พระเจ้าพรหมมหาราช หรือ พระเจ้าพรหมกุมาร
พระเจ้าพรหมมหาราช จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เป็นราชบุตรของพระเจ้าพังคราช ครองเมืองโยนกชัยบุรี (โยนกชัยบุรีราชธานีศรีช้างแสน) ราว พ.ศ. 1480 ถึง พ.ศ. 1541 ซึ่งเป็นเมืองในลุ่มแม่น้ำกก แต่มีหลักฐานท้องถิ่นระบุว่าพระองค์ประสูติใน พ.ศ. 1655 ที่เวียงสี่ตวง (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) และสิ้นประชมน์ใน พ.ศ. 1732 (พระชนมมายุ 77 พรรษา มีพระชนมมยุในช่วง พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่ครองราชย์ใน พ.ศ. 1656- พ.ศ. 1693 จนถึงตอนต้นของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ครองราชย์ใน พ.ศ. 1724- พ.ศ. 1762 ในยุคพระนครของกัมพูชา ) พระองค์มีพระปรีชาสามารถด้านการรบ สามารถตีเอาเมืองโยนกชัยบุรี คืนได้จาก พญากลอมดำ (ขอมดำ จากเมืองอุโมงคเสลา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ที่ครองราชย์ใน พ.ศ. 1633- พ.ศ. 1650 ในยุคพระนครของกัมพูชา ) ซึ่งยกทัพมาชิงเมืองโยนกในสมัยพระเจ้าพังคราช (พระบิดาของพระเจ้าพรหมมหาราช) เมื่อตีเอาเมืองโยนกคืนได้ ยังทรงยกทัพไล่ต้อนทัพพญากลอมดำ ลงมาถึงใกล้เขตแดนลวรัฐ (ที่บริเวณเมืองแปบ ซึ่งคือเขตเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน) ก็ทรงเลิกทัพกลับไป และทรงคืนโยนกชัยบุรีให้พระบิดา ส่วนพระองค์ ขยับลงมาสร้างเมืองทางตอนใต้ไม่ห่างกันมาก และตั้งชื่อว่าไชยปราการ และทรงครองที่เมืองนี้ตลอดพระชนม์ชีพ นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานอีกว่าภาพสลักนูนต่ำที่นครวัดในห้องภาพที่ชื่อว่าเสียมกุก อาจหมายถึง กองทัพชาวสยามที่มาจากลุ่มแม่น้ำกก แห่งเมืองโยนก แม่ทัพสยามที่ประทับบนหลังช้างทรงนั้นคือพระเจ้าพรหมมหาราชนั้นเอง ด้วยเหตุที่พระองค์เข้าเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แห่งเมืองพระนคร เพื่อร่วมโจมตีอาณาจักรจามปาใน พ.ศ. 1687 จนได้รับชัยชนะเป็นพระเกียรติยศขณะที่พระชนมายุได้ 32 พรรษา
พระราชประวัติ
พระเจ้าพรหมมหาราช (พระพรหมกุมาร) เป็นโอรสองค์ที่ 2 ของพระเจ้าพังคราช พระองค์เสด็จครองเมืองเวียงไชยปราการ เมืองหน้าด่านแห่งราชอาณาจักรโยนกในขณะที่ทรงเจริญพระชนมายุได้ 19 พรรษา ใน พ.ศ. 1674 พระพรหมอุปราชแห่งอาณาจักรโยนกนคร เชียงแสน ทรงทำการกอบกู้เอกราชขยายอาณาเขต อยู่เป็นประมาณ 3 ปี เศษ จึงทรงสร้างเมืองขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ทรงขนานนามว่า “ไชยปราการ” และทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ มีเมืองชะเลียง (สวรรคโลก) เป็นเมืองหน้าด่านใต้ ประชิดอาณาเขตขอม และทรงสถาปนาเมืองหริภุญไชย ซึ่งเคยเป็นของละว้าและขอมมาก่อน เป็นหัวเมืองเอก พระองค์เป็นมหาราชผู้ประเสริฐพระองค์นี้ ได้ทำนุบำรุง บ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าแต่ก่อนทุก ๆ ด้าน เป็นอันมากในการปรปักษ์รักษาบ้านเมืองให้อยู่รอด มีความมั่นคงแข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับอริราชศัตรู พระองค์ทรงเสริมสร้างป้อมคูประตูหอรบ ขยายอาณาเขตให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ในรัชสมัยของพระเจ้าพรหมมหาราชทรงครองราชย์อยู่ ณ เมืองไชยปราการนั้น บ้านเมืองในแว่นแคว้นโยนกเจริญรุ่งเรืองเต็มไปด้วยความวัฒนาผาสุก พระเกียรติยศของพระองค์รุ่งเรืองปรากฏไปทั่วทุกทิศ ในสมัยที่พระองค์ทรงถือกำเนิดนั้น คือใน พ.ศ. 1461 พระเจ้าพังคราชพระราชบิดาและพระมเหสีผู้เป็นมารดาของพระองค์ต้องถูกพวกขอมเนรเทศให้ออกจากอาณาจักรโยนกไปอยู่เมืองเล็กเมืองหนึ่ง เมืองนี้มีชื่อว่า “เวียงสีทวง” (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ใกล้ ๆ ชายแดนพม่าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านปางห่าประมาณ 6 กิโลเมตร มีชื่อใหม่ว่า “บ้านเวียงแก้ว” แต่เดิมเรียกว่า “สี่ตวง” เป็นเมืองออกของไทย ปกครองโดยพวกลัวะ พอถึงปีที่ต้องนำทองคำสี่ตวงลูกมะตูมมาส่งให้เป็นบรรณาการ นานเข้าเรียกเพี้ยนเป็นเวียง “สี่ตวง” ) เมื่ออยู่เวียงสี่ตวงได้ 1 ปี ก็ได้พระราชโอรสองค์แรกจะเป็นด้วยกำลังอยู่ในระหว่างตกทุกข์ได้ยาก จึงได้ตั้งพระนามพระโอรสว่า “ทุกขิตราชกุมาร” ครั้นอยู่ต่อมาอีกสองปี จึงได้พระราชโอรสองค์ที่สองนี้ เมื่อประสูติออกมานั้นมีพระวรกายงดงามทรงตั้งพระนามว่า “พรหมราชกุมาร” พระองค์ประสูติในวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 6 เหนือ (คือเดือน 4 ใต้) ปีมะเส็ง พ.ศ. 1461 ขณะที่พระมเหสีทรงครรภ์ราชโอรสองค์นี้ได้ 7 เดือน ได้กราบทูลพระสวามีว่า ขอให้นำเอาศาตราวุธมาให้ดูว่ามีอะไรบ้าง ที่ใช้ในราชการสงคราม พระสวามีก็แสวงหามาตกแต่งไว้ในห้องให้พระมเหสีทอดพระเนตรทุกวัน ในที่สุดก็ประสูติพระราชโอรส
ตามตำนานได้กล่าวถึงอิทธิปาฏิหาริย์อันเกิดจากพระองค์ว่า เมื่อพระชนม์ได้ 7 พรรษาก็ทรงชอบเรียนวิชาเพลงอาวุธและตำรับยุทธวิธีสงคราม เมื่อพระราชกุมารทรงพระเจริญวัยขึ้นมีพระชนม์ 13 พรรษา คืนหนึ่งทรงพระสุบินว่ามีเทวดามาบอกพระองค์ว่า ถ้าอยากได้ช้างเผือกคู่พระบารมีสำหรับทำศึกสงครามแล้วไซร้ วันพรุ่งนี้ตอนเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นให้ออกไปที่ฝั่งแม่น้ำโขง แล้วคอยดูจะมีช้างเผือกล่องน้ำมาตามแม่น้ำโขง 3 ตัวด้วยกัน ถ้าจับได้ตัวใดตัวหนึ่งก็จะใช้เป็นพาหนะทำศึกสงคราม ถ้าจับได้ตัวที่หนึ่งจะปราบได้ทั้งสี่ทวีป ถ้าจับได้ตัวที่สองจะปราบได้ทั่วชมพูทวีป ถ้าจับได้ตัวที่สามจะดินแดนแคว้นล้านนาไทยได้ทั้งหมด สิ้นสุบินนิมิตรแล้ว เจ้าพรหมราชกุมารตื่นจากบรรทม ไม่ทันสรงพระพักตร์ไปเรียกมหาดเล็กของท่าน ซึ่งเป็นลูกทหารแม่ทัพนายกองจำนวน 50 คน ให้ไปตัดไม้รวกเป็นขอตามคำเทวดาบอก ให้ใช้ขอไม้รวกและเกาะคอช้างจะได้ลากขึ้นฝั่ง แล้วพากันไปที่ฝั่งแม่น้ำโขง พอได้สักครู่ใหญ่ ๆ ท้องฟ้าก็สว่าง ในขณะนั้นมีงูใหญ่ตัวหนึ่งสีเหลืองตัวใหญ่โตประมาณ 3 อ้อม ยาว 10 กว่าวา ลอยมาตามแม่น้ำโขง เข้ามาใกล้ฝั่งที่พระองค์และมหาดเล็กอยู่นั้น เจ้าพรหมราชกุมารและมหาดเล็กเห็นเข้าก็ตกใจกลัวมิอาจเข้าไปใกล้ได้ เจ้างูนั้นก็เลยล่องผ่านไป พออีกสักครู่ใหญ่ ๆ ก็มีงูลอยตามน้ำมาอีกแต่ตัวเล็กกว่าเก่า ขนาดก็สั้นกว่าตัวเก่าเป็นงูอย่างเดียวกันก็ลอยล่องไปอีก เจ้าพรหมราชกุมารไม่กล้าทำอะไร พอตัวที่สองนี้ผ่านไปได้ครู่ใหญ่ ๆ ก็นึกว่าเทวดาบอกว่าจะมีช้างเผือกลอยมา 3 ตัว ไม่เห็นช้างเผือกลอยมาสักตัวเห็นแต่งูลอยมาสองตัวแล้ว ถ้าหากว่ามีอีกตัวหนึ่งต้องเป็นช้างเผือกแน่ ตัวที่สามนี้อย่างไรก็ต้องเอาละเพราะเป็นตัวสุดท้ายแล้ว พอเจ้างูตัวที่ 3 ลอยมา เจ้าพรหมก็ลงน้ำและบุกน้ำลงไป ไปถึงก็เอาไม้รวกเกาะคองูนั้น พอขอไม้รวกเกาะคองู งูก็แปรสภาพเป็นช้างเผือกทันที มหาดเล็ก 50 คน ก็ช่วยกันเอาขอไม้รวกเกาะคอช้างจะเอาขึ้นฝั่งทำอย่างไรมันก็ไม่ยอมขึ้นฝั่ง เดินไปเดินมา อยู่ในน้ำนั่นเอง เจ้าพรหมราชกุมาร ก็ใช้ให้มหาดเล็กไปกราบทูลพระราชบิดาว่าได้ช้างเผือกแล้ว แต่ไม่ยอมขึ้นฝั่ง เมื่อพระเจ้าพังคราชทรงทราบเช่นนั้นก็เรียกโหรหลวงมาถาม โหรหลวงก็ทูลว่า ให้เอาทองคำประมาณยี่สิบตำลึงมาตีพางอันหนึ่ง (พางคือระฆังหรือกระดิ่งผูกคอช้าง) แล้วบอกว่าให้พระราชโอรสองค์ใหญ่เอาพางไปที่ฝั่งแม่น้ำ และเอาไม้ตีพางเข้าพอพางดังช้างจะขึ้นฝั่งเอง พระเจ้าพังคราชก็มีรับสั่งให้ทำพางขึ้นและนำไปที่ฝั่งแม่น้ำโขง และไม้เคาะที่พางก็มีเสียงดังเหมือนระฆัง ช้างก็ขึ้นมาจากฝั่ง เจ้าพรหมกุมารก็นำช้างเข้าเมือง พระราชบิดาก็สร้างโรงช้างเผือกเข้าเลี้ยงบำรุงไว้ที่นั่น ช้างก็เลยได้ชื่อว่า “ช้างเผือกพางคำ” แล้วเจ้าพรหมกุมารก็ได้โปรดให้สร้างเมืองขึ้นที่นั่น โดยขุดคูเอาน้ำจากแม่น้ำสายมาเป็นคูเมืองและให้ชื่อว่า “เมืองพานคำ” ( ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายตรงที่สำนักงานไร่ยาสูบ อ.แม่สายในปัจจุบัน ) และทรงใช้เวียงพานคำนี้เป็นแหล่งชุมนุมไพร่พล เพราะเวียงพานคำมีอาณาเขตเป็นที่ราบกว้างอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารเหมาะแก่การประชุมพล
นับแต่นั้นมา พระองค์ก็ฝึกซ้อมทหารให้ชำนาญในยุทธวิธี และสะสมเครื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้มากมาย ทรงทราบว่าบ้านเมืองของพระองค์เป็นประเทศราชของขอม พระบิดาต้องส่งส่วยให้ขอมทุกปี ก็ทรงพระดำริที่จะกอบกู้เอกราช โดยประกาศแข็งเมืองไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่กษัตริย์ขอมดำ การสงครามระหว่างไทยกับขอมดำก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ปรากฏว่า คราวนี้ขอมพ่ายแพ้ และตีหัวเมืองที่อยู่ในอำนาจของขอมกลับคืนหมด จากนั้นพระเจ้าพรหมราชกุมารก็ทรงดำริต่อไปว่า หากปล่อยให้ขอมดำมีถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่อาณาเขตติดต่อกันเช่นนี้ ไม่ช้าสงครามก็จะเกิดขึ้นอีก และถ้าเผลอก็จะตกเป็นทาสของขอมอีก พระองค์จึงทรงประกาศอิสรภาพของชาติไทย ใน พ.ศ. 1497 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่อาณาจักรโยนกหรือโยนกนาคพันธ์ ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของขอมมาเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งเมื่อพระองค์แข็งเมืองขึ้นนั้นก็เป็นเหตุให้พวกขอมยกทัพใหญ่มาเพื่อจะทำการปราบปราม ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 16 พรรษาเท่านั้น แต่ด้วยความรักชาติบ้านเมือง รักในความเป็นอิสรเสรี และด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าของพระองค์ในที่จะปลดแยกอาณาจักรโยนกออกจากการปกครองของพวกขอม พระองค์จึงยกกองทัพใหญ่ไล่จับพวกขอมที่เป็นชายฆ่าเสียเกือบหมด พวกที่รอดตายไปได้ คือพวกที่มาทางใต้ พระเจ้าพรหมฯ ตั้งพระทัยที่จะทำลายพวกขอมให้หมดสิ้น เป็นการขับไล่ชนิดที่เรียกว่า “กวาดล้าง” เพราะพวกขอมมีหลายหัวเมืองด้วยกัน เช่น เมืองหริภุญชัย เมืองสุโขทัย เมืองละโว้ เมืองศรีสัชชนาลัย เมื่อขับไล่มาถึงเมืองศรีสัชชนาลัยแล้วกษัตริย์ขอมดำที่เป็นเจ้าเมืองศรีสัชชนาลัยไม่กล้าสู้ ยอมแพ้และยอมถวายพระราชธิดาองค์หนึ่ง
ด้วยการรบอย่างรุนแรง เพื่อจะขจัดอิทธิพลของพวกขอมนั่นเอง ในตำนานโยนกจึงได้กล่าวถึงปาฏิหาริย์ที่จะยับยั้งมิให้พระองค์ทำการรุกไล่พวกขอมต่อไปว่า ร้อนถึงพระอินทร์เจ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เล็งทิพย์เนตรมาเห็น ถ้าไม่ไปช่วยไว้ ขอมจะต้องตายหมด ชีวิตมนุษย์ก็จะเป็นอันตรายมากจำต้องช่วยป้องกันไว้ จึงมีเทวองค์การสั่งให้พระวิศณุกรรมเทพบุตรลงไปเนรมิตรกำแพงแก้ว ก็หยุดเพียงแค่นั้น ไม่ได้ไล่ตามต่อไป ที่ตั้งกำแพงแก้วนี้ ต่อมาเกิดมีเมืองขึ้นเมืองหนึ่งมีชื่อว่า “เมืองวชิรปราการ” แปลตามพยัญชนะว่า “กำแพงเพชร” คือจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบันนี้ ข้อความในตำนานนี้พอจะสันนิษฐานได้ว่าเมื่อพระเจ้าพรหมลุกไล่พวกขอมลงไปทางใต้เป็นระยะทางไกลพอสมควรแล้ว ทรงเห็นว่าพวกขอมที่แตกพ่ายไปอย่างไม่เป็นกระบวนนั้น คงไม่สามารถที่จะรวมกำลังยกกองทัพมารวบกวนได้อีก และประกอบกับบรรดาไพร่พลของพระองค์อิดโรยอ่อนกำลัง เพราะทำการสู้รบติดพันกันเป็นเวลานานถึง 1 ปีเศษ ได้อาณาเขตกว้างขวางมากอยู่พอแล้ว มีพระราชประสงค์จะหยุดพักไพร่พลเสียบ้างจึงได้ยกกองทัพกลับมายังบ้านเมือง คืออาณาจักรโยนกนคร ครั้นพระเจ้าพรหมเสด็จมาถึงโยนกนครแล้วก็ทรงอัญเชิญให้พระเจ้าพังคราชพระราชบิดาเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติในนครโยนกตามเดิมและให้เจ้าทุขิตราชกุมารพระเชษฐาเป็นมหาอุปราช แต่ทรงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เมืองชัยบุรี” เพราะว่าที่ตีมานี้ได้ชัยชนะ ( บางทีเรียกว่า “ชัยบุรีเชียงแสน” หรือไม่ก็เรียกว่า “เมืองเชียงแสนชัยบุรี” ) นอกจากนั้นพระเจ้าพรหมฯ กับพระราชบิดายังช่วยกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นแห่งหนึ่งในราชอาณาจักร พระเจดีย์ที่ทรงสร้างขึ้นในประวัติศาสตร์เรียกว่า “เจดีย์จอมกิตติ” (เดี๋ยวนี้เรียกว่าพระธาตุจอมกิตติ เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่บนเขาสูงบนฝั่งน้ำแม่โขง ห่างจากที่ว่าการอำเภอเชียงแสนปัจจุบันไปทางซ้ายมือประมาณ 1 ก.ม. เป็นปูชนียสถานที่สำคัญเป็นที่กราบไหว้ของคนทั่วไป) หลังจากที่พระเจ้าพรหมมหาราชทรงอัญเชิญให้พระราชบิดาคือพระเจ้าพังคราชเสด็จครองเมืองชัยบุรีเชียงแสนแล้ว พระองค์จึงเสด็จหาที่ตั้งราชธานีใหม่ ในที่สุดก็เสด็จมาถึงบริเวณแม่น้ำฝาง เห็นเป็นที่ทำเลเหมาะดี ก็ทรงสร้างนครขึ้นที่นั่น เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงขนานนามเมืองว่า “เมืองไชยปราการ” แล้วพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน พ.ศ. 1480 เมืองนั้นอยู่ห่างจากเมืองชัยบุรีเชียงแสน ระยะทางประมาณ 300 ก.ม. (คือเชียงแสนกับฝางปัจจุบันนี้)
โปรเฟสเซ่อรแคมแมน นักสำรวจโบราณวัตถุแห่งมหาวิทยาลัยมลรัฐเพ็นซิลวาเนีย อเมริกา ให้ข้อสันนิษฐานว่า เมืองไชยปราการที่พระเจ้าพรหมมหาราชทรงสร้างขึ้นนั้นมิใช่ตัวเมืองฝางปัจจุบันนี้ แต่เป็นเวียงริมน้ำฝางทางทิศตะวันออก อยู่ในท้องที่ตำบลแม่งอน ทางทิศใต้ของอำเภอฝาง มีระยะทาง 32 ก.ม. ยังปรากฏรากกำแพงเมือง ซุ้มประตู และซากพระราชฐาน พระราชวังอยู่โดยชัดแจ้ง ส่วนตัวเมืองฝางนั้นเป็นเมืองที่สร้างขึ้นในภายหลัง ในรัชสมัยพระเจ้าพรหมมหาราชเสด็จมาครองราชสมบัติ ณ เมืองไชยปราการนั้น แว่นแคว้นโยนก แบ่งออกเป็น 4 มหานคร คือ
ไชยบุรีเชียงแสน เป็นราชธานี ภายหลังได้จมลงสู่พื้นธรณีในสมัยพระเจ้าไชยมหาชนะ หรือพระเจ้ามหาไชยชนะครองราชสมบัติอยู่ ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ท่าข้าวเปลือก ไกลจากที่ว่าการอำเภอเชียงแสนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทาง 112 ก.ม.
เวียงไชยนารายณ์ คือท้องที่อำเภอเมืองเชียงรายในปัจจุบันนี้
เวียงไชยปราการ อยู่ที่อำเภอฝางมาทางทิศใต้ระยะทางประมาณ 32 ก.ม
เวียงพานคำ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาย ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบันนี้
ในครั้งนั้น แว่นแคว้นโยนกนับว่ามีกำลังแข็งแรงมาก พระเจ้าพรหมมหาราช ได้ทรงวางกำลังป้องกันพวกขอมไว้อย่างแข็งแรง จนพวกขอมไม่ยกกองทัพมารบกวนอีกตลอดรัชสมัยของพระองค์ พระเจ้าพรหมมหาราช มีราชโอรสองค์เดียว คือพระเจ้าสิริไชยหรือไชยสิริ พระองค์ทรงปกครองราชบัลลังค์ได้ 60 ปี เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 1538 เมื่อพระชนมายุ 77 ชัญษา เมื่อพระเจ้าพรหมมหาราชเสด็จสวรรคตแล้วมุขมนตรีก็อัญเชิญพระเจ้าสิริไชยราชโอรสขึ้นครองราชย์ปกครองบ้านเมืองเป็นกษัตริย์นครไชยปราการ อันดับที่ 2 สืบแทนต่อมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น