วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

สะพายเป้ท่องมาเลเซีย ตอนที่ 7 มะละกา 1/2

หลังจากที่เดินชมเมืองในตอนเช้าจนได้เวลาที่จะเดินทางไปรับสมาชิกอีกคน คือ ทิพย์ ที่มาจากกรุงเทพ เพื่อไปมะละกาด้วยกัน เรากลับเข้าไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง คือสถานี KL Sentral เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมของการเดินทางแทบทุกประเภทในกัวลาลัมเปอร์ เป็นที่น่าสังเกตว่าที่มาเลเซียในขณะนี้ กำลังอยู่ในช่วงที่กำลังก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดให้อยู่ในรูปแบบศูนย์รวม คือเป็นสถานีขนส่งที่มีคำว่า sentral (ตามภาษามาเลเซีย) ที่บัตเตอร์เวิร์ต ก็กำลังก่อสร้างอยู่เช่นกัน มีการรวมรถบัส รถไฟ และ เรือเฟอร์รี่ เข้ามาอยู่ด้วยกัน เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทาง และเชื่อมต่อกันได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกล


รูปภาพแสดงสายรถไฟที่เข้ามาสู่สถานีกลาง KL Sentral ที่ในอนาคต สถานีกลางบางซื่อก็จะเป็นแบบนี้ ของเราจะมีรถไฟฟ้าหลายสายทั้ง บนดิน ใต้ดิน ลอยฟ้า รวมทั้งรถด่วนสนามบิน มีห้างสรรพสินค้า รวมทั้งมีเส้นทางที่จะไปมักกะสัน ที่จะเป็นสถานีใหญ่อีกแห่งที่อยู่ไม่ไกลกันมากนัก และถ้าสองสถานีนี้เปิดใช้งาน จะเป็นพื้นที่ศูนย์รวมการคมนาคมที่ใหญ่มากๆ ... อีกไม่นานครับ

วันนี้มีภาพขนาดของรางโมโนเรลมาให้ชมกันด้วย ดูลักษณะของโครงสร้างแล้ว ไม่ใหญ่โตมากมาย ขบวนรถวิ่งบนรางเดี่ยวๆ ทำให้มีต้นทุนไม่สูงมาก แต่สามารถรองรับการโดยสารในชุมชนเมืองได้เป็นอย่างดี อยากให้เมืองใหญ่ๆในบ้านเราลงทุนเรื่องนี้ เพราะคิดว่าระบบนี้ดีกว่ารถสองแถวและรถตู้เป็นร้อยๆคันที่ไปจอดรอแย่งผู้โดยสารกันอยู่บนถนนแน่นอน



สองข้างทางของรถโมโนเรล ไม่ต่างกับ BTS บ้านเรา สามารถมองเห็นเมืองในมุมสูง สามารถมองเห็นสถาพการจราจรด้านล่าง ที่ไม่ติดขัดมากมายนัก และที่สำคัญสามารถมองเห็นการอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหากระทบกระทั่งกันของคนหลายๆศาสนา ทั้งบนขบวนรถ ทั้งพื้นที่ด้านล่าง คนมาเลเซีย ที่เป็นมุสลิม ฮินดู และคนจีนที่น่าจะเป็นมหายาน ไหว้เจ้า นับถือเจ้าแม่กวนอิน และเทพเจ้าจีนทั้งหลาย สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยใช้กติกาเดียวกัน ใช้กฏหมายเดียวกัน มีการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นได้อย่างน่าชื่นชม


เมื่อมาถึงสถานี KL Sentral เรามองหาร้านอาหารเช้า ที่มีอยู่หลายร้านในบริเวณนี้ เราเลือกร้านที่ดูเป็นอาหารที่เราคุ้นเคย เป็นคล้ายๆอาหารจีน อาหารมุสลิม แต่มีการตกแต่งร้านแบบตะวันตก มีพนักงานเป็นคนมุสลิม ดูเมนูแล้วก็น่ากินดี ที่มาเลเซียจะมีราคาอาหารกำกับไว้ทุกเมนูอย่างชัดเจน แต่เวลาจ่ายเงินต้องดูให้ดีว่ามี เซอร์วิสชาร์จ อีกหกเปอร์เซนต์ด้วยหรือเปล่า แต่โดยรวมแล้วที่นี่มีมาตรฐานใหนเรื่องนี้อยู่ทุกร้าน เพราะคิดว่าถ้าร้านไหนไม่ทำตามกฏหมายที่ให้แจ้งราคาไว้ในรายการอาหาร คงจะมีโทษสูงอยู่เหมือนกัน น่าแปลกที่บ้านเรามีกฏหมายนี้อยู่เช่นกัน แต่มีแค่เพียงไม่กี่ร้านเท่านั้นที่ทำตามกฏหมาย


ผมอยากกินอะไรร้อนๆเลยสั่งเจ้านี่มากิน หน้าตาเหมือนเส้นมาม่าบ้านเรา มีไส้กรอกไก่ใส่มาด้วย ราคาแพงนิดนึงอยู่ประมาณร้อยกว่าบาท พี่เอ๋ เห็นภาพที่ผมโพสต์ลงเฟซบุ๊ค บอกมาว่าอาหารแบบนี้ที่ปัตตานี เป็นที่นิยมอยู่เหมือนกัน แต่ขายอยู่ที่สามสิบบาท เอาไว้วันไหนไปปัตตานี ผมจะลองหามากินอีกทีว่ารสชาติจะเหมือนกับที่มาเลเซียหรือเปล่า อาหารมาเลเซียจะต่างกับบ้านเราอีกอย่างคือ เครื่องปรุงไม่มีมากมายอย่างบ้านเรา พริก น้ำปลา น้ำตาล แทบจะไม่มีให้เห็น มาอย่างไรก็กินแบบนั้น นอกจากพวกซอสพริก ซอสมะเขือเทศ อันนี้มีอยู่เป็นปกติ อาจจะเป็นเพราะบ้านเขาไม่กินอาหารรสจัดเหมือนบ้านเรา หรือเป็นเพราะเขาขายรสชาติแบบของเขาจริงๆ ไม่ต้องการให้ลูกค้ามาใส่นู่นใส่นี่ ให้เสียรสชาติเดิม


ในมาเลเซียมีจุดกำหนดให้สูบบุหรี่อย่างชัดเจน คนมาเลย์สูบบุหรี่กันเยอะมาก บุหรี่ที่ขายในร้านสะดวกซื้อราคาแพงมากถ้าเทียบกับบ้านเรา อยู่ที่ 17 ริงกิต แต่เท่าที่ดูบุหรี่ ที่คนพื้นที่สูบกัน ทำให้รู้ว่าที่นี่ก็มีบุหรี่ที่ซื้อได้ในราคาถูกมากๆด้วยเช่นกันแต่ผมไม่รู้ว่าซื้อที่ไหน พื้นที่สูบบุหรี่ของมาเลเซีย จัดไว้ชัดเจนมีที่เขี่ยบุหรี่และที่ดับบุหรี่ไว้ให้อย่างพอเพียง และถังขยะที่นี่จะมีทีึ่ทิ้งบุหรี่ให้ที่ด้านบนทุกถัง อยากให้บ้านเรามีแบบนี้บ้าง โดยเฉพาะรูปแบบของถังขยะ ที่นี่ยอมรับความจริงเรื่องการสูบบุหรี่ ทำให้จัดวางที่ทิ้งไว้เป็นระบบ ไม่ต้องเหยียบทิ้งกับพื้นเหมือนบ้านเรา



ขณะที่นั่งรอสมาชิกที่เดินทางมาจากสนามบินด้วยรถบัส ผมสังเกตว่าคนมาเลเซียก็มีโลกโซเชียลที่เข้มแข็งไม่แพ้ชาติใดในโลกเหมือนกัน ในแต่ละมุมจะมีคนนั่งเล่นโทรศัพท์ และชาร์จแบตโทรศัพท์ตามจุดที่ปลั๊กไฟไว้ให้บริการฟรี โดยไม่ต้องเสียเงินค่าชาร์จครั้งละ 20 บาทเหมือนตามสถานีขนส่งบ้านเรา


และเมื่อสมาชิกมากันพร้อมหน้า เราก็เริ่มต้นการเดินทางไปมะละกากันที่นี่ วันนี้เราเริ่มต้นด้วยการนั่งรถไฟด่วนสายสนามบิน KLIA หรือเทียบได้กับ ARL แอร์พอร์ทลิงค์บ้านเรา โดยรถสายนี้จะวิ่งแค่ 6 สถานี มีรถธรรมดา ที่จอดทุกสถานี กับด่วนพิเศษที่วิ่งรวดเดียวถึงสนามบิน 1 และ 2 ของมาเลเซีย เราไปแค่สถานีเดียวดังนั้นเราจึงนั่งรถแบบด่วนธรรมดาครับ


บรรยากาศในขบวนรถ เป็นแบบเดียวกันกับ ART บ้านเรา แต่ของมาเลเซียสภาพดีกว่าอาจจะเป็นเพราะมีการใช้งานเพียงรูปแบบเดียว คือเป็นด่วนสนามบินเท่านั้น ไม่ได้ให้บริการระยะสั้นๆกับประชาชนทั่วไปแบบบ้านเรา รวมถึงมีค่าบริการที่สูงอยู่พอสมควร



เมื่อมาถึงสถานี Bandar Tasil Selatan ที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีขนส่งสายใต้ของมาเลเซีย เราออกเดินไปตามทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟกับสถานีขนส่งโดยไม่ต้องใช้บริการ วินมอเตอร์ไซค์หรือรถตุ๊ก ตุ๊ก มันเป็นความสะดวกที่ยังหาได้ยากในบ้านเรา ที่ขนส่งมวลชนแต่ละเจ้า ต่างก็แยกกันทำ สุดท้ายก็เชื่อมต่อกันไม่ได้ ที่สถานีรถไฟจะมีรั้วรอบขอบชิด แยกกันชัดเจน ระหว่างรถไฟพื้นฐานที่ให้บริการรถโดยสารทั่วไป รถสินค้า กับรถไฟฟ้าชานเมือง Komuter กับรถด่วน KLIA ด่วนสนามบิน มีทางเชื่อมเป็นสะพานลอยด้านบน ทุกสถานีมีลิฟท์ไว้ให้บริการสำหรับ คนพิการ คนชรา และผู้ที่มีสัมภาระมากๆ โดยไม่ต้องร้องขอจาก รปภ.เหมือนบางประเทศ



เมื่อเราเข้ามาในสถานีขนส่ง ภาพแรกทำให้ตกใจอยู่นิดหน่อย คือมันกว้างขวางมาก มีการตกแต่งจัดวางมุมต่างๆ เหมือนสนามบินทุกอย่าง มีจุดขายตั๋ว และมีเส้นทางเข้าไปยัง เกทต่างๆเหมือนสนามบินทุกอย่าง มีจอแสดงผลขนาดใหญ่ แจ้งเวลารถ ต้นทาง ปลายทาง รวมถึงประตูที่จะออกไปขึ้นรถ ที่ช่องขายตั๋ว เราสามารถเลือกที่นั่งได้ เหมือนรถไฟหรือเครื่องบิน ก่อนจะเข้าไปยังที่พักด้านล่างเพื่อรอขึ้นรถ จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วอีกครั้ง โดยจะให้เข้าไปได้เฉพาะผู้โดยสารเท่านั้น ทำให้ดูไม่วุ่นวายและมีความปลอดภัย มากกว่าสถานีขนส่งที่ประเทศไทยมาก



ในการซื้อตั๋วต้องใช้บัตรประจำตัวหรือพาสปอร์ต เพื่อแสดงตน เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้โดยสารที่คนบ้านเราไม่สนใจเลย โดยเฉพาะการนั่งรถไฟฟรี การมีตั๋วโดยสารที่ระบุชัดเจน เมื่อมีอุบัติเหตุหรือมีเหตุให้เดินทางต่อไม่ได้ ผู้ให้บริการจะรับผิดชอบกับผู้โดยสารที่มีตั๋วหรือยืนยันตัวตนชัดเจนเท่านั้น ไม่ใช่มาตะคอกกับเจ้าหน้าที่ว่า เรื่องมาก แบบที่ผมได้เห็นเป็นประจำที่สถานีรถไฟบ้านเรา


เราได้ตั๋วเรียบร้อย พร้อมออกเดินทางไปมะละกากันแล้ว เมื่อผ่านการตรวจตั๋วจากเจ้าหน้าที่ด้านบน เพื่อยืนยันการเดินทางเราก็ลงมาด้านล่างเพื่อนั่งรอรถของเรา โดยในตั๋วแจ้งชัดเจนว่า เกท 10 หรือประตูที่ 10 แต่ละประตูจะมีเจ้าหน้าที่รอตรวจตั๋วอีกครั้งก่อนขึ้นรถ ทำให้ระบบขนส่งมวลชนของมาเลเซีย โดยเฉพาะรถบัส ใช้คนน้อยมาก มีคนขับคนเดียวไม่ต้องมีคนเก็บเงิน ระบบการจัดเก็บค่าโดยสารทำเรียบร้อยตั้งแต่ต้นทาง และถ้าเป็นรถโดยสารในเมืองก็จะมีช่องหยอดเหรียญด้วยตนเอง คนขับมีหน้าที่ฉีกตั๋วให้ คล้ายๆ ไมโครบัส ปอพ. บ้านเราเมื่อนานมาแล้ว


ที่พักรอด้านล่างไม่วุ่นวาย แลดูปลอดภัย เพราะมีแต่ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วแล้ว กับเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องกลัวเรื่องมิจฉาชีพจะมานั่งคุยหลอกไปทำงาน หรือขายของให้รำคาญใจ รถเข้ามาเทียบที่ประตู 10 ตามเวลา ซึ่งเป็นมาตรฐานมาเลเซีย เจ้าหน้าที่หน้าประตู ฉีกตั๋วแล้วให้เราขึ้นรถหาที่นั่ง พร้อมออกเดินทาง เบาะรภกว้างขวางดี แอร์เย็น รถวิ่งนิ่มมาก อาจจะเป็นเพราะสภาพถนน ที่ตั้งแต่ผมมายังไม่เห็นหลุมกลางถนน หรือการปะถนนแบบขอไปทีเหมือนบ้านเราเลย


ดูท่าเรื่องราวมะละกาวันนี้คงต้องแยกไปอีกตอนแล้วละครับ มีภาระกิจต้องทำงานแล้ว เดี๋ยวคืนนี้จะมาต่อเรื่องราวของมะละกา 2/2 นะครับ

นภดล มณีวัต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น