วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การรดน้ำผู้ใหญ่ ในประเพณีสงกรานต์

การรดน้ำผู้ใหญ่ ในประเพณีสงกรานต์

สืบเนื่องจากที่ผมมีความสงสัยใคร่อยากจะรู้ ในเรื่องราวของการรดน้ำผู้ใหญ่เพื่อขอพร ในวันสงกรานต์ว่าจริงๆแล้วมีที่มาอย่างไร และมีขั้นตอนอย่างไรที่จะทำได้อย่างถูกต้อง เพราะทุกวันนี้ดูเหมือนจะทำตามใจตัวเอง หรือตามใจผู้จัด พอให้จบๆงานไปก็แค่นั้น ว่าแล้วก้หันไปรื้อตู้หนังสือเก่าที่บ้านมาหาขัอมูล และได้ข้อมูลมานิดหน่อย เลยนำมาเล่าสู่กันฟัง

ผมเจอข้อมูลจาก หนังสือลัทธิธรรมเนียมประเพณีไทย ของท่านเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป พิมพ์ในปี 2508 เลยนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

ท่านเล่าว่าในการรดน้ำผู้ใหญ่ที่ทำกันในภูมิภาคนั้น มักจะนัดหมายกันที่วัดซึ่งจะจัดสถานที่ไว้เป็นที่รดน้ำ มีการนิมนต์พระมาให้ศีล แล้วเริ่มพิธีรดน้ำ รดอาบแล้วผู้รดจะนำผ้าใหม่ มาให้เปลี่ยนมี ผ้านุ่งผืนหนึ่ง ผ้าห่มผืนหนึ่ง พร้อมดอกไม้ ธูปเทียน เป็นสักการะบูชา การรดน้ำในพิธีเป็นการรดน้ำ อาบน้ำให้กันจริงๆ และน่าจะเปียกไปทั้งตัว ดังนั้นผู้รดจึงต้องเตรียมผ้ามาให้เปลี่ยนด้วย

นอกจากนี้ท่านได้สอบถามเพื่อนๆชาวอินเดีย ที่อยู่ในแคว้นเบงกอล ปัญจาป ได้ความเพิ่มเติมมาอีกว่า ในวันก่อนหน้ามหาสงกรานต์หรือวันมหาสงกรานต์ และวันต่อๆไปอีกสองวัน จะมีพิธีที่เรียกว่า พิธีสนานกาย คือการอาบน้ำเพื่อชำระมลทิน ถ้าอยู่ใกล้แม่น้ำคงคา ก็จะไปสนานกายที่แม่น้ำคงคา คนแก่ๆจะไปทำพิธีพลีบูชา ที่เทวาลัย แล้วจะมีการแจกเสื้อผ้าของขวัญให้เด็กๆ ลูกหลานและคนใช้ มีการเลี้ยงอาหาร เป็นงานใหญ่เลยทีเดียว

ดังนั้นผมคิดว่าการรดน้ำผู้ใหญ่แบบนี้เราทำอยู่คือ การรดลงบนมือแล้วผู้ใหญ่นำน้ำกลับมาพรมบนหัวให้พร แบบที่เราทำกันอยู่ก็เหมาะสมดีแล้วกับบ้านเรา และเป็นข้อดีของบ้านเราที่สามารถรับเอาทุกๆวัฒนธรรมรอบด้านเข้ามา และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมเข้ากันได้ดีกับชีวิตประจำวัน

ยังมีเรื่องราวอีกมากที่ยังน่าสนใจและน่าค้นหา ช่วงนี้พอมีเวลาว่าง จะลองรื้อๆค้นๆ หามาอ่านดู และถ้ามีอะไรที่น่าสนใจจะนำมาเลาสู่กันฟังอีกครั้งนะครับ

นภดล มณีวัต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น