วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7เป็นกษัตริย์ของอาณาจักรเขมรที่ยิ่งใหญ่ (พ.ศ. 1724 - พ.ศ. 1762) ในบริเวณที่เป็นประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เป็นพระโอรสของพระเจ้าธรนินทรวรมันที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ. 1693 - พ.ศ. 1703) และพระนางศรี ชยราชจุฑามณี พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สถาปนานครธม นครหลวงแห่งสุดท้ายของอาณาจักรเขมร ในประเทศกัมพูชายังมีสระน้ำแห่งหนึ่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่7 ทรงใช้เป็นประจำอีกด้วย

พระราชประวัติ

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 ประสูติเมื่อประมาณ พ.ศ. 1663 หรือ พ.ศ. 1668 พระนามเดิมคือเจ้าชายวรมัน ทรงเสกสมรสตั้งแต่ทรงพระเยาว์กับเจ้าหญิงชัยราชเทวี สตรีที่มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญที่สุดเหนือพระองค์ รวมทั้งโน้มนำให้พระองค์หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน

ราว พ.ศ. 1720 – 1721 พระเจ้าชัยอินทรวรมันแห่งอาณาจักรจามปา ทรงนำทัพจามบุกเข้าโจมตียโศธรปุระ กองทัพเรือจามบุกเข้าถึงโตนเลสาบ เผาเมือง และปล้นสะดมสมบัติกลับไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจับพระเจ้าตรีภูวนาทิตวรมันประหารชีวิต เชื่อกันว่า การรุกรานเมืองยโศธปุระครั้งนั้น เจ้าชายวรมันได้วางเฉยยอมให้เมืองแตก จากนั้นพระองค์จึงกู้แผ่นดินขึ้นมาใหม่ โดยนำทัพสู้กับพวกจามนานถึง 4 ปี จนสามารถพิชิตกองเรือจามผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือได้อย่างราบคาบ ในยุทธการทางเรือที่โตนเลสาบ

พ.ศ. 1724 ยโศธปุระกลับสู่ความสงบ พระองค์ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พร้อมกับบูรณปฏิสังขรณ์ราชธานีขึ้นมาใหม่ รู้จักกันในชื่อ “เมืองพระนครหลวง” หรือ “นครธม” หรือ “นครใหญ่” และย้ายศูนย์กลางของราชธานีจากปราสาทปาปวนในลัทธิไศวนิกาย มายังปราสาทบายนที่สร้างขึ้นใหม่ ให้เป็นศาสนสถานในลัทธิมหายานแทน จากนั้นมา ศูนย์กลางแห่งอาณาจักรเขมรโบราณก็คือ ปราสาทบายน หรือนครธม

พระองค์ทรงสถาปนาคติ “พระพุทธเจ้าที่ยังมีชีวิต” หรือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรขึ้นมา ซึ่งหมายถึงตัวพระองค์เอง คือพระโพธิสัตว์ที่เกิดมาเพื่อปัดเป่าทุกข์ภัยให้แก่ราษฎร ภาพสลักรูปใบหน้าที่ปรากฏตามปรางค์ในหลายปราสาทที่ทรงสร้างขึ้น เชื่อว่าคือใบหน้าของพระองค์ในภาคพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั่นเอง

หลังจากสถาปนาศูนย์กลางอาณาจักรแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงทรงแก้แค้นศัตรูเก่าคืออาณาจักรจามปา ใน พ.ศ. 1733 กองทัพของพระองค์ก็สามารถยึดเมืองวิชัยยะ เมืองหลวงของจามปาได้ นอกเหนือจากการสงครามแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างพุทธสถานไว้มากมาย เช่น ปราสาทบันทายคดี ปราสาทตาพรม ที่สร้างถวายพระมารดา ปราสาทพระขรรค์ สร้างถวายพระบิดา ปราสาทตาโสม ปราสาทนาคพัน ปราสาทบันทายฉมาร์ ในเขตประเทศไทยปัจจุบัน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นผู้บูรณะปราสาทหินพิมายซึ่งสันนิษฐานเป็นเมืองเกิดของพระมารดา และปราสาทเขาพนมรุ้ง ให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และยังมีอาณาจักรละโว้ เมืองศรีเทพ อีกด้วย

นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดให้สร้าง “บ้านมีไฟ” หรือที่พักคนเดินทาง ซึ่งก่อด้วยศิลา และจุดไฟไว้ตลอด ศาสตราจารย์ หลุยส์ ฟิโนต์ ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ เรียกอาคารแบบนี้ว่า “ธรรมศาลา”

จารึกที่ปราสาทพระขรรค์ กล่าวถึงที่พักคนเดินทางว่ามีจำนวน 121 แห่ง อยู่ตามทางเดินทั่วราชอาณาจักร และตามทางเดินไปเมืองต่างๆ ในจำนวนนั้น มี 17 แห่งอยู่ระหว่างการเดินจากเมืองพระนครไปยังเมืองพิมาย ซึ่งศาสตรจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล พบว่าที่พักคนเดินทางเท่าที่ค้นพบแล้วมี 7 แห่ง แต่ละแห่งห่างกันประมาณ 12 – 15 กิโลเมตร .. จารึกปราสาทพระขรรค์ระบุอีกว่า มีการสร้างโรงพยาบาล หรือที่จารึกเรียกว่า “อโรคยาศาลา” จำนวน 102 แห่ง กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีส่วนหนึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สิ้นพระชนม์ในประมาณปี พ.ศ. 1758 หรือ พ.ศ. 1762 เชื่อกันว่ามีพระชนม์ชีพยืนยาวถึง 94 ปี ด้วยฉลองพระนามหลังสวรรคตว่า “มหาบรมสุคตะ” หมายความว่า พระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น