วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561

วัดเสมาชัย

วัดเสมาชัย ปัจจุบันเป็นวัดร้างตั้งอยู่ภายในโรงเรียนเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คือหลวงพ่อเสมาชัยและเจ้าแม่อ่างทอง

วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตำนานพระเจ้าชู้เมืองนคร

พระองค์นี้มีตำนาน ... ตำนานคือเรื่องเล่า

ตำนานพระเจ้าชู้เมืองนคร เล่ากันว่าเคยแปลงเป็นชายหนุ่มหัวโล้นไปบ้านหญิงสาวในตอนกลางคืน แล้วโดนฟันแขนขวาด้วยดาบ ตอนเช้าเมื่อตามรอยเลือดมา รอยเลือดมาที่ในวัดพระธาตุ รอยเลือดมาหยุดที่ตรงหน้าพระองค์นี้ แขนขวาของพระก็ขาดหายไป หลังจากนั้นก็ทำพิธี มัดพระกับเสาด้วยจีวร เอาดาบเล่มที่ฟันพระปักลงจากเศียรถึงพื้น เรื่องราวจึงเงียบลง

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561

วัดโทลิง (Tholing Monastery)

วัดโทลิง (Tholing Monastery) เขตงารี เขตปกครองตนเองทิเบต สร้างขึ้นในปี 997 ตั้งอยู่ที่ระดับความสูงถึง 3,800 เมตร เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอารามที่ตั้งอยู่สูงและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของชาวพุทธ เขตนี้เป็นดินแดนของอาณาจักกูเกอ อาณาจักรเอกเทศของชาวทิเบตทางภาคตะวันตก มีศิลปะวัตถุที่ล้ำค่ามากมาย โดเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังที่ยังคมชัดและสมบูรณ์


วัดแห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของท่านอตีศะ ผู้ฟื้นฟูพุทธศาสนาระลอกที่ 2 ในทิเบต จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อประวัติศาสตร์พุทธศาสนา

ภาพโดย Dieter Schuh และ Own work Jean-Marie Hullot
4

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

โบราณสถานหมายเลข ๑ เขาพระนารายณ์ (เขาศรีวิชัย)

โบราณสถานหมายเลข ๑ เขาพระนารายณ์ (เขาศรีวิชัย)


เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๑๘ เมตร มีมุขทั้งสี่ทิศ มุขด้านเหนือจะเป็นทางเข้าหลัก มีอาคารบริวาร อยู่ทางซ้ายและขวาของมุขทางเข้าด้านเหนือ

สันนิษฐานว่า อาจเป็นเทวาลัยสำหรับประดิษฐานเทวรูป

แนวขอบพื้นที่โบราณสถาน เขาพระนารายณ์(เขาศรีวิชัย

เขาพระนารายณ์(เขาศรีวิชัย) แนวขอบพื้นที่โบราณสถานที่เกิดจากการนำก้อนหินมาวางเรียงกันเพื่อปรับพื้นที่ของคนสมัยโบราณ

เศษภาชนะดินเผาพบบนเขาพระนารายณ์

เศษภาชนะดินเผาที่พบบนเขาพระนารายณ์(เขาศรีวิชัย) มีพวยกากับพวกถ้วยดินเผา ผมนึกถึงสมัยที่ไปอินเดียจะมีกองดินเศษภาชนะดินเผาพวกนี้อยู่มากมาย เนื่องมาจากระบบวรรณะ ที่เคร่งครัด จะใช้ภาชนะร่วมกัน ทำพิธีร่วมกันไม่ได้ ถ้วยดินเผาเมื่อใช้แล้ว จะขว้างลงพื้นให้แตก จะได้ไม่เอามาใช้อีก


วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เล่าไว้กันลืม

ช่วงนี้ผมวิ่งส่งมังคุดทุกวัน ในเมืองช่วงเย็นรถจะติดพอสมควร ครั้งหนึ่งรถติดแถวหน้าวัดใหญ่ในตลาด ตรงข้ามวัดมีบ้านไม้สองชั้นปิดตาย ที่ผุพังไปตามกาลเวลา

บ้านหลังนี้ราวปี 252× เป็นร้านขายของชำ มีของขายมากมายเพราะอยู่ในตลาดใกล้ ๆ แม่น้ำ สมัยนั้นคนเดินทางด้วยเรือกันมาก ถนนหนทางยังเข้าไม่ถึงทุกที่ ร้านค้าใกล้แม่น้ำจึงดูคึกคักกว่าร้านที่อยู่ในเมืองเข้ามา

วันหนึ่งแม่ให้เงินผมกับน้องไปซื้อขนม 5 บาท ผมกำเหรียญห้า พาน้องชายเดินเข้าร้าน เพื่อไปเลือกดูขนมที่ดูสีสดใสกว่าขนมแถวบ้าน พอเข้าในร้านยังไม่ทันจะดูอะไร เจ้าของร้านผู้ชายที่นั่งอยู่ด้านในร้าน ตะโกนออกมาว่า

"ไป ๆ ร้านนี้ไม่มีของ บาท สองบาท"

ตอนนั้นถึงผมจะยังเด็ก ก็ยังรู้สึกไม่ดี สภาพของเราเป็นเด็กต่างอำเภอ มอมแมม เขาคงคิดว่าจะมาขโมยของเขาหรือเปล่า อยากจะออกไปจากร้าน แต่น้องชายก็หยิบของมาให้ผมจ่ายเงินแล้ว

หลังจากนั้นผมไม่กล้าไปที่ร้านนี้อีกเลย

เวลาผ่านไปยี่สิบกว่าปี ผมทำงานต้องผ่านแถวนั้นเป็นประจำ ร้านนี้ก็ยังอยู่นะ แต่เล็กลงไปมาก มืด ๆ ทึม ๆ มีขนมไม่กี่อย่างอยู่ในถาดตั้งบนโต๊ะหน้าร้าน มีกล้วย แก่ ๆ ขายบ้างเป็นบางวัน

สิบปีที่แล้วประตูร้านปิดถาวร จนถึงวันที่ผมผ่านมาอีกครั้ง สภาพบ้านไม้ผุพัง ไม่มีอะไรที่น่ามอง แต่ผมกลับได้ยินเสียงผู้ชายเจ้าของร้านดังก้องในหัวอย่างชัดเจน

"ไป ๆ ร้านนี้ ไม่มีของ บาท สองบาท"

ผมขับรถส่งมังคุดเสร็จ จอดรถหน้า 7 - 11 ซื้อโค้กขวดใหญ่กับขนมกลับบ้าน เพื่อกินรอบดึกตอนทำงานกลางคืน

"ขอบคุณค่ะ" กับรอยยิ้มของพนักงาน 7 - 11 ทำให้ผมลืมเสียงของชายเจ้าของร้านชำในวัยเด็กไปได้อีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะได้ยินเสียงใครพูดถึงคำว่า

"ทุนนิยม"

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เรืองเล่าจากยอดดอย 4

เรืองเล่าจากยอดดอย 4


เราได้รู้จักพื้นที่บนดอยทั้งป่าต้นน้ำและที่อยู่อาศัยไปแล้ว เรามารู้จักพื้นที่อีกส่วนหนึ่งกันต่อดีกว่าครับ พื้นที่สาธารณะ คือพื้นที่ใช้งานร่วมกัน เช่น โรงเรียน โบสถ์คริสต์ วัด ป่าช้า หรือที่เรียกว่า ป่าเฮ้ว

พื้นที่เหล่านี้จะเป็นที่รวมของชาวบ้านเวลามีกิจกรรมต่าง ๆ แต่ก็แบ่งออกมาจากพื้นที่อยู่อาศัย ไม่ได้ไปรุกป่าเพิ่มเพื่อสร้างบ้าน สร้างส่วนราชการแต่อย่างใด

จากที่เราเห็นบ้านเรือนบนดอย จะอยู่ติดกันมาก ทำให้ต้นไม้ก็มีน้อยลงไปด้วย เมื่อต้นไม้มีน้อย การที่จะมีผลไม้ตามฤดูกาลกินเหมือนคนพื้นราบก็น้อยลงไปด้วยเช่นกัน

พื้นที่สาธารณะจะมีต้นไม้อยู่มาก มีมะม่วง หมาก มะพร้าว พอให้ได้แบ่งกันกิน แต่ก็ไม่เพียงพอหรอกครับ ดังนั้นเมื่อมีพื้นที่สาธารณะส่วนที่จัดสร้างสำนักสงฆ์ หลวงพ่อจึงปลูกต้นไม้มากมาย มะม่วง กล้วย ขนุน เพื่อให้เป็นร่ม และแหล่งอาหารในอนาคต

พื้นที่สาธารณะ แบ่งสัดส่วนชัดเจน ไม่ต้องกลัวว่าชาวบ้านบนนี้จะมาบุกรุก ขยับหลักเขตเหมือนด้านล่าง เวลามีงาน มีของมาแจก ก็จะทำกันในพื้นที่ตรงนี้

เวลามีการก่อสร้าง การพัฒนา พื้นที่สาธารณะ ชาวบ้านจะมาช่วยกันทั้งหมด ไม่แบ่งแยกว่า พุทธหรือคริสต์ เป็นความปรองดองที่ไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย ความสามัคคีของคนบนนี้ สมควรเป็นอย่างยิ่งที่บางพื้นที่ต้องมาดูงาน

คราวหน้าจะเล่าเรื่องที่หลายคนสงสัยกันมาก คือเรื่องพื้นที่ทำกิน และทำไมคนบนนี้ต้องเผาไม้ เผาหญ้าเดี๋ยวว่าง ๆ จะมาเล่าให้ฟังครับ

เรื่องเล่าจากยอดดอย 3

เรื่องเล่าจากยอดดอย 3


ทุกครั้งที่ผมขึ้นดอยจะได้เจอ ไอ้หนุ่มสายซิ่งบนดอยคนนี้ เจ้าของรถโฟร์วีลยี่ห้อโตโยต้า ที่พาเราขนของขึ้นไปแจกชาวบ้าน

รถของเขามีเอกลักษณ์ตรงที่ใช้แตรเสียงดัง เหมือนแตรลมของรถดีเซลราง เวลาเราขับขึ้นดอย ลงดอย เจอทางโค้งจะบีบแตรให้สัญญาณกัน เสียงแตรรถคันนี้จะดังมาก จนมั่นใจได้ว่าคนที่ขับสวนลงมาต้องได้ยิน

ผมเคยถามคนแถวนี้ว่าทำไมใช้แต่โตโยต้า เขาตอบว่า
"อีซูซุ มันไม่สู้ดอยครับ" ... ไม่รู้จริงหรือเปล่า


"หน่อก๊วย" เป็นชื่อของเขา เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่ากระแต หรือ กระรอก ดังนั้นชื่อไทยของเขาเลยชื่อกระรอกไปด้วย เขาขับรถได้คล่องแคล่ว เหมือนรู้ทุกเส้นทางบนนี้ และคล้าย ๆ จะรู้จักคนแทบทุกหมู่บ้าน

บ้านของ หน่อก๊วย ไม่ได้อยู่ที่กอมูเดอ แต่อยู่ที่แม่ปอง พอหลวงพ่อมาสร้างสำนักสงฆ์ที่กอมูเดอ หน่อก๊วย ก็มาอยู่ช่วยงานหลวงพ่อที่นี่

หน่อก๊วย ผูกเปลนอนอยู่ในโรงครัว ไม่ไกลจากกุฏิหลวงพ่อ ห่างกันพอที่จะได้ยินเสียงเวลาหลวงพ่อเรียกใช้

"หน่อก๊วย" ... ไฟดับ
"หน่อก๊วย" ... น้ำร้อนหน่อย
"หน่อก๊วย" ... น้ำไม่ไหล

และอีกมากมาย ช่วงเช้าหลังจากจัดอาหารถวายหลวงพ่อแล้ว หน่อก๊วย กับ เพื่อน ๆ จะขึ้นไปเลื่อยไม้ที่ตาย ล้มอยู่บนเขาด้านหลัง ช่วยกันแบก หาม ลากกันลงมา เพื่อสร้างศาลา เป็นประจำทุกวัน

วันไหนหลวงพ่อให้ไปเอาของในเมืองก็ให้หน่อก๊วยขับรถลงไป สลับกันกับวิโรจน์และพี่ตู่


เมียของหน่อก๊วย เย็บผ้าเก่ง ย่ามที่ให้พวกเรามา ใบที่เมียหน่อก๊วยเย็บเอง ฝีมือละเอียดมาก จนผมต้องขอไว้ใช้เอง เมียหน่อก๊วยชื่ออะไรผมจำไม่ได้ซักที แต่ก็มาช่วยทำกับข้าว ดูแลพวกเราและทีมงานที่ขึ้นมาทุกคนอยู่เสมอ

วันนี้เลยบันทึกความทรงจำไว้ซักหน่อย เพื่อไว้ระลึกถึงชาวดอยที่มีน้ำใจสองคนนี้ ก่อนจะเล่าเรื่องอื่นต่อไป

เรื่องเล่าจากยอดดอย 2

เรื่องเล่าจากยอดดอย 2


ตอนที่แล้วว่ากันถึงเรื่องป่าอนุรักษ์ ป่าต้นน้ำไปแล้ว ส่วนที่สอง ที่จะมาเล่าให้ฟังคือ ที่อยู่อาศัย ส่วนนี้จะอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน เคยมีแค่ไหนก็มีแค่นั้น ไม่ขยายออกไปเพิ่ม ... บ้านเพิ่มได้แต่เนื้อที่เท่าเดิม

การสร้างบ้านใหม่ แบ่งที่ให้ลูกให้หลานก็ทำได้เฉพาะที่เดิม บ้านไหนลูกมากพื้นที่ก็เหลือน้อยลง ถ้าไม่ซื้อสิทธิ์ ซื้อที่ของเพื่อนบ้านไว้

เราจึงได้เห็นบ้านบนนี้อยู่ติดกันมาก ๆ ชนิดที่ไก่บินไม่ตกถึงดิน ดังนั้นบ้านไหนอยู่กันมาก ก็ต้องแบ่งไปนอนในไร่ ส่วนพื้นที่ทำกิน ที่จะเล่าต่อไปวันหลัง

บ้านของคนที่นี่ สร้างด้วยไม้ เสาต้นใหญ่ ที่มีราคาสูงด้านล่าง แต่บนนี้ไม่แพง ไม้ที่เอามาสร้าง เป็นไม้ในส่วนที่ล้มในพื้นที่ทำกิน เอาใช้ได้เฉพาะบนนี้ แต่เอาลงไปขายด้านล่างไม่ได้ มีด่านทหาร ตำรวจตั้งอยู่เป็นระยะตลอดทาง

ด้วยความที่พื้นที่อยู่มีน้อย การเลี้ยงสัตว์ต้องเลี้ยงบริเวณบ้าน ใต้ถุนบ้าน หมู ไก่ จะเดินอยู่ทั่วไป เคยขอซื้อหมูที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ แต่เขาไม่ขาย บอกว่าเอาไว้เวลาทำพิธี มัดมือ ผูกมือ ต้องมีติดบ้านไว้ ถ้าต้องใช้แล้วไม่มี จะไม่ดีต่อตัวเขาเอง

บนนี้เวลาลูกหลานกลับบ้าน ออกจากบ้าน เขาจะผูกข้อมือ ทำขวัญกัน หรือเวลามีเรื่องไม่ดี ใครฝันร้าย ก็จะทำพิธีมัดมือ ผูกมือ ล้มหมู เชือดไก่กินกัน

บางที มัดมือกันจนหมูเกือบหมดหมู่บ้าน

เมื่อมีป่าอนุรักษ์ มีที่อยู่อาศัย ความจำเป็นที่ต้องมีคือ พื้นที่สาธารณะ ส่วนรวม และ ที่ดินทำกิน เดี๋ยวว่าง ๆ จะมาเล่าให้ฟังอีกทีครับ

เรื่องเล่าจากยอดดอย 1

เรื่องเล่าจากยอดดอย 1


หลายปีก่อนผมเคยสงสัยว่า ทำไมบนเขาตรงนี้ไม่มีต้นไม้ ชาวเขาทำลายป่าจริงหรือ แล้วเขาเผาป่าทำไมจนได้ขึ้นมาใช้ชีวิตบางช่วงอยู่บนดอย ได้ไปหลายหมู่บ้าน สอบถามพูดคุยกับชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ครู และเด็ก ๆ บนนั้น ทำให้เข้าใจแล้วว่า บนนี้เขาใช้ชีวิตกันอย่างไร

บนดอยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นสี่ส่วน ตามที่เจ้าหน้าที่มาแบ่งปันที่ดิน ให้คนกับป่าอยู่ร่วมกัน โดยส่วนแรกจะเป็นป่าต้นน้ำ ที่ห้ามบุกรุกเด็ดขาด บริเวณนี้ต้นไม้ใหญ่ มีอยู่มากมาย สัตว์ป่าชุกชุม มีงูจงอางขนาดใหญ่ อาศัยอยู่เป็นคู่ ให้ชาวบ้านต้องถอยห่างจากบริเวณนั้นอยู่หลายที่

ชาวกะเหรี่ยงถือสัจจะ เขากลัวการผิดคำพูด เขาถือผีบรรพบุรุษ พี่ตู่ ป่าไม้แม่สะเรียง บอกผมว่า ถ้าป่าไหนที่เราปลูก เราบวชต้นไม้ เขาจะไม่ยุ่งเลย เขากลัว แต่คนเมืองล่าง ไม่กลัว เราบวชป่า นายทุนมาจับสึก ล้มไม้ออกไปเสียมากมาย

บริเวณป่าต้นน้ำ จึงยังคงสภาพเป็นป่าดิบ มีน้ำตกสวย ๆ อยู่มากมายที่คนภายนอกยังไม่ได้เข้ามาเห็น ที่บ้านกลอเซโล ถ้าเราเดินไปตามแนวป่า ไปอีกประมาณสองชั่วโมง เราจะเจอน้ำตกที่สวยงามมาก น้ำตกแห่งนี้เคยถ่ายทำโฆษณาเหล้ารีเจนซี่เมื่อหลายปีก่อน

ป่าอนุรักษ์ จะมีระยะห่างจากลำธารสาธารณะ และลำห้วยไปตลอดแนว รวมถึงพื้นที่หวงห้ามที่กำหนดโดยทางราชการ มีการปักหมุด พิกัด GPS ไว้ชัดเจน

ในทุกปีก่อนฤดูฝน จะมีเฮลิคอปเตอร์ ของป่าไม้ บินขึ้นสำรวจทุกยอดดอย ใช้แผนที่ทางอากาศ ระบุตำแหน่งเปรียบเทียบกับพื้นที่ด้านล่าง ถ้าไม่มีการบุกรุกจะเป็นสีเขียว ถ้ามีการรุกล้ำ จะขึ้นเป็นสีแดง เจ้าหน้าที่จะทำการจับกุมผู้บุกรุก ดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป

นี่คือการอนุรักษ์พื้นที่ ในส่วนที่ 1 เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้โดยสงบ พึ่งพิงกัน โดยไม่ต้องทำลายผืนป่าเพิ่มเติม อีกสามส่วนที่จัดแบ่งไว้ คือ ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่สาธารณะ จะมาเล่าให้ฟังในตอนต่อไปครับ

ก๋วยเตี๋ยวโบราณเจ๊บล เกาะสมุย

ก๋วยเตี๋ยวโบราณเจ๊บล เกาะสมุย


มาเกาะสมุย เพื่อกินข้าวผัดหมูแดงกับก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ที่อร่อยมาก บนฝั่งหาร้านที่ผัดข้าวแดงแบบนี้ได้ยากแล้ว ขอบคุณเจ้าภาพ มารับที่ท่าเรือ พาไปกินแล้วกลับมาส่งขึ้นเรือกลับบ้าน

ยักษ์ วัดพระธาตุจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

ยักษ์ วัดพระธาตุจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

ก๋วยเตี๋ยวเป็ดข้าวขาหมูไร่ทุ่ง

ก๋วยเตี๋ยวเป็ดข้าวขาหมูไร่ทุ่ง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ต้มเลือดหมู เกาเหลาปลา ตลาดแม่สะเรียง

ต้มเลือดหมู เกาเหลาปลา ตลาดแม่สะเรียง

ร้านกาแฟภูสะเรียง ริมห้วยแม่สะเรียง

ร้านกาแฟภูสะเรียง ริมห้วยแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน