วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2559

สะพายเป้ท่องมาเลเซีย ตอนที่ 3 BATU CAVES

พวกเราซื้อตั๋วโดยสารจากพนักงาน เพราะตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติชำรุด แล้วเดินเข้ามาภายใน ตอนที่พวกเราเข้ามานั้นยังไม่มีพนักงานเลยซักคน อาจจะเพราะว่ายังเช้าอยู่มาก และระบบอัตโนมัติที่ชำรุดการตรวจตั๋วจะทำโดยการเก็บตั๋วที่ปลายทางแทน ทำให้บริเวณขาเข้าไปของพวกเราไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจตั๋ว เมื่อถึงบันไดเลื่อนมีป้ายบอกเส้นทางเดินรถไว้ก่อนลงบันได เส้นทางที่เราจะไปถ้ำบาตู จะใช้ชานชาลาที่ 3 ครับ


รถไฟฟ้าของมาเลเซียมีการจัดรถโดยสารสำหรับผู้หญิงไว้โดยเฉพาะ แต่ละชานชาลาจะมีจุดบอกชัดเจนว่า รถคันที่เท่าไหร่จะจอดตรงไหน แล้วมันก็จอดตรงเป๊ะเลยจริงๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องวิ่งไปหาตู้โดยสารในเวลาที่รถจอด นอกจากนี้ยังมีจอทีวี บอกเวลารถว่าจะเข้าตอนไหน ขบวนต่อไปเวลาเท่าไหร่




เมื่อรถเข้ามาพวกเรารีบขึ้นรถเพราะได้เห็นกันแล้วว่า รถไฟมาเลเซียตรงเวลาจริงๆ ถ้าเราช้าคงจะตกรถเป็นแน่แท้ รถ Komuter ขบวนนี้เป็นรถไฟฟ้าที่ใช้รางขนาด 1 เมตร เช่นเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายสีแดงของเราที่กำลังสร้างอยู่ และคาดว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วเปิดให้ใช้บริการ รูปแบบของรถโดยสารก็จะเป็นประมาณนี้เช่นกัน โดยรถชุดนี้ผลิตในประเทศจีน เช่นเดียวกันกับหัวรถจักรใหม่ที่เพิ่งเข้ามาใช้งานของการรถไฟแห่งประเทศไทย


สภาพภายในขบวนรถก็เหมือนกับรถไฟฟ้าทั่วไป แบบที่ใช้ในบ้านเรา มีป้ายไฟแสดงให้รู้ว่าตอนนี้ถึงสถานีไหนแล้ว สถานีต่อไปเป็นสถานีอะไร ในภาพจะมีแผนผังเส้นทางการเดินรถอยู่สองสาย แต่จะแสดงผลเฉพาะสายที่เรากำลังใช้งานอยู่ แสดงว่าชุดขบวนรถสามารถหมุนเวียนกันใช้งานได้ทั้งสองสาย



ในมาเลเซียจะเต็มไปด้วยป้ายเตือน ป้ายห้ามต่างๆมากมาย และพอจะรู้มาว่า กฎหมายของที่นี่ เด็ดขาดมาก ถ้าทำผิดจะถูกปรับ ถูกลงโทษ โดยไม่ต้องเกรงใจกันหรือกลับไปหาว่า คนที่ตำรวจจับมานั้นเป็นลูกของใคร กฎหมายเสมอภาคกันหมดทำให้สังคมเป็นระเบียบขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ก็ดูอึดอัดอยู่พอสมควรสำหรับคนไทยที่ทำอะไรตามใจจนเป็นเรื่องปกติ ผมสนใจรูปข้อห้ามที่ติดอยู่ในรถไฟฟ้า ที่บ้านเราไม่มี และถ้ามีก็คงจะโดนปรับกันเยอะมากคือ รูปที่ห้ามแสดงความรักกันบนรถ ภาพนี้รวมการ กอด จูบ ลูบ คลำ หรืออะไรต่างๆที่เราเคยเห็นกันบนรถไฟฟ้าบ้านเรา จนมีคนเคยถ่ายคลิปมาให้ดูกันเมื่อเร็วๆนี้ ... บ้านเราน่าจะมีแบบนี้บ้าง


ใช้เวลาไม่นาน เราก็มาถึงสถานีปลายทาง คือ BATU CAVES ระยะทาง 8 สถานีกับค่าโดยสาร 2.6 ริงกิตหรือประมาณ ยี่สิบบาท ถือว่าไม่แพงเลยครับถ้าเทียบกับบ้านเรา อาจจะเป็นเพราะที่มาเลเซีย น้ำมันมีราคาถูก ทำให้ไม่มีต้นทุนสูงอย่างบ้านเราก็เป็นได้ เมื่อมาถึงพี่ฝา ก็ขอถ่ายภาพกับ เจ้า Komuter เป็นที่ระลึกก่อนที่จะเดินกลับขึ้นไปด้านบนเพื่อลงไปยังทางออกฝั่งถ้ำบาตู



เมื่อผมเดินขึ้นมาถึงด้านบน มุมมองแรกที่เห็น คือภาพนี้ครับ เป็นภาพขันธกุมารองค์ใหญ่ ที่พวกเราตั้งใจมาชมกันนั่นเอง ขอนำประวัติคร่าวๆของขันธกุมารมาให้อ่านนิดนึงนะครับ เดี๋ยวจะหาว่า ไม่มีสาระเลย 555

พระขันทกุมาร มหาเทพองค์นี้มีชื่อใกล้มาทางฝ่ายไทย และมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศ ในอินเดียเรียกพระขันทกุมารนี้ว่า สกันทะ (ผู้โลดเต้น ผู้ทำลาย) , กรรตติเกยะ (บางแห่งเขียนว่า การัตติเกยะ) อินเดียตอนใต้เรียก สุพราหมัณเย ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือมาก ตามหมู่บ้านทั้งหลายในอินเดีย จึงนิยมตั้งศาลสักการะบูชาพระขันธกุมารกันแทบทุกหมู่บ้าน

พระขันธกุมาร (ขันทกุมาร) เป็นโอรสของ พระศิวะเทพ กับ พระนางปราวตี (พระแม่อุมา) เกิดจากน้ำเชื้อของพระศิวะมหาเทพ ที่ร่วงหล่มลงพื้นธรณี จนยากที่จะพิสูจน์ว่าพระพิฆเนศกับพระขันธกุมารใครเป็นพี่เป็นน้อง ในวรรณคดีโบราณ เช่น โองการแช่งน้ำ แม้จะมิได้ขานพระนามของพระขันธกุมารโดยตรง แต่ก็มีคำที่ว่า "ขุนกล้าขี่นกยูง" ปรากฎความอยู่

"ขุนกล้า" ในโองการแช่งน้ำนั้นหมายถึง พระขันธกุมารนั่นเอง ด้วยมีสัตว์พาหนะเป็นนกยูงที่ชื่อ ปรวาณี (ก่อนนั้นเป็นปัทมาอสูร)

เอาแค่นี้พอนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นบทความวิชาการซะเปล่าๆ เอาเป็นว่า สองภาพด้านล่างเป็นภาพที่มองเห็นจากบนสถานีรถไฟ BATU CAVES ที่ผมได้เห็นเป็นครั้งแรกก็แล้วกัน ก่อนที่จะลงไปชมความงามชัดๆกันด้านล่าง



เมื่อเราลงมาด้านล่างเดินเข้ามาทางประตูฝั่งสถานีรถไฟ เราจะเจอกับรูปปั้นหนุมานองค์ใหญ่ เป็นหนุมานแหวกอก ซึ่งการสร้างหนุมานปางนี้มีที่มาคือ การที่หนุมานทำการแหวกหน้าอกตัวเอง เผยให้เห็นถึงรูปพระราม (Ram) และพระนางสีดา (Sita) อยู่ภายในอกของตน ชาวฮินดูทั้งหลายกล่าวถึงหนุมานว่า เป็น เทพเจ้าแห่งพละกำลัง และ สัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ต่อผู้บังคับบัญชาประมาณนี้ครับ


เมื่อเดินเข้ามาจนถึงด้านในจะเห็นบันไดสูงมากๆกับรูปขันธกุมารองค์ใหญ่ ที่นักท่องเที่ยวทั้งหลายนิยมมาถ่ายภาพกัน มีศาสนสถานของสาสนาฮินดูอยู่โดยรอบ และเมื่อเดินขึ้นไปด้านบนจะมองเห็นวิวของเมืองที่ตัดกันกับบรรยากาศธรรมชาติของถ้ำบาตูอย่างชัดเจน




ภายในถ้ำยังอยู่ในการก่อสร้าง ผมไม่แนะนำให้อยู่นานมากนัก เนื่องจากอึดอัดและหายใจไม่คล่องมากนัก มีกลิ่นกำยานและปูนจากการก่อสร้างอยู่มากมาย ทำให้บางครั้งจุดที่เดินเข้าไปจะหายใจลำบาก แต่ถ้าภายในถ้ำก่อสร้างเสร็จก็น่าจะเป็นสถานที่ ที่สวยงามมากๆอีกที่นึงเลยทีเดียว และตอนที่ผมเข้าไปนักบวชฮินดู กำลังทำพิธีบูชาขันธกุมารอยู่พอดี ดดยการบูชาทำแบบเดียวกับพระศิวะ คือบูชาด้วยน้ำนม มีปี่และกลองบรรเลงเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า แต่ผมก็อยู่ได้ไม่นานต้องรีบออกมาจากถ้ำเสียก่อน ... ก่อนที่จะเป็นลมเพราะหน้ามืด



เมื่อผมและทีมงานกลับลงมาจากบนถ้ำแล้ว เราก็เริ่มหิวและแถวๆนั้นก็มีแต่ร้านอาหารของชาวฮินดู มีการทำแป้งโชว์อยู่หน้าร้าน เรียกความสนใจได้ดีทีเดียว ทำให้พวกเราเดินเข้าไปดู ในร้านมีอาหารที่ผมคุ้นเคยหลายอย่าง เป็นอาหารแบบที่เคยกินตอนไปอินเดียเมื่อปีที่แล้ว ทั้ง จัมปาตี ปูรี ชากาลัมจาย แต่ที่นี่ดูสะอาดและน่ากินมากกว่า เลยจัดการสั่งมารองท้องกันก่อนคนละชุด



ในชุดอาหารที่สั่งมาจะมีมันบดใส่มาอย่างเดียว ส่วนน้ำแกงจะมีมาให้ต่างหาก โดยเราจะตักใส่ถาดเท่าที่อยากจะกินแล้วส่งต่อๆกันไปในร้าน ผมกินเฉพาะน้ำแกงที่คล้ายๆกับที่บ้านเรามีขาย แต่จำไม่ได้แล้วว่าเรียกว่าน้ำแกงอะไร เอาเป็นว่ารสชาติใช้ได้อยู่ทีเดียว


หลังจากจัดการกับอาหารมื้อแรกในมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว เราก็เดินทางกลับ ด้วยรถไฟสายเดิม มาลงที่สถานี KL Sentral เหมือนเดิม หลังจากนี้เราจะได้ลองเดินทางกันด้วย โมโนเรลไปเดินหาที่พักกัน ซึ่งเป็นที่พักที่เราไม่รู้เหมือนกันว่ามันอยู่ตรงไหน จองมาจากทางอินเตอร์เนต แต่วิธีการนี้ก็สะดวกดี ดีกว่ามาเดินหาเอาที่นี่ ยิ่งช่วงที่เราเดินทางเป็นช่วงปีใหม่ด้วยแล้ว โอกาสที่จะไม่มีที่พักเป็นไปได้สูงเลยทีเดียว


ตอนนี้จบแค่นี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวตอนหน้าจะมาเล่าเรื่องราวของพวกเราให้อ่านกันใหม่

นภดล มณีวัต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น