วิธีการที่จะนำพระประธานเข้าโบสถ์ หลวงพ่อจะทุบฝาผนังด้านหลังที่อยู่บนขอบประตูออก แล้วยกพระประธานเข้าไปทางหลัง หลังจากนั้นก็จะปิดฝาผนังอีกครั้ง จนทุกวันนี้ก็จะดูไม่รู้ว่า พระประธานองค์นี้มาหล่อทีหลัง งานหล่อพระมีด้วยกัน หลายคืนผมเลยได้นอนที่วัดหนึ่งคืน และคืนนั้นเองผมก้ได้รู้จักกับมหรสพของภาคใต้ที่ชื่อว่า "หนังตะลุง" ในสมัยเด็กๆ ผมไม่ค่อยได้ออกไปไหนมาไหนในตอนกลางคืนซักเท่าไหร่นอนตอนหัวค่ำเลยไม่มีโอกาสได้ดูได้ชมการแสดงประเภทนี้เลย วันที่หล่อพระประธานของวัดบางงอนเลยเป็นวันที่เปิดโลกแห่งจินตนาการให้ผมเป็นวันแรกเลยทีเดียว
ผมนั่งมองโรงหนังตะลุงจากบนศาลาโรงฉัน ซึ่งวันนี้จะเป็นที่นอนของผมกับลุงรวมทั้งชาวบ้านที่มาจากหลายๆพื้นที่ ผมนั่งมองแสงเงา และฟังดนตรีหนังตะลุงด้วยความสนใจ ตัวหนังสือที่บนขอบจอด้านบนเขียนว่า "หนังจูเลี่ยม กิ่งทอง" ซึ่งนับว่าเป็นหนังตะลุงคณะแรกในชีวิตที่ผมได้ชม ช่วงแรกผมก็ฟังไม่รู้เรื่อง เลยหลับบ้างตื่นบ้าง จนมาถึงตัวตลกออกมาเล่นเรื่องราวในสมัยนั้น มีเปรตออกมาหนึ่งตัว ชื่อ เปรตนิกร ซึ่งตอนนั้นคงจะได้ข่าวกันคือ พระนิกรกับอรปวีณา ที่โด่งดัง(ในทางชั่วๆ) ผมตาสว่างทันทีนั่งฟังไปเรื่อยๆหัวเราะไปกับเรื่องราวบนแสงเงาและจินตนาการของนายหนังผู้นี้ และหลังจากหนังพักช่วงก็มีเสียงเพลงลูกทุ่งดังออกมา...
จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นไทย
มิเป็นทาสใคร แหละมีน้ำใจล้นปริ่ม
ทั่วโลกกล่าวขาน ขนานนาม ให้ว่าสยามเมืองยิ้ม
เราควรกระหยิ่มถึงความดีงาม
คนเย็นใจซื่อได้ชื่อว่าไทย
ร้อนมาจากไหน ชาติไทยไม่เคยหวงห้าม
ข้ามเขตข้ามโขงถิ่นน้ำขุ่น มาพึ่งใบบุญเมืองสยาม
เรายิ้มรับตามที่ท่านต้องการ
เลื่องชื่อลือนาม สยามมีแต่น้ำใจ
ขอเตือนท่านผู้อาศัย อย่าทำอะไรให้ไทยร้าวราน
คนไทยใจซื่อ เขาถือแต่โบราณกาล
แค่เพียงข้าวสุกหนึ่งจาน ใครลืมของท่านนั้น เนรคุณ
คนไทยรักชาติแหละศาสนา
เทิดองค์เจ้าฟ้า ผู้ทรงเปี่ยมเนื้อนาบุญ
ถ้าท่านเคารพสิทธิ์ของไทย ท่านอยู่ต่อได้อีกนานคุณ
สยามใจบุญ ยังยิ้มเสมอ
ผมนั่งฟังโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นเพลงของใครแต่คนที่ร้องเพลงนี้เป็นหนึ่งในคณะหนังตะลุง จูเลี่ยม กิ่งทอง เสียงเพลงที่ร้องออกมาทำให้ผมรู้สึกชอบที่จะฟังเพลงลุกทุ่ง เพิ่มขึ้นมากเพราะก่อนหน้านี้ผมจะไม่ฟังเพลงอื่นเลยนอกจาก "คาราบาว" หลังจากที่กลับมาจากวัดบางงอนคราวนั้น ผมจึงเริ่มฟังเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ สุนารี ราชสีมา และเอกพจน์ วงศ์นาค ผมฟังเพลงลุกทุ่งเหล่านี้จนซึมซับแบบขึ้นสมอง จำได้ว่าตอนเรียน ม 1 เคยออกไปร้องเพลงหน้าชั้นด้วยเพลงของเอกพจน์ วงศ์นาค ที่ผมจำไม่ได้แล้วว่าชื่อเพลงอะไร มีเนื้อร้องประมาณนี้ครับ
มองฟ้าคราใดหัวใจแทบพัง ไม่อยากจะฟังเสียงนกหวีดดังวิ่งชนกันโครม
เดินแทบดินฟ้าถล่ม บ้างนอนเกือกกลิ้งโคลนตมปวดร้าวระบมทั้วทั้งกายา
................................
ถึงแม้คุณพ่อน้องเป็นนายพัน
พี่ก็ใฝ่ฝันหมายเด็ดหมายดอมน้องมาแนบชม
บุญพี่มีน้อยจึงตรม จึงฝากเพลงร้องตามลมหวังชิดเชยชมแต่น้องนางเดียว
บางงอน เลยมีความหมายกับชีวิตผมมากๆ ทั้งปลูกฝังเรื่อง ศาสนา ดนตรี ถ้าไม่มีบางงอน ผมคงจะไม่รู้สึกถึงเรื่องราวของพระ ของเพลง ของวัฒนธรรมพื้นบ้านมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้นในเช้าของอีกวัน ผมขึ้นไปนั่งอยู่ในกุฏิเจ้าอาวาส ซึ่งสร้างต่อจากโรงฉัน ยกพื้นสูง ภายในยกระดับ แต่ไม่สูงมากนักผมนั่งอยู่ด้านบน ส่วนที่พื้นที่ห่างกันประมาณไม่ถึงยี่สิบเซนต์ก็มีพระที่มาร่วมพิธีพุทธาภิเษกนั่งกันอยู่หลายรูป นั่งฟังเรื่องราวที่พระอาจารย์เหล่านั้นพูดคุยกัน ตาก็มองออกไปด้านหลังโบสถ์เห็น ตาหลวงหัน (ที่บ้านให้เรียกแบบนี้) เดินอยู่แถวๆนั้น แต่เพียงแค่ช่วงเวลาที่ผมหันมาฟังหลวงพ่อเกจิอาจารย์คุยกันนั้น ก็มีมือมาจับที่แขนของผม "มึงนั่งสูงกว่าคนอื่นเขาแบบนี้ไม่ดีนะ" แล้วดึงแขนผมลงมานั่งที่ด้านล่าง แล้วท่านก็เดินไปเลย ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าท่านเห็นได้อย่างไรเพราะจากกุฏิไปที่โบสถ์ก็ไกลกันพอสมควร แถมมาก็แค่ดึงผมลงแล้วก็ไปเดินดูนู่นดูนี่ต่อทันที แล้วท่านรู้ได้อย่างไร
ผมมาทราบทีหลังว่าพระเกจิที่นั่งอยู่ในกุฏิวันนั้น มี หลวงพ่อรัตน์ วัดกะเปา รวมอยู่ด้วย โดยหลวงพ่อรัตน์ วัดกะเปา ท่านนี้เป็นอาจารย์ท่านหนึ่งของท่านอาจารย์สูติ วัดในเตา จังหวัดตรังที่โด่งดัง ในกุฏิของอาจารย์สูติ จะมีรูป หลวงพ่อรัตน์แขวนอยู่ด้วย อาจารย์สูติ วัดในเตาเคยเล่าให้ผมฟังว่า " พ่อท่านรัตน์ อาจารย์กู จุดเทียนไม่ต้องใช้ไฟ" ส่วนจะเป็นอย่างไรก็ไปหารายละเอียดกันเอาเองนะครับ
ไหนๆก็กล่าวถึงพ่อท่านรัตน์ วัดกะเปาแล้ว ขอต่ออีกซักนิด ในปี 2537 วัดโพธาวาส (สอบถามพี่ปิงได้ครับ) มีการสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อกล่อม วันนั้ผมก้ไปร่วมพิธีด้วย ไปทั้งชุดนักศึกษาเลยครับ ผมเรียน ปวส อยู่พอดี พอเสร็จพิธีพุทธาภิเษก เหล่าพระเกจิก็เดินออกมาจากโบสถ์ ผมโชคดีได้ช่วยพยุงพ่อท่านรัตน์ไปที่รถด้วย ขณะที่เดินไปที่รถ จู่ๆ พ่อท่านรัตน์ก็หยุดแล้วหันหลังกลับ ยกมือไหว้ไปทางต้นไม้ใหญ่แถวๆประตูโบสถ์ แล้วบอกกับผมเบาๆว่า "งานนี้หลวงพ่อกล่อมมาด้วย"ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่เคยได้เล่าให้ใครฟัง เลยอยากเก็บมาบันทึกไว้ที่นี่ด้วย เพราะตอนนี้ พ่อท่านรัตน์ก็มรณะภาพไปแล้ว เกรงว่าเหตุการณ์นี้จะไม่มีคนได้รับรู้ วันนั้นมีผมกับพ่อท่านรัตน์และพี่ชายอีกคนนึงเท่านั้นที่ได้เห็นและได้ยินพ่อท่านรัตน์พูด ส่วนเรื่องราวในงานพุทธาภิเษก คงต้องสอบถามพี่ปิงเอาเองครับ
1 ความคิดเห็น:
รู้สึกตื่นเต้นมากเลยที่มีคนพูดถึงวัดบางงอน ผมกำลังคิดที่จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัดบางงอน เพื่อทำการบันทึกไว้เพราะคนรุ่นเก่าก่อนได้ล้มหายตายจากไปคนรุ่นหลังแทบไม่มีใครรู้เรื่องราวที่ได้รับการถ่ายทอดเล่าขานกันมาเท่านั้น คนเขียนคงจะเป็นญาติกับผมนะแต่เราไม่รู้จักกันเพราะยายสร้อยเป็นยายของผมเอง และคุณก็โชคดีมากเลยที่ได้ออมไป 1 ใบเพราะผมหลานแท้ๆยังไม่ได้เลยเคยขอจากป้าแดง หรือป้าสำอางค์ไว้ 1 ใบท่านบอกให้บ้านเรียบร้อยก่อนค่อยกลับมาเอา ออมนี้มีความหมายกับชีวิตในวัยเด็กของผมมากเพราะสมัยเด็กๆผมอยู่ที่บางงอนเห็นคุณตาทำน้ำตาลเองแล้วจะเก็บไว้ในออมนี้แหละมันเป็นของเก่า แต่ละใบน่าจะเกือบ 100 ปีแล้วนะครับสมัยผมเด็กๆ ก็เห็นมีอยู่ที่บ้านแล้วหลายใบด้วยแต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว
แสดงความคิดเห็น