หลังจากที่พวกเราขึ้นรถโดยสารเรียบร้อย ต่างหาความสงบด้วยการงีบหลับเอาแรงกัน แต่ผมกับป็อก นั่งริมหน้าต่างดังนั้นพวกเราจึงไม่ได้หลับแบบคนอื่นๆเพราะมัวแต่ถ่ายภาพวิวสองข้างทางของมาเลเซียอยู่ตลอดการเดินทาง เส้นทางระหว่างเมืองนี้เป็นทางที่ต้องเสียเงินค่าผ่านทาง ไม่แน่ใจว่าเป็นทางพิเศษหรือว่าปกติถ้าข้ามเมืองก็ต้องจ่าย เรื่องนี้ค่อยหาข้อมูลกันใหม่อีกที รอบนี้เน้นขั้นตอนในการเดินทางเสียมากกว่าข้อมูลเชิงวิชาการครับ
นั่งรถกันมาประมาณชั่วโมงนิดๆไม่เกินสองชั่วโมง เราก็ออกจากทางด่วน เข้าสู่ สถานีขนส่งมะละกา ระบบขนส่งของมาเลเซียจะจัดให้รถหรือระบบขนส่งระหว่างเมืองเข้ามารวมกันก่อนเข้าเมือง และจะมีระบบขนส่งของท้องถิ่นนำผู้โดยสารออกไปอีกที ทำให้ไม่วุ่นวายและทำให้รถติดในเมือง บ้านเราพยายามใช้หลักการนี้เหมือนกัน นำสถานีขนส่งออกไปไว้ข้างนอก แล้วใชัรถโดยสารขนาดเล็ก นำผู้โดยสารเข้ามาในตัวเมือง แต่ระบบของเราล้มเหลว เพระากลายเป็นว่าพวกรถสองแถวเหล่านั้น กลายเป็นภาระเสียเอง เก็บเงินแพงบ้าง วิ่งนอกเส้นทางบ้าง ดังนั้นการให้บริการที่เป็นรูปแบบชัดเจนในลักษณะนี้ เราจึงต้องอาศัยดูจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียก่อนครับ
ในสถานีขนส่ง มีร้านอาหารอยู่หลายร้าน พวกเราคิดว่าเราจะหาอะไรๆกินกันให้อิ่มก่อน จะได้ไปเดินเล่นในเมืองประวัติศาสตร์มะละกาได้เต็มที่ ดังนั้นเมื่อเดินไปเดินมาแล้ว ก็เหมือนผีจับยัดให้เรามานั่งที่ร้านนี้ ดูเมนูน่ากิน แต่รสชาติสุดฝืนกลืนทน สำหรับคนไทย แถมเวลาคิดเงินยังบวกเพิ่มค่าบริการเข้าไปอีก แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา สถานีรถไฟกับสถานีขนส่งบ้านเราฟันหนักกว่านี้อีก
รถที่ให้บริการในเมืองของมาเลเซียจะมีรูปแบบที่เหมือนกัน ขึ้นประตูหน้า ลงประตูกลาง ขึ้นแล้วหยอดเงินลงตู้ คนขับจะฉีกตั๋วให้ เป็นรถ Rapid KL ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เรานั่งไปได้ไม่นานก็ถึงเป้าหมาย เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะลงกันที่ตรงนี้ เป็นย่านไชน่า ทาวน์ เมืองเก่า ตรงนี้จะเดินรถทางเดียว ดังนั้นในตอนกลับเราก็ต้องหาทางขึ้นรถเมล์กลับจากตรงไหนซักที่นึงในมะละกา แต่เดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที
มะละกา (มาเลย์: Melaka; ยาวี: ملاك) เป็นรัฐทางตอนใต้ในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ตรงข้ามกับเกาะสุมาตรา รัฐมะละกาเป็นหนึ่งในสองรัฐของมาเลเซียที่ไม่มีเจ้าผู้ครองรัฐเป็นประมุขแต่มีผู้ว่าราชการรัฐแทน
ในอดีต มะละกาเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตกบนช่องแคบมะละกามากว่า 500 ปี มีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปกรรมโปรตุเกส ดัตช์ และมาเลย์ ได้รับการยกย่องให้เป็นนครประวัติศาสตร์บนช่องแคบมะละกาจากองค์การยูเนสโก
การท่องเที่ยวชมเมืองประวัติศาสตร์มะละกา ทำได้โดยการ นั่งริกชอร์ หรือสามล้อถีบ ที่แต่งรถกันหวานแหววมากๆ กับการเดิน รวมทั้งนั่งเรือล่องไปในแม่น้ำ ใครชอบแบบไหนก็จัดไปตามความพอใจ เมืองเก่า ตึกเก่า ที่เป็นประวัติศาสตร์ ถ่ายรูปมาสวยงาม และเป็นความทรงจำที่ดีทีเดียว
เมื่อราว พ.ศ. 1800 เจ้าชายปรเมศวรหรือปาราเมิสวารา(PARAMASWARA)ได้ทรงอพยพออกจากปาเล็มบัง เหตุเนื่องด้วยการรุกรานจากอาณาจักรมัชปาหิต ซึ่งก่อนที่จะมาถึงมะลากานั้น เจ้าชายปรเมศวรได้เข้าไปตั้งเมืองอยู่ที่ตูมาซิก(TUMASIK)หรือเตมาเซก หรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน แต่เนื่องด้วยในตอนนั้นตูมาซิก ตกอยู่ใต้อำนาจของสยาม ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับสยามและเจ้าชายองค์นี้จึงต้องออกเดินทางออกมา จนมาถึงที่มะละกา มาสร้างเมืองใหม่ที่นี่และกลายเป็นจักรวรรดิการค้าที่ยิ่งใหญ่ในอีก 200 ปีต่อมา และเป็นแหล่งแรกที่ศาสนาอิสลามเข้าสู่มาเลเซียผ่านทางพ่อค้ามุสลิมอินเดียที่มาจากปาไซ และเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบสุลต่าน
ต่อมา พ.ศ. 2052 โปรตุเกสเดินทางมาถึงมะละกาเพื่อขอตั้งสถานีการค้าแต่ถูกปฏิเสธ จนนำไปสู่สงครามระหว่างโปรตุเกส-มะละกา ซึ่งโปรตุเกสเป็นฝ่ายชนะเมื่อ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2054 มะละกาถูกเนเธอร์แลนด์ยึดครองเมื่อ พ.ศ. 2184 หลังจากเนเธอร์แลนด์ขับไล่โปรตุเกสออกไป ต่อมามะละกากลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษตามสนธิสัญญาแองโกล-ดัตซ์ หรือสนธิสัญญาอังกฤษ-ฮอลแลนด์ พ.ศ. 2367
ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มะละการวมกับปีนังและสิงคโปร์ในชื่อนิคมช่องแคบซึ่งแยกต่างหากจากสหพันธรัฐมลายู หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มะละกาเข้ารวมอยู่ในสหภาพมาลายา และกลายเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียเมื่อมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ
ผมเดินอยู่บนถนนในเมืองเล็กๆ ที่ต่างประเทศที่ไม่น่าจะมีใครรู้จัก แต่ผมได้ยินเสียงแว่วๆมาว่า "พี่นภๆๆๆ" ผมไม่แน่ใจว่าหูฝาดไปหรือเปล่า แต่ก็หันไปดู ปรากฏว่าเป็น เสี่ยศรัลย์ เพื่อนร่วมงานสมัย ทรูมูฟ และหัวเว่ย พาครอบครัวมาเที่ยวที่มะละกาด้วยเช่นกัน แต่เป้าหมายจะต่างกันตรง เมื่อเสร็จจากที่นี่ ผมกลับไปกัวลาลัมเปอร์ แต่ศรัลย์ จะเดินทางต่อไปสิงคโปร์
ผมเดินชมเมืองไปเรื่อยๆ ถ่ายภาพเก็บไว้เยอะพอสมควร แต่คงจะลงได้ไม่มากนัก เอาไว้ตามดูในเฟซบุ๊ตก็แล้วกันครับ
ในมะละกา มีร่องรอยการขุดค้น โบราณสถานเก่าๆอยู่หลายจุด
ที่มะละกา มีความเชื่อของคนไทย หรืออาจจะมีชาติอื่นด้วยว่า ถ้ามาลูบปืนใหญ่แล้วอฐิษฐานขอลูก จะประสบผลสำเร็จ มีเพื่อนๆผมที่เมืองไทยเคยมาขอแล้วได้ตามที่หวังไว้เหมือนกัน รวมทั้งเพื่อนที่ส่งไลน์มาบอกให้ลูบปืนใหญ่ขอลูกให้ด้วย เอาเป็นว่าถ่ายรูปมาให้ดูแล้วอยากได้ก็ลูบหน้าจอเอาเองก็แล้วกัน
เราเดินชมเมืองกันจนได้เวลาที่เราจะกลับ รถไปกัวลาลัมเปอร์จะหมดตอนสี่ทุ่ม แต่เราต้องรีบ เพราะต้องการไปถ่ายตึกเปโตรนาส ในยามดึกให้ทัน บวกเวลาในการเดินทางแล้ว เราต้องออกจากที่นี่อย่างเร็วที่สุด ในระหว่างทางที่เดินมารอรถเมล์ไปสถานีขนส่ง เจอริกชอร์ยามค่ำคืน เวลาเปิดไฟสว่างๆแล้ว สวยดีเหมือนกัน
เราได้ตั๋วรถโดยสารเที่ยวสามทุ่ม เป็นรถเอกชน แพงกว่าขามานิดหน่อย แต่ก็ยอมเพราะเรามีเป้าหมายอยู่ที่ตึกแฝดในกัวลาลัมเปอร์ ที่จะปิดไฟตอนเที่ยงคืน ดังนั้นเราจึงต้องรีบนิดหน่อย การเดินทางกลับก็ย้อนไปตามรูปแบบเดิม นั่งรถมาลงที่สถานีขนส่ง ขึ้นรถ KLIA มา KL Sentral ต่อโมโนเรล มาลงที่สถานีใกล้ๆตึกแฝด Bukit Nanas แล้วรีบเดินไปที่ตึกแฝดเพื่อถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก
สถานีรถไฟของมาเลเซียในตอนกลางคืน ไม่น่ากลัว เพราะการจะลงมาตรงนี้ต้องซื้อตั๋วเดินผ่านเข้าระบบมาก่อน ดังนั้นจึงไม่มีคนเมามานอน หรือ มีเด็กมาเดินขอบุหรี่แบบบ้านเรา
เรามาทันรถโมโนเรล ที่น่าจะเป็นเที่ยวสุดท้ายพอดี รถว่างมาก และเมื่อมาถึงตึกแฝด เราเดินไปไม่ทันถึงตัวตึกไฟก็ทยอยดับลง ได้ภาพมาเป็นที่ระลึกนิดหน่อย แต่ที่สำคัญคือ โมโนเรลหมดแล้ว ไม่มีให้บริการ ดังนั้นเราจึงต้องเดินกลับมาที่พักซึ่งก็ไม่ไกลมากนัก เท่ากับที่เราเดินมาเมื่อเช้านั่นเอง
เมื่อถึงที่พักก็เริ่มหาของกินก่อนนอน แต่คืนนี้ผมขอกินมาม่า เพราะร่างกายน่าจะต้องการอะไรที่แปลกไปกว่าอาการปกติ ซัดมาม่าที่มีกลิ่นเครื่องเทศฉุนๆ บวกกับโต้กเย็นๆ แถมบุหรี่อีกสองสามมวน อาบน้ำอุ่นแล้วก็หลับเป็นตาย เพื่อที่จะตื่นมาในวันพรุ่งนี้่ตอนหกโมงเช้า พี่ฝานัดแทีกซี่ให้มารับที่หน้าโรงแรมเพื่อเดินทางไปสนามบินกัวลาลัมเปอร์ แห่งที่ 2 ที่ใช้สำหรับสายการบินภายในประเทศ พรุ่งนี้เราจะไป ปีนังกันครับ เรื่องราวการเดินทางที่แสนทรหดจะเป็นอย่างไร รอตอนต่อไปนะครับ คาดว่าอีกไม่นาน
นภดล มณีวัต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น