัตรพระเถระผู้ใหญ่ และมีการประชุมประจำปีโดยพร้อมเพรียงกัน

ประเพณีทำบุญวันสารทเดือน 10 ถือเป็นประเพณีประจำปีที่ชาวบ้านมาชุมนุมกัน ทำบุญที่วัดเป็นจำนวนมาก เพื่ออุทิศส่วนกุศลผลบุญ ให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว

ประเพณีทำบุญออกพรรษา ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เวลาเช้ามีการทำบุญตักบาตร เรียกว่า ตักบาตรเทโวโรหนะหรือตักบาตรดาวดึงส์แล้วมีพิธีแห่พระหรือชักพระ ชาวบ้านเรียกว่าลากพระ จากวัดพระบรมธาตุไชยา ไปสมโภชร่วมกับวัดพระประสพ ณ ที่ว่าการอำเภอไชยา ในขบวนแห่มีการแสดงของนักเรียน การแสดงจำอวดต่างๆของชาวบ้าน การสมโภชมีขึ้น 2-3 คืน แล้วจึงแห่พระกลับ

ประเพณีเทศน์มหาชาติ หรือเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดก ทางวัดจัดให้มีขึ้นในฤดูแล้ง ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน วันใดวันหนึ่ง ซึ่งโดยมากตรงกับวันธรรมสวนะอันเป็นประเพณีของชาวไชยามาแต่โบราณ

ประเพณีของคณะสงฆ์จังหวัดสุราษฎร์ธานีกับเจดีย์พระบรมธาตุไชยา โดยกำหนดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี คณะสงฆ์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปนมัสการพระบรมธาตุไชยา และได้ถือเป็นระเบียบมาถึงปัจจุบันนี้ และถือเป็นธรรมเนียมว่าพระสังฆาธิการได้รับพระราชทานแต่งตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์ใหม่จะต้องไปนมัสการเจดีย์พระบรมธาตุไชยาเป็นกรณีพิเศษ

งานสาธารณูปโภค

ทางวัดพระบรมธาตุไชยา ได้สร้างกุฏิใหม่ เปลี่ยนกุฏิเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมตามลำดับ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างหอสมุดประจำวัด เป็นอาคารเก่าถาวรและอุปกรณ์ที่จำเป็น สร้างหอฉัน สร้างศาลาการเปรียญแทนหลังเก่าที่ต้องรื้อออก เนื่องจากการสร้างกำแพงแก้วล้อมเขตพุทธาวาส ศาลาการเปรียญหลังนี้สร้างให้เป็นศาลาอเนกประสงค์ เป็นสถานที่สำหรับเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนและประกอบกิจกรรมทางศาสนา ตลอดจนเป็นที่พักอาศัยของสาธุชนต่างบ้านต่างเมือง ที่เดินทางมานมัสการพระบรมธาตุไชยา เรียกศาลาหลังนี้ว่าศาลา 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นอกจากนี้ได้สร้างศาลาบูรพาจารย์ขึ้นอีก 2 หลัง พระภิกษุสามเณรภายในวัดเป็นผู้มีความรับผิดชอบร่วมกัน ในการดูแลรักษาสมบัติของวัด กรณีที่จะทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ ถ้าเป็นวัตถุสำคัญภายในเขตุพุทธาวาส เช่น องค์เจดีย์พระบรมธาตุไชยา ทางวัดจะต้องแจ้งให้กรมศิลปากรทราบเพื่อทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อไป ส่วนในเขตสังฆาวาส การก่อสร้างหรือการซ่อมแซมเล็กๆน้อยๆ ทางวัดจัดการบูรณะเสียเอง หรือมีช่างผู้ชำนาญจัดการก่อสร้างและซ่อมแซมให้

จากหนังสือ: ประวัติวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร
แต่งโดย: พระราชสุธรรมเมธี เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยา 5 ธันวาคม 2542

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น