วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

สาละลังกา หรือลูกปืนใหญ่


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ลักษณะทางพฤษศาสตร์


ลูกปืนใหญ่เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ หนาทึบ เปลือกสีน้ำตาลแกมเทา แตกเป็นร่องและสะเก็ด ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว12-25 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือมน ขอบใบจักตื้น ใบหนา ดอกสีชมพูอมเหลืองหรือแดง ด้านในสีม่วงอ่อนอมชมพู มีกลิ่นหอมมาก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะขนาดใหญ่ตามลำต้น ช่อดอกยาว 30-150 เซนติเมตร ปลายช่อโน้มลง กลีบดอกหนา 4-6 กลีบ กลางดอกนูน สีขนสั้นสีเหลืองคล้ายแปรง เกสรเพศผู้เป็นเส้นยาวสีชมพูแกมเหลืองจำนวนมาก ทยอยบานจากโคนไปหาปลายช่อ นานเป็นเดือน ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-10 เซนติเมตร ผลแห้ง ทรงกลมใหญ่ ขนาด 10-20 เซนติเมตร เปลือกแข็ง สีน้ำตาลปนแดง ผลสุกมีกลิ่นเหม็นมีเมล็ดจำนวนมาก รูปไข่

ประวัติ

ลูกปืนใหญ่ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกาใต้ในประเทศเปรู, โคลัมเบีย, บราซิล และประเทศใกล้เคียง ในปี พ.ศ. 2424 สวนพฤกษศาสตร์ศรีลังกาได้นำเข้าลูกปืนใหญ่จากตรินิแดดและโตเบโก ต่อมาได้ขยายพันธุ์ไปทั่วศรีลังกา แต่ชาวศรีลังกากลับเรียกต้นลูกปืนใหญ่นี้ว่า ซาล (Sal) โดยไม่ปรากฏเหตุผลและไม่ทราบความเป็นมาของลูกปืนใหญ่ ส่วนมากอ้างว่านำมาจากอินเดีย และที่เรียกเพราะซาลเพราะเชื่อว่าก้านชูอับเรณูที่เชื่อมกันเป็นรูปผืนผ้าตัวงอเป็นตัว U นอน ปุ่มตรงกลางเปรียบเสมือนพระแท่นที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน มีเกสรสีเหลืองรายล้อมเปรียบเสมือนพระสงฆ์สาวกห้อมล้อมอยู่ ส่วนด้านบนเป็นที่บังแดดและน้ำค้างประดับด้วยดอกไม้ เนื่องจากมีดอกตลอดปีประกอบกับกลิ่นหอมที่ทนนาน ชาวศรีลังกาจึงนิยมใช้บูชาพระเช่นดอกไม้อื่นๆ

ลูกปืนใหญ่มิใช่พืชพื้นเมืองของศรีลังกาและอินเดีย และต่างจากสาละอย่างสิ้นเชิงทั้งถิ่นกำเนิดและพฤกษศาสตร์ จึงได้มีการจำแนกชื่อที่พ้องกันเพื่อเรียกให้ถูกต้องว่าสาละ (Sal Tree) หรือสาละอินเดีย (Sal of India) และลูกปืนใหญ่ (Cannonball Tree)

อนึ่ง ลูกปืนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติแต่อย่างใด เนื่องจากลูกปืนใหญ่มีดอกและผลตลอดปี ออกเป็นงวงยาวตามลำต้นตั้งแต่โคนขึ้นไป ซึ่งผลของของลูกปืนใหญ่มีเปลือกแข็งขนาดส้มโอย่อม ๆ ซึ่งไม่เหมาะแก่การนั่งพักหรือทำกิจได้ หากตกใส่ก็อาจทำให้บาดเจ็บได้

วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

ปรางค์น้อย ที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์


ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน จากลวดลายบนหน้าบันและทับหลัง ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เป็นการผสมผสานกันระหว่าง ศิลปะคลังและศิลปะบาปวน ดังนั้น ปรางค์น้อยน่าจะสร้างขึ้นในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 16 ก่อนหน้าปราสาทประธาน ประมาณ 50 ปี หรือกว่านั้น

แบบอย่างนิยมของศิลปะบาปวนคือ นาคที่ปลายกรอบหน้าบันจะเป็นนาคหัวโล้น ส่วนลายสลักที่หน้าบันและทับหลังยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เห็นได้จากยังเป็นลวดลายที่ตื้น ส่วนที่สลักลงลึกยังไม่ได้เก็บรายละเอียด ยังมีเศษหินเล้กๆที่ยังไม่ได้สกัดออก

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

พระราม พระลักษมณ์ รบยักษ์วิราธ ปราสาทพนมรุ้ง

พระราม กับ พระลักษมณ์ รบกับ ยักษ์วิราธ ปราสาทพนมรุ้ง


ขอบคุณอาจารย์กอล์ฟ จากกรมศิลปากร สำหรับข้อมูลครับ

ยักษ์วิราธ เป็น เทวอสูรบนสวรรค์ ลักลอบ รักกับ นางวิรัมภา ผู้เป็น บริจาริกา ของ ท้าวเวสสุวรรณ จึงถูกท้าวเวสสุวรรณ สาปให้เป็นยักษ์ป่า ชื่อ วิราธ แปลว่า ผู้กระทำผิด แต่มีฤทธิ์มาก เพราะได้กำลังจาก พระสมุทร และ พระเพลิง

ได้พรไว้ว่า ผู้ที่หลงเข้ามาในเขตสวนของตน เชิงเขาไกรลาส สามารถถูกจับกินได้ ซึ่งภายในสวนนี้ มีต้นชมพู่พวาทองต้นหนึ่ง ที่ยักษ์วิราธ รักมาก

ต่อมา พระราม พระลักษณ์ และ นางสีดาหลงเข้ามาในสวน พวกยักษ์บริวารของยักษ์วิราธ ต่างเข้ารุมทำร้าย แต่โดนพระลักษณ์แผลงศรล้มตาย สิ้น ครั้น ยักษ์วิราธออกมา พบว่า ลูกน้องล้มตาย ต้นไม้ก็หักล้ม เป็นอันมากก็โกรธ

พอเห็นพระราม พระลักษณ์ นางสีดาเข้าก็หมายทำร้าย บันดาลให้อากาศ แปรปรวนวิปริตมืดมิด พระรามแผลงศรให้สว่าง พอเห็นตัวยักษวิราธ ก็แผลงศรสังหาร ยักษ์วิราธ

วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7เป็นกษัตริย์ของอาณาจักรเขมรที่ยิ่งใหญ่ (พ.ศ. 1724 - พ.ศ. 1762) ในบริเวณที่เป็นประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เป็นพระโอรสของพระเจ้าธรนินทรวรมันที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ. 1693 - พ.ศ. 1703) และพระนางศรี ชยราชจุฑามณี พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สถาปนานครธม นครหลวงแห่งสุดท้ายของอาณาจักรเขมร ในประเทศกัมพูชายังมีสระน้ำแห่งหนึ่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่7 ทรงใช้เป็นประจำอีกด้วย

พระราชประวัติ

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 ประสูติเมื่อประมาณ พ.ศ. 1663 หรือ พ.ศ. 1668 พระนามเดิมคือเจ้าชายวรมัน ทรงเสกสมรสตั้งแต่ทรงพระเยาว์กับเจ้าหญิงชัยราชเทวี สตรีที่มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญที่สุดเหนือพระองค์ รวมทั้งโน้มนำให้พระองค์หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน

ราว พ.ศ. 1720 – 1721 พระเจ้าชัยอินทรวรมันแห่งอาณาจักรจามปา ทรงนำทัพจามบุกเข้าโจมตียโศธรปุระ กองทัพเรือจามบุกเข้าถึงโตนเลสาบ เผาเมือง และปล้นสะดมสมบัติกลับไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจับพระเจ้าตรีภูวนาทิตวรมันประหารชีวิต เชื่อกันว่า การรุกรานเมืองยโศธปุระครั้งนั้น เจ้าชายวรมันได้วางเฉยยอมให้เมืองแตก จากนั้นพระองค์จึงกู้แผ่นดินขึ้นมาใหม่ โดยนำทัพสู้กับพวกจามนานถึง 4 ปี จนสามารถพิชิตกองเรือจามผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือได้อย่างราบคาบ ในยุทธการทางเรือที่โตนเลสาบ

พ.ศ. 1724 ยโศธปุระกลับสู่ความสงบ พระองค์ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พร้อมกับบูรณปฏิสังขรณ์ราชธานีขึ้นมาใหม่ รู้จักกันในชื่อ “เมืองพระนครหลวง” หรือ “นครธม” หรือ “นครใหญ่” และย้ายศูนย์กลางของราชธานีจากปราสาทปาปวนในลัทธิไศวนิกาย มายังปราสาทบายนที่สร้างขึ้นใหม่ ให้เป็นศาสนสถานในลัทธิมหายานแทน จากนั้นมา ศูนย์กลางแห่งอาณาจักรเขมรโบราณก็คือ ปราสาทบายน หรือนครธม

พระองค์ทรงสถาปนาคติ “พระพุทธเจ้าที่ยังมีชีวิต” หรือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรขึ้นมา ซึ่งหมายถึงตัวพระองค์เอง คือพระโพธิสัตว์ที่เกิดมาเพื่อปัดเป่าทุกข์ภัยให้แก่ราษฎร ภาพสลักรูปใบหน้าที่ปรากฏตามปรางค์ในหลายปราสาทที่ทรงสร้างขึ้น เชื่อว่าคือใบหน้าของพระองค์ในภาคพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั่นเอง

หลังจากสถาปนาศูนย์กลางอาณาจักรแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงทรงแก้แค้นศัตรูเก่าคืออาณาจักรจามปา ใน พ.ศ. 1733 กองทัพของพระองค์ก็สามารถยึดเมืองวิชัยยะ เมืองหลวงของจามปาได้ นอกเหนือจากการสงครามแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างพุทธสถานไว้มากมาย เช่น ปราสาทบันทายคดี ปราสาทตาพรม ที่สร้างถวายพระมารดา ปราสาทพระขรรค์ สร้างถวายพระบิดา ปราสาทตาโสม ปราสาทนาคพัน ปราสาทบันทายฉมาร์ ในเขตประเทศไทยปัจจุบัน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นผู้บูรณะปราสาทหินพิมายซึ่งสันนิษฐานเป็นเมืองเกิดของพระมารดา และปราสาทเขาพนมรุ้ง ให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และยังมีอาณาจักรละโว้ เมืองศรีเทพ อีกด้วย

นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดให้สร้าง “บ้านมีไฟ” หรือที่พักคนเดินทาง ซึ่งก่อด้วยศิลา และจุดไฟไว้ตลอด ศาสตราจารย์ หลุยส์ ฟิโนต์ ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ เรียกอาคารแบบนี้ว่า “ธรรมศาลา”

จารึกที่ปราสาทพระขรรค์ กล่าวถึงที่พักคนเดินทางว่ามีจำนวน 121 แห่ง อยู่ตามทางเดินทั่วราชอาณาจักร และตามทางเดินไปเมืองต่างๆ ในจำนวนนั้น มี 17 แห่งอยู่ระหว่างการเดินจากเมืองพระนครไปยังเมืองพิมาย ซึ่งศาสตรจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล พบว่าที่พักคนเดินทางเท่าที่ค้นพบแล้วมี 7 แห่ง แต่ละแห่งห่างกันประมาณ 12 – 15 กิโลเมตร .. จารึกปราสาทพระขรรค์ระบุอีกว่า มีการสร้างโรงพยาบาล หรือที่จารึกเรียกว่า “อโรคยาศาลา” จำนวน 102 แห่ง กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีส่วนหนึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สิ้นพระชนม์ในประมาณปี พ.ศ. 1758 หรือ พ.ศ. 1762 เชื่อกันว่ามีพระชนม์ชีพยืนยาวถึง 94 ปี ด้วยฉลองพระนามหลังสวรรคตว่า “มหาบรมสุคตะ” หมายความว่า พระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

สะพายเป้ท่องมาเลเซีย ตอนที่ 7 มะละกา 2/2

หลังจากที่พวกเราขึ้นรถโดยสารเรียบร้อย ต่างหาความสงบด้วยการงีบหลับเอาแรงกัน แต่ผมกับป็อก นั่งริมหน้าต่างดังนั้นพวกเราจึงไม่ได้หลับแบบคนอื่นๆเพราะมัวแต่ถ่ายภาพวิวสองข้างทางของมาเลเซียอยู่ตลอดการเดินทาง เส้นทางระหว่างเมืองนี้เป็นทางที่ต้องเสียเงินค่าผ่านทาง ไม่แน่ใจว่าเป็นทางพิเศษหรือว่าปกติถ้าข้ามเมืองก็ต้องจ่าย เรื่องนี้ค่อยหาข้อมูลกันใหม่อีกที รอบนี้เน้นขั้นตอนในการเดินทางเสียมากกว่าข้อมูลเชิงวิชาการครับ



นั่งรถกันมาประมาณชั่วโมงนิดๆไม่เกินสองชั่วโมง เราก็ออกจากทางด่วน เข้าสู่ สถานีขนส่งมะละกา ระบบขนส่งของมาเลเซียจะจัดให้รถหรือระบบขนส่งระหว่างเมืองเข้ามารวมกันก่อนเข้าเมือง และจะมีระบบขนส่งของท้องถิ่นนำผู้โดยสารออกไปอีกที ทำให้ไม่วุ่นวายและทำให้รถติดในเมือง บ้านเราพยายามใช้หลักการนี้เหมือนกัน นำสถานีขนส่งออกไปไว้ข้างนอก แล้วใชัรถโดยสารขนาดเล็ก นำผู้โดยสารเข้ามาในตัวเมือง แต่ระบบของเราล้มเหลว เพระากลายเป็นว่าพวกรถสองแถวเหล่านั้น กลายเป็นภาระเสียเอง เก็บเงินแพงบ้าง วิ่งนอกเส้นทางบ้าง ดังนั้นการให้บริการที่เป็นรูปแบบชัดเจนในลักษณะนี้ เราจึงต้องอาศัยดูจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียก่อนครับ


ในสถานีขนส่ง มีร้านอาหารอยู่หลายร้าน พวกเราคิดว่าเราจะหาอะไรๆกินกันให้อิ่มก่อน จะได้ไปเดินเล่นในเมืองประวัติศาสตร์มะละกาได้เต็มที่ ดังนั้นเมื่อเดินไปเดินมาแล้ว ก็เหมือนผีจับยัดให้เรามานั่งที่ร้านนี้ ดูเมนูน่ากิน แต่รสชาติสุดฝืนกลืนทน สำหรับคนไทย แถมเวลาคิดเงินยังบวกเพิ่มค่าบริการเข้าไปอีก แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา สถานีรถไฟกับสถานีขนส่งบ้านเราฟันหนักกว่านี้อีก



รถที่ให้บริการในเมืองของมาเลเซียจะมีรูปแบบที่เหมือนกัน ขึ้นประตูหน้า ลงประตูกลาง ขึ้นแล้วหยอดเงินลงตู้ คนขับจะฉีกตั๋วให้ เป็นรถ Rapid KL ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เรานั่งไปได้ไม่นานก็ถึงเป้าหมาย เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะลงกันที่ตรงนี้ เป็นย่านไชน่า ทาวน์ เมืองเก่า ตรงนี้จะเดินรถทางเดียว ดังนั้นในตอนกลับเราก็ต้องหาทางขึ้นรถเมล์กลับจากตรงไหนซักที่นึงในมะละกา แต่เดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที



มะละกา (มาเลย์: Melaka; ยาวี: ملاك) เป็นรัฐทางตอนใต้ในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ตรงข้ามกับเกาะสุมาตรา รัฐมะละกาเป็นหนึ่งในสองรัฐของมาเลเซียที่ไม่มีเจ้าผู้ครองรัฐเป็นประมุขแต่มีผู้ว่าราชการรัฐแทน

ในอดีต มะละกาเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตกบนช่องแคบมะละกามากว่า 500 ปี มีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปกรรมโปรตุเกส ดัตช์ และมาเลย์ ได้รับการยกย่องให้เป็นนครประวัติศาสตร์บนช่องแคบมะละกาจากองค์การยูเนสโก


การท่องเที่ยวชมเมืองประวัติศาสตร์มะละกา ทำได้โดยการ นั่งริกชอร์ หรือสามล้อถีบ ที่แต่งรถกันหวานแหววมากๆ กับการเดิน รวมทั้งนั่งเรือล่องไปในแม่น้ำ ใครชอบแบบไหนก็จัดไปตามความพอใจ เมืองเก่า ตึกเก่า ที่เป็นประวัติศาสตร์ ถ่ายรูปมาสวยงาม และเป็นความทรงจำที่ดีทีเดียว




เมื่อราว พ.ศ. 1800 เจ้าชายปรเมศวรหรือปาราเมิสวารา(PARAMASWARA)ได้ทรงอพยพออกจากปาเล็มบัง เหตุเนื่องด้วยการรุกรานจากอาณาจักรมัชปาหิต ซึ่งก่อนที่จะมาถึงมะลากานั้น เจ้าชายปรเมศวรได้เข้าไปตั้งเมืองอยู่ที่ตูมาซิก(TUMASIK)หรือเตมาเซก หรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน แต่เนื่องด้วยในตอนนั้นตูมาซิก ตกอยู่ใต้อำนาจของสยาม ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับสยามและเจ้าชายองค์นี้จึงต้องออกเดินทางออกมา จนมาถึงที่มะละกา มาสร้างเมืองใหม่ที่นี่และกลายเป็นจักรวรรดิการค้าที่ยิ่งใหญ่ในอีก 200 ปีต่อมา และเป็นแหล่งแรกที่ศาสนาอิสลามเข้าสู่มาเลเซียผ่านทางพ่อค้ามุสลิมอินเดียที่มาจากปาไซ และเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบสุลต่าน

ต่อมา พ.ศ. 2052 โปรตุเกสเดินทางมาถึงมะละกาเพื่อขอตั้งสถานีการค้าแต่ถูกปฏิเสธ จนนำไปสู่สงครามระหว่างโปรตุเกส-มะละกา ซึ่งโปรตุเกสเป็นฝ่ายชนะเมื่อ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2054 มะละกาถูกเนเธอร์แลนด์ยึดครองเมื่อ พ.ศ. 2184 หลังจากเนเธอร์แลนด์ขับไล่โปรตุเกสออกไป ต่อมามะละกากลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษตามสนธิสัญญาแองโกล-ดัตซ์ หรือสนธิสัญญาอังกฤษ-ฮอลแลนด์ พ.ศ. 2367

ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มะละการวมกับปีนังและสิงคโปร์ในชื่อนิคมช่องแคบซึ่งแยกต่างหากจากสหพันธรัฐมลายู หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มะละกาเข้ารวมอยู่ในสหภาพมาลายา และกลายเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียเมื่อมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ


ผมเดินอยู่บนถนนในเมืองเล็กๆ ที่ต่างประเทศที่ไม่น่าจะมีใครรู้จัก แต่ผมได้ยินเสียงแว่วๆมาว่า "พี่นภๆๆๆ" ผมไม่แน่ใจว่าหูฝาดไปหรือเปล่า แต่ก็หันไปดู ปรากฏว่าเป็น เสี่ยศรัลย์ เพื่อนร่วมงานสมัย ทรูมูฟ และหัวเว่ย พาครอบครัวมาเที่ยวที่มะละกาด้วยเช่นกัน แต่เป้าหมายจะต่างกันตรง เมื่อเสร็จจากที่นี่ ผมกลับไปกัวลาลัมเปอร์ แต่ศรัลย์ จะเดินทางต่อไปสิงคโปร์


ผมเดินชมเมืองไปเรื่อยๆ ถ่ายภาพเก็บไว้เยอะพอสมควร แต่คงจะลงได้ไม่มากนัก เอาไว้ตามดูในเฟซบุ๊ตก็แล้วกันครับ




ในมะละกา มีร่องรอยการขุดค้น โบราณสถานเก่าๆอยู่หลายจุด



ที่มะละกา มีความเชื่อของคนไทย หรืออาจจะมีชาติอื่นด้วยว่า ถ้ามาลูบปืนใหญ่แล้วอฐิษฐานขอลูก จะประสบผลสำเร็จ มีเพื่อนๆผมที่เมืองไทยเคยมาขอแล้วได้ตามที่หวังไว้เหมือนกัน รวมทั้งเพื่อนที่ส่งไลน์มาบอกให้ลูบปืนใหญ่ขอลูกให้ด้วย เอาเป็นว่าถ่ายรูปมาให้ดูแล้วอยากได้ก็ลูบหน้าจอเอาเองก็แล้วกัน


เราเดินชมเมืองกันจนได้เวลาที่เราจะกลับ รถไปกัวลาลัมเปอร์จะหมดตอนสี่ทุ่ม แต่เราต้องรีบ เพราะต้องการไปถ่ายตึกเปโตรนาส ในยามดึกให้ทัน บวกเวลาในการเดินทางแล้ว เราต้องออกจากที่นี่อย่างเร็วที่สุด ในระหว่างทางที่เดินมารอรถเมล์ไปสถานีขนส่ง เจอริกชอร์ยามค่ำคืน เวลาเปิดไฟสว่างๆแล้ว สวยดีเหมือนกัน



เราได้ตั๋วรถโดยสารเที่ยวสามทุ่ม เป็นรถเอกชน แพงกว่าขามานิดหน่อย แต่ก็ยอมเพราะเรามีเป้าหมายอยู่ที่ตึกแฝดในกัวลาลัมเปอร์ ที่จะปิดไฟตอนเที่ยงคืน ดังนั้นเราจึงต้องรีบนิดหน่อย การเดินทางกลับก็ย้อนไปตามรูปแบบเดิม นั่งรถมาลงที่สถานีขนส่ง ขึ้นรถ KLIA มา KL Sentral ต่อโมโนเรล มาลงที่สถานีใกล้ๆตึกแฝด Bukit Nanas แล้วรีบเดินไปที่ตึกแฝดเพื่อถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก



สถานีรถไฟของมาเลเซียในตอนกลางคืน ไม่น่ากลัว เพราะการจะลงมาตรงนี้ต้องซื้อตั๋วเดินผ่านเข้าระบบมาก่อน ดังนั้นจึงไม่มีคนเมามานอน หรือ มีเด็กมาเดินขอบุหรี่แบบบ้านเรา


เรามาทันรถโมโนเรล ที่น่าจะเป็นเที่ยวสุดท้ายพอดี รถว่างมาก และเมื่อมาถึงตึกแฝด เราเดินไปไม่ทันถึงตัวตึกไฟก็ทยอยดับลง ได้ภาพมาเป็นที่ระลึกนิดหน่อย แต่ที่สำคัญคือ โมโนเรลหมดแล้ว ไม่มีให้บริการ ดังนั้นเราจึงต้องเดินกลับมาที่พักซึ่งก็ไม่ไกลมากนัก เท่ากับที่เราเดินมาเมื่อเช้านั่นเอง



เมื่อถึงที่พักก็เริ่มหาของกินก่อนนอน แต่คืนนี้ผมขอกินมาม่า เพราะร่างกายน่าจะต้องการอะไรที่แปลกไปกว่าอาการปกติ ซัดมาม่าที่มีกลิ่นเครื่องเทศฉุนๆ บวกกับโต้กเย็นๆ แถมบุหรี่อีกสองสามมวน อาบน้ำอุ่นแล้วก็หลับเป็นตาย เพื่อที่จะตื่นมาในวันพรุ่งนี้่ตอนหกโมงเช้า พี่ฝานัดแทีกซี่ให้มารับที่หน้าโรงแรมเพื่อเดินทางไปสนามบินกัวลาลัมเปอร์ แห่งที่ 2 ที่ใช้สำหรับสายการบินภายในประเทศ พรุ่งนี้เราจะไป ปีนังกันครับ เรื่องราวการเดินทางที่แสนทรหดจะเป็นอย่างไร รอตอนต่อไปนะครับ คาดว่าอีกไม่นาน

นภดล มณีวัต

สะพายเป้ท่องมาเลเซีย ตอนที่ 7 มะละกา 1/2

หลังจากที่เดินชมเมืองในตอนเช้าจนได้เวลาที่จะเดินทางไปรับสมาชิกอีกคน คือ ทิพย์ ที่มาจากกรุงเทพ เพื่อไปมะละกาด้วยกัน เรากลับเข้าไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง คือสถานี KL Sentral เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมของการเดินทางแทบทุกประเภทในกัวลาลัมเปอร์ เป็นที่น่าสังเกตว่าที่มาเลเซียในขณะนี้ กำลังอยู่ในช่วงที่กำลังก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดให้อยู่ในรูปแบบศูนย์รวม คือเป็นสถานีขนส่งที่มีคำว่า sentral (ตามภาษามาเลเซีย) ที่บัตเตอร์เวิร์ต ก็กำลังก่อสร้างอยู่เช่นกัน มีการรวมรถบัส รถไฟ และ เรือเฟอร์รี่ เข้ามาอยู่ด้วยกัน เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทาง และเชื่อมต่อกันได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกล


รูปภาพแสดงสายรถไฟที่เข้ามาสู่สถานีกลาง KL Sentral ที่ในอนาคต สถานีกลางบางซื่อก็จะเป็นแบบนี้ ของเราจะมีรถไฟฟ้าหลายสายทั้ง บนดิน ใต้ดิน ลอยฟ้า รวมทั้งรถด่วนสนามบิน มีห้างสรรพสินค้า รวมทั้งมีเส้นทางที่จะไปมักกะสัน ที่จะเป็นสถานีใหญ่อีกแห่งที่อยู่ไม่ไกลกันมากนัก และถ้าสองสถานีนี้เปิดใช้งาน จะเป็นพื้นที่ศูนย์รวมการคมนาคมที่ใหญ่มากๆ ... อีกไม่นานครับ

วันนี้มีภาพขนาดของรางโมโนเรลมาให้ชมกันด้วย ดูลักษณะของโครงสร้างแล้ว ไม่ใหญ่โตมากมาย ขบวนรถวิ่งบนรางเดี่ยวๆ ทำให้มีต้นทุนไม่สูงมาก แต่สามารถรองรับการโดยสารในชุมชนเมืองได้เป็นอย่างดี อยากให้เมืองใหญ่ๆในบ้านเราลงทุนเรื่องนี้ เพราะคิดว่าระบบนี้ดีกว่ารถสองแถวและรถตู้เป็นร้อยๆคันที่ไปจอดรอแย่งผู้โดยสารกันอยู่บนถนนแน่นอน



สองข้างทางของรถโมโนเรล ไม่ต่างกับ BTS บ้านเรา สามารถมองเห็นเมืองในมุมสูง สามารถมองเห็นสถาพการจราจรด้านล่าง ที่ไม่ติดขัดมากมายนัก และที่สำคัญสามารถมองเห็นการอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหากระทบกระทั่งกันของคนหลายๆศาสนา ทั้งบนขบวนรถ ทั้งพื้นที่ด้านล่าง คนมาเลเซีย ที่เป็นมุสลิม ฮินดู และคนจีนที่น่าจะเป็นมหายาน ไหว้เจ้า นับถือเจ้าแม่กวนอิน และเทพเจ้าจีนทั้งหลาย สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยใช้กติกาเดียวกัน ใช้กฏหมายเดียวกัน มีการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นได้อย่างน่าชื่นชม


เมื่อมาถึงสถานี KL Sentral เรามองหาร้านอาหารเช้า ที่มีอยู่หลายร้านในบริเวณนี้ เราเลือกร้านที่ดูเป็นอาหารที่เราคุ้นเคย เป็นคล้ายๆอาหารจีน อาหารมุสลิม แต่มีการตกแต่งร้านแบบตะวันตก มีพนักงานเป็นคนมุสลิม ดูเมนูแล้วก็น่ากินดี ที่มาเลเซียจะมีราคาอาหารกำกับไว้ทุกเมนูอย่างชัดเจน แต่เวลาจ่ายเงินต้องดูให้ดีว่ามี เซอร์วิสชาร์จ อีกหกเปอร์เซนต์ด้วยหรือเปล่า แต่โดยรวมแล้วที่นี่มีมาตรฐานใหนเรื่องนี้อยู่ทุกร้าน เพราะคิดว่าถ้าร้านไหนไม่ทำตามกฏหมายที่ให้แจ้งราคาไว้ในรายการอาหาร คงจะมีโทษสูงอยู่เหมือนกัน น่าแปลกที่บ้านเรามีกฏหมายนี้อยู่เช่นกัน แต่มีแค่เพียงไม่กี่ร้านเท่านั้นที่ทำตามกฏหมาย


ผมอยากกินอะไรร้อนๆเลยสั่งเจ้านี่มากิน หน้าตาเหมือนเส้นมาม่าบ้านเรา มีไส้กรอกไก่ใส่มาด้วย ราคาแพงนิดนึงอยู่ประมาณร้อยกว่าบาท พี่เอ๋ เห็นภาพที่ผมโพสต์ลงเฟซบุ๊ค บอกมาว่าอาหารแบบนี้ที่ปัตตานี เป็นที่นิยมอยู่เหมือนกัน แต่ขายอยู่ที่สามสิบบาท เอาไว้วันไหนไปปัตตานี ผมจะลองหามากินอีกทีว่ารสชาติจะเหมือนกับที่มาเลเซียหรือเปล่า อาหารมาเลเซียจะต่างกับบ้านเราอีกอย่างคือ เครื่องปรุงไม่มีมากมายอย่างบ้านเรา พริก น้ำปลา น้ำตาล แทบจะไม่มีให้เห็น มาอย่างไรก็กินแบบนั้น นอกจากพวกซอสพริก ซอสมะเขือเทศ อันนี้มีอยู่เป็นปกติ อาจจะเป็นเพราะบ้านเขาไม่กินอาหารรสจัดเหมือนบ้านเรา หรือเป็นเพราะเขาขายรสชาติแบบของเขาจริงๆ ไม่ต้องการให้ลูกค้ามาใส่นู่นใส่นี่ ให้เสียรสชาติเดิม


ในมาเลเซียมีจุดกำหนดให้สูบบุหรี่อย่างชัดเจน คนมาเลย์สูบบุหรี่กันเยอะมาก บุหรี่ที่ขายในร้านสะดวกซื้อราคาแพงมากถ้าเทียบกับบ้านเรา อยู่ที่ 17 ริงกิต แต่เท่าที่ดูบุหรี่ ที่คนพื้นที่สูบกัน ทำให้รู้ว่าที่นี่ก็มีบุหรี่ที่ซื้อได้ในราคาถูกมากๆด้วยเช่นกันแต่ผมไม่รู้ว่าซื้อที่ไหน พื้นที่สูบบุหรี่ของมาเลเซีย จัดไว้ชัดเจนมีที่เขี่ยบุหรี่และที่ดับบุหรี่ไว้ให้อย่างพอเพียง และถังขยะที่นี่จะมีทีึ่ทิ้งบุหรี่ให้ที่ด้านบนทุกถัง อยากให้บ้านเรามีแบบนี้บ้าง โดยเฉพาะรูปแบบของถังขยะ ที่นี่ยอมรับความจริงเรื่องการสูบบุหรี่ ทำให้จัดวางที่ทิ้งไว้เป็นระบบ ไม่ต้องเหยียบทิ้งกับพื้นเหมือนบ้านเรา



ขณะที่นั่งรอสมาชิกที่เดินทางมาจากสนามบินด้วยรถบัส ผมสังเกตว่าคนมาเลเซียก็มีโลกโซเชียลที่เข้มแข็งไม่แพ้ชาติใดในโลกเหมือนกัน ในแต่ละมุมจะมีคนนั่งเล่นโทรศัพท์ และชาร์จแบตโทรศัพท์ตามจุดที่ปลั๊กไฟไว้ให้บริการฟรี โดยไม่ต้องเสียเงินค่าชาร์จครั้งละ 20 บาทเหมือนตามสถานีขนส่งบ้านเรา


และเมื่อสมาชิกมากันพร้อมหน้า เราก็เริ่มต้นการเดินทางไปมะละกากันที่นี่ วันนี้เราเริ่มต้นด้วยการนั่งรถไฟด่วนสายสนามบิน KLIA หรือเทียบได้กับ ARL แอร์พอร์ทลิงค์บ้านเรา โดยรถสายนี้จะวิ่งแค่ 6 สถานี มีรถธรรมดา ที่จอดทุกสถานี กับด่วนพิเศษที่วิ่งรวดเดียวถึงสนามบิน 1 และ 2 ของมาเลเซีย เราไปแค่สถานีเดียวดังนั้นเราจึงนั่งรถแบบด่วนธรรมดาครับ


บรรยากาศในขบวนรถ เป็นแบบเดียวกันกับ ART บ้านเรา แต่ของมาเลเซียสภาพดีกว่าอาจจะเป็นเพราะมีการใช้งานเพียงรูปแบบเดียว คือเป็นด่วนสนามบินเท่านั้น ไม่ได้ให้บริการระยะสั้นๆกับประชาชนทั่วไปแบบบ้านเรา รวมถึงมีค่าบริการที่สูงอยู่พอสมควร



เมื่อมาถึงสถานี Bandar Tasil Selatan ที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีขนส่งสายใต้ของมาเลเซีย เราออกเดินไปตามทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟกับสถานีขนส่งโดยไม่ต้องใช้บริการ วินมอเตอร์ไซค์หรือรถตุ๊ก ตุ๊ก มันเป็นความสะดวกที่ยังหาได้ยากในบ้านเรา ที่ขนส่งมวลชนแต่ละเจ้า ต่างก็แยกกันทำ สุดท้ายก็เชื่อมต่อกันไม่ได้ ที่สถานีรถไฟจะมีรั้วรอบขอบชิด แยกกันชัดเจน ระหว่างรถไฟพื้นฐานที่ให้บริการรถโดยสารทั่วไป รถสินค้า กับรถไฟฟ้าชานเมือง Komuter กับรถด่วน KLIA ด่วนสนามบิน มีทางเชื่อมเป็นสะพานลอยด้านบน ทุกสถานีมีลิฟท์ไว้ให้บริการสำหรับ คนพิการ คนชรา และผู้ที่มีสัมภาระมากๆ โดยไม่ต้องร้องขอจาก รปภ.เหมือนบางประเทศ



เมื่อเราเข้ามาในสถานีขนส่ง ภาพแรกทำให้ตกใจอยู่นิดหน่อย คือมันกว้างขวางมาก มีการตกแต่งจัดวางมุมต่างๆ เหมือนสนามบินทุกอย่าง มีจุดขายตั๋ว และมีเส้นทางเข้าไปยัง เกทต่างๆเหมือนสนามบินทุกอย่าง มีจอแสดงผลขนาดใหญ่ แจ้งเวลารถ ต้นทาง ปลายทาง รวมถึงประตูที่จะออกไปขึ้นรถ ที่ช่องขายตั๋ว เราสามารถเลือกที่นั่งได้ เหมือนรถไฟหรือเครื่องบิน ก่อนจะเข้าไปยังที่พักด้านล่างเพื่อรอขึ้นรถ จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วอีกครั้ง โดยจะให้เข้าไปได้เฉพาะผู้โดยสารเท่านั้น ทำให้ดูไม่วุ่นวายและมีความปลอดภัย มากกว่าสถานีขนส่งที่ประเทศไทยมาก



ในการซื้อตั๋วต้องใช้บัตรประจำตัวหรือพาสปอร์ต เพื่อแสดงตน เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้โดยสารที่คนบ้านเราไม่สนใจเลย โดยเฉพาะการนั่งรถไฟฟรี การมีตั๋วโดยสารที่ระบุชัดเจน เมื่อมีอุบัติเหตุหรือมีเหตุให้เดินทางต่อไม่ได้ ผู้ให้บริการจะรับผิดชอบกับผู้โดยสารที่มีตั๋วหรือยืนยันตัวตนชัดเจนเท่านั้น ไม่ใช่มาตะคอกกับเจ้าหน้าที่ว่า เรื่องมาก แบบที่ผมได้เห็นเป็นประจำที่สถานีรถไฟบ้านเรา


เราได้ตั๋วเรียบร้อย พร้อมออกเดินทางไปมะละกากันแล้ว เมื่อผ่านการตรวจตั๋วจากเจ้าหน้าที่ด้านบน เพื่อยืนยันการเดินทางเราก็ลงมาด้านล่างเพื่อนั่งรอรถของเรา โดยในตั๋วแจ้งชัดเจนว่า เกท 10 หรือประตูที่ 10 แต่ละประตูจะมีเจ้าหน้าที่รอตรวจตั๋วอีกครั้งก่อนขึ้นรถ ทำให้ระบบขนส่งมวลชนของมาเลเซีย โดยเฉพาะรถบัส ใช้คนน้อยมาก มีคนขับคนเดียวไม่ต้องมีคนเก็บเงิน ระบบการจัดเก็บค่าโดยสารทำเรียบร้อยตั้งแต่ต้นทาง และถ้าเป็นรถโดยสารในเมืองก็จะมีช่องหยอดเหรียญด้วยตนเอง คนขับมีหน้าที่ฉีกตั๋วให้ คล้ายๆ ไมโครบัส ปอพ. บ้านเราเมื่อนานมาแล้ว


ที่พักรอด้านล่างไม่วุ่นวาย แลดูปลอดภัย เพราะมีแต่ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วแล้ว กับเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องกลัวเรื่องมิจฉาชีพจะมานั่งคุยหลอกไปทำงาน หรือขายของให้รำคาญใจ รถเข้ามาเทียบที่ประตู 10 ตามเวลา ซึ่งเป็นมาตรฐานมาเลเซีย เจ้าหน้าที่หน้าประตู ฉีกตั๋วแล้วให้เราขึ้นรถหาที่นั่ง พร้อมออกเดินทาง เบาะรภกว้างขวางดี แอร์เย็น รถวิ่งนิ่มมาก อาจจะเป็นเพราะสภาพถนน ที่ตั้งแต่ผมมายังไม่เห็นหลุมกลางถนน หรือการปะถนนแบบขอไปทีเหมือนบ้านเราเลย


ดูท่าเรื่องราวมะละกาวันนี้คงต้องแยกไปอีกตอนแล้วละครับ มีภาระกิจต้องทำงานแล้ว เดี๋ยวคืนนี้จะมาต่อเรื่องราวของมะละกา 2/2 นะครับ

นภดล มณีวัต

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559

สะพายเป้ท่องมาเลเซีย ตอนที่ 6 เช้าวันที่ 2 ในมาเลเซีย

อย่างที่บอกไว้ในตอนก่อนหน้านี้ว่า พวกเราเหนื่อยกันมาก ดังนั้นเมื่อคืนจึงหลับสนิทจนเช้า เมื่อตื่นเช้า ผมคิดว่าจะลงไปเดินเล่นๆแถวๆหน้าโรงแรม แต่ก็เจอพี่ฝาตื่นเช้าด้วยเหมือนกันเลยชวนกันเดินไปยังเป้าหมายที่ไกลกว่าเดิม นั่นคือเดินไปสำรวจเส้นทางไปตึกแฝดที่เราวางแผนว่าจะมาถ่ายภาพในคืนนี้กัน ภาพแรกที่ผมได้เห็นที่หน้าโรงแรม คือภาพที่ทำให้ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เหมือนเมืองไทยมากๆ


วัสดุต่างกันแต่เป้าหมายเดียวกัน คือกันไม่ให้รถมาจอด

เราเดินออกมาตามถนนใหญ่ ตามเส้นทางของโมโนเรล เพื่อจะหาว่าสถานีไหนอยู่ใกล้ตึกแฝดที่สุด เพื่อที่คืนนี้เราจะได้ลงรถถูกไม่ต้องเดินไกล ที่นี่ขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ มีป้ายบอกกำหนดการของรถ สายไหนจะเข้ามา เข้ามาเวลาเท่าไหร่ มีบอกไว้ชัดเจนทั้งหมด แม้กระทั่งป้ายรถเมล์


ถนนของมาเลเซียในยามเช้า รถจะมากซักหน่อย แต่ก็ไม่ติดขัดมากมายนัก ผมเดินถ่ายภาพตึกใหญ่ๆ พร้อมกับโมโนเรล ไว้หลายภาพ ผมจะชอบโมโนเรลมากเป็นพิเศษเพราะว่า ดูเล็กกระทัดรัดและคล่องตัว รวมทั้งเดาเอาเองว่าต้นทุนการก่อสร้างน่าจะถูกกว่ารถไฟฟ้า BTS บ้านเราเยอะมาก



บนถนนที่มีการจราจรรคับคั่งสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือ อุบัติเหตุ เช้านี้ผมได้เห็นอุบัติเหตุบนถนนของมาเลเซียด้วย แต่ก็แปลกที่พอลุกขึ้นได้ ตรวจดูว่าไม่เจ็บอะไรมากมาย ก็แยกย้ายต่างคนต่างไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น


เมื่อเดินมาได้ซักระยะ เราก็เห็น KL Tower หอชมเมืองอยู่ทางด้านซ้าย เราจึงเปลี่ยนแผนลองเดินเข้าไปดูกันดีกว่าว่ามีอะไรน่าตื่นเต้นบ้าง


ในซอยที่เราเดินเข้ามานั้น มีร้านขายอาหารอยู่หลายร้าน เป็นร้านริมข้างทาง ที่ขายคนทำงานเหมือนบ้านเรา ราคาไม่สูงและดูน่ากิน ทำให้พวกเราหายสงสัยไปเรื่องนึงว่า คนมาเลย์กินข้าวกันที่ไหน เพราะดูๆแล้ว มีแต่ร้านอาหารที่ราคาสูงๆทั้งนั้น พอมาเจอร้านอาหารในซอยนี้แล้วทำให้รู้ว่า ของดีราคาถูกยังมีอยู่ แต่ต้องใช้เวลาค้นหาซักหน่อย



เมื่อเราเดินมาถึงสี่แยกที่จะเข้า KL Tower ผมเหลือบไปเห็นตึกหลังนี้อยู่ไกลๆ มีภาพสะท้อนในกระจกหน้าต่างที่สวยดี เลยเดินเข้าไปถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก


เดี๋ยวจะว่าไม่มีสาระ เลยเอาประวัติคร่าวๆของ KL Tower มาฝากนิดนึงครับ

หอคอยกัวลาลัมเปอร์ (มาเลย์: Menara Kuala Lumpur) หรือ หอคอยเคแอล คือ หอคอยสูงที่ตั้งอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2538 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสื่อสารและหอส่งสัญญาณสูงถึง 421 เมตร ภายในหอคอยมีภัตตาคารหมุนรอบ ซึ่งสามารถมองเห็นได้รอบกัวลาลัมเปอร์

หอคอยแห่งนี้ คือ มุมมองที่เป็นจุดสังเกตของเมืองเช่นเดียวกับเปโตรนาสทาวเวอร์ อย่างไรก็ตาม หอคอยแห่งนี้ปรากฏสูงกว่าเปโตรนาสทาวเวอร์ เพราะมันถูกสร้างอยู่บนเนินเขาใจกลางกัวลาลัมเปอร์ ในระดับความสูง 515 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทำให้หอคอยนี้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในกัวลาลัมเปอร์




พวกเราไม่ได้เข้าไปชมภายในกัน เพราะมีเวลาน้อย ต้องไปสถานี KL Sentral เพื่อรับสมาชิกที่เดินทางมาจากกรุงเทพอีกหนึ่งคน แล้วเดินทางต่อไปมะละกา ดังนั้นจึงถ่ายภาพรอบนอกมาเป็นที่ระลึก รวมทั้งคำทักทาย สวัสดี และขอบคุณ ตามแบบประเทศต่างๆ


ผมเคยเล่าให้ฟังไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ถนนในมาเลเซีย จะมีทางเท้าที่ปลอดภัย ไม่มีรถ ไม่มีร้านขายของ ให้เกะกะ มีต้นไม้ร่มครึ้ม ทำให้เดินได้ทั้งวันโดยที่ไม่ร้อนและไม่เหนื่อยมากนัก ต้นไม้ที่นี่สามารถโตได้เต็มที่ โดยไม่ต้องถูกตัดยอด ตัดกิ่ง เพราะไม่มีสายไฟฟ้าอยู่ด้านบน ทำให้สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ เป็นร่มเงาให้กับเมืองได้เป็นอย่างดี


ที่จอดรถแทีกซี่ จะจัดไว้เป็นสัดส่วน ไม่ต้องไปจอดแช่ขวางป้ายรถเมล์ ให้เสียช่องทางจราจรเหมือนบ้านเรา แต่จริงๆแล้วบ้านเราก็มีแบบนี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่า จอดได้คันเดียว หรือ สองคันในแต่ละจุด ทั้งๆที่รถแท๊กซี่เรามีมากมาย จนสุดท้ายเลยต้องมาจอดรอผู้โดยสารที่บนถนน



เมื่อเดินออกกำลังยามเช้า กันพอให้เสื้อเปียก เราก็เดินทางด้วยโมโนเรลเข้าไปยัง สถานีกลาง KL Sentral เพื่อหาอาหารเช้ากิน และเตรียมตัวเดินทางไปมะละกา รายละเอียดต่อจากนี้ขอยกไปตอนหน้าทีเดียวเลยนะครับ เนื่องจากเมื่อคืนอดนอนทั้งคืน วันนี้ก็เข้าสวนทั้งวัน รู้สึกเพลียๆ เลยต้องขอตัวแค่นี้ก่อนนะครับ เจอกันตอนต่อไปนะครับ

นภดล มณีวัต