วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาษามลายูกับชื่อบ้านนามเมือง

ภาษามลายูกับชื่อบ้านนามเมือง

ไหนๆก็เริ่มสงสัยแล้วว่า ชื่อบ้านชื่อเมืองในภาคใต้บ้านผม นี้มีความเป็นมาอย่างไรทำไมบางชื่อถึงดูแปลกๆ หาคำแปลที่ตรงกับภาษาปัจจุบันไม่ได้ ว่าแล้วก็เริ่มค้นห้องสมุดในกะลา ของผมที่พอจะมีหนังสืออยู่บ้างพอสมควร เปิดๆๆๆๆ แล้วก็ค้นหาข้อมูลต่างๆ เพื่อที่จะนำมาเขียนเล่าให้เพื่อนๆได้อ่านกัน

ในสุราษฎร์ธานี มีคำโบราณที่ใช้กันอยู่หลายๆคำที่ผมเคยอ่านเจอในหนังสือหลายๆเล่มและได้รับการบอกเล่ามาจากท่านผู้รู้หลายๆคน อย่างเช่น ท่าขนอน หรือ สำเนียงสุราษฎร์จะเรียก ท่าหนอน ซึ่งการตัดคำนำหน้าเสียงสั้นออกจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของภาษาใต้ ท่าขนอน จะเรียกสั้นๆว่าท่าหนอน แปลว่า ปากน้ำด่าน (เก็บเงิน) ซึ่งจะใช้คำนี้กับแม่น้ำที่มีการเดินทางสัญจร มีเรือขนสินค้าผ่าน กลุ่มคนที่มีบ้านเรือนหรือมีอาณาจักรบริเวณนั้นจะเก็บค่าผ่านทาง คล้ายๆกับมอเตอร์เวย์ในสมัยนี้ และสถานที่เก็บเงินเหล่านั้นจะเรียกว่า "ท่าขนอน" ในภาคกลางก็พอมีคำนี้อยู่บ้าง คำว่า ขนอนเหนือ ขนอนใต้ ซึ่งผมเดาเอาเองตามประสาอึ่งอ่างในกะลาของผมว่า น่าจะมีความหมายเดียวกัน

จากที่เคยเล่ามาในบทก่อนหน้านี้ที่ผมเคยบอกว่า ผมสงสัยว่าคำหลายคำหรือชื่อสถานที่หลายๆชื่อ อาจจะเป็นสถานที่เดียวกันหรือมีความหมายเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่า ชนชาติใดเป็นผู้เรียก หรือใช้คำศัพท์เหล่านั้น คำว่าท่าขนอน น่าจะใช้ในสมัยอยุธยา หรือก่อนหน้านั้นไม่นาน เพราะไม่พบว่ามีคำนี้ใช้มาก่อนหน้านั้น

ปากน้ำด่าน ผมเคยเจอและเคยอ่านพบในหนังสือเครือ มติชน (ขออภัยที่จำไม่ได้ว่าเล่มไหน) มีท่านผู้รู้ภาษามลายู แปลคำว่า กระบี่ ว่าหมายถึง ปากน้ำด่านเช่นกัน
และผมเชื่อในคำแปลนี้ มากกว่าที่คนกระบี่กลุ่มใหม่ๆที่ให้คำนิยามของบ้านเกิดตัวเองว่า มาจากการที่ค้นพบดาบโบราณ ซึ่งผมว่าไม่น่าจะใช่ เพราะดาบเล่มเดียวที่เพิ่งพบไม่นาน คงไม่สามารถฝังความคิดของคนทั้งแถบนี้ให้ยึดติดกับคำว่ากระบี่ได้

คำว่า "กระ" "กะ" แปลว่าปากน้ำที่มีช่องทางออกสู่ทะเลอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันที่มีความผูกพันธ์กับภาษามลายู จะมีชื่อบ้านนามเมืองเป็นชื่อที่มีคำว่า กะ ผสมอยู่มากมาย เช่น กมลา แปลว่า ปากน้ำแห่งความเศร้า (พ้องกับตำนานพระนางเลือดขาว) กะหลิม กะไหล กะปง กะปาง และอีกมากมาย ผมลองขับรถอ่านชื่อป้ายหมู่บ้านต่างๆที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า กะ ก็พบว่าพื้นที่เหล่านั้นจะเป็น พื้นที่ติดน้ำและใกล้ๆทะเลหรือเป็นเส้นทางเดินเรือสมัยก่อนแทบทั้งสิ้น

กระโสม คือชื่อตัวเมืองของอำเภอตะกั่วทุ่ง โสม หรือ โซม ซวม แปลว่า ร้อน ไม่แน่ใจว่า คำว่าโสมที่เราใช้ๆกันอย่างโสมเกาหลีต่างๆจะมาจากคำนี้ด้วยหรือเปล่า เพราะเจ้าสมุนไพรตัวนี้กินแล้วร้อนเช่นกัน ดังนั้นถ้า กระ แปลว่าปากน้ำ โสม แปลว่าร้อน กระโสมต้องแปลว่า ปากน้ำร้อน และถ้าลองเดินขึ้นไปตามลำน้ำกระโสม ก็จะพบว่าที่ต้นน้ำนั้นมีบ่อน้ำร้อนตั้งอยู่จริงๆ

จากหนังสือในเครือมติชนเล่มนี้ ยังยกตัวอย่าง กะไหล อีกหนึ่งชื่อ กะไหล ( Kalai ) แปลว่ายืนพิงกัน ซึ่งก็ถูกต้องแล้วครับ เพราะปากน้ำกะไหลที่บ้านสามช่องเป็นที่ตั้งของเขาพิงกันที่หลายๆคนเคยไปเที่ยวนั่นละครับ แต่ครั้นจะใช้คำว่า กะกะไหล หรือ กระกะไหล ก็ไม่ใช้ลักษณ์การใช้คำหรือการออกเสียงในภาษาใต้ ดังนั้นปากน้ำแห่งนี้เลยกร่อนคำออกมาเป็น กะไหล เท่านั้นเองครับ

มีอีกเรื่องคือเรื่องตะกั่วป่า หรือ ที่มีคนเรียกว่า ตะโกลา อาณาจักรโบราณสมัย พุทธศัตวรรษที่ 12 ผมก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงเรียกชื่อนี้ ที่มีชื่อนี้ขึ้นมาก็เป็นเพราะได้ค้นพบชื่อนี้จากเอกสารบันทึกของจีน หรือ อาหรับที่มาทำการค้าขายกับหัวเมืองแถบนี้ในสมัยนั้นๆ

ที่ตะกั่วป่านี้ คงจะใช้สาเหตุการเรียกชื่อแบบตะกั่วทุ่งไม่ได้ เพราะที่ตะกั่วทุ่งท่านผู้รู้ได้บอกไว้ว่า ตะกั่วทุ่งกร่อนมาจากภาษามลายู คำว่า กัวลาทุงกุ แปลว่า ทางสามช่อง ( บ้านสามช่อง ตรงกะไหล) ซึ่งก็น่าจะใกล้เคียง เพราะเมื่องตะกั่วทุ่งเดิมอยู่ที่กะไหลนั่นเอง ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่กระโสม แต่คำว่าตะกั่วป่า หรือ ตะโกลา นี้มาจากไหนไม่ทราบ เป็นภาษาอะไร อึ่งอ่างในกะลาอย่างผมก็มิอาจทราบได้ แต่จากการศึกษาด้านศิลปวัตถุและการคงอยู่ของกลุ่มคนบริเวณนั้น และศึกษาเส้นทางค้าขาย ทำให้ทราบว่า บริเวณตะกั่วป่า หรือแถวๆ เขาพระนารายณ์นั้น มีกลุ่มคนมาอาศัยอยู่เพื่อใช้เส้นทางเดินทางจากอันดามันสู่อ่าวไทย โดยขึ้นบกแล้วเดินผ่านทางช่องเขามาลงแม่น้ำแถวๆคีรีรัฐนิคม ออกแม่น้ำพุมดวง มาแม่น้ำตาปี ซึ่งเรื่องราวของเส้นทางโบราณเส้นนี้จะมาเล่าให้ฟังอีกครั้งเพราะเป็นเรื่องที่น่าสนใจดีครับ

ตลอดเส้นทางโบราณเส้นนี้เราจะพบโบราณวัตถุมากมาย เช่นกลองมโหรทึก ที่น้ำรอบ มีวัดถ้ำสิงขร มาจนบรรจบกับแม่น้ำตาปีที่พุนพิน บริเวณควนท่าข้ามก็พบลูกปัดโบราณ ต่างๆมากมายตลอดเส้นทางสายนี้

ชนชาติที่มาอาศัยอยู่ที่ตะกั่วป่า เป็นชนชาติ ทมิฬ ที่นับถือ ศาสนาพราหมณ์ และน่าจะเป็นต้นกำเนิดของพราหมณ์สายต่างๆของทาง นครศรีธรรมราชด้วย เพราะเมื่อพราหมณ์เหล่านี้เดินทางล่องมาตามแม่น้ำพุมดวง มาถึงความพุนพินแล้ว ก็สามารถแยกย้าย เดินทางขึ้นไปตามแม่น้ำหลวง ( แม่น้ำตาปี) ไปทางเวียงสระจนถึงนครศรีธรรมราชได้เช่นกัน รายละเอียดเรื่องนี้ยังมีอีกมากมายขอข้ามไปก่อนเช่นกันครับ เดี๋ยวพื้นที่ในกะลาแคบๆของผมจะเต็มซะก่อน

กลับมาที่ชื่อตะกั่วป่ากันบ้าง ผมสนใจคำว่า ตะลูฆู มากๆ คำว่าตะลูฆู นี้ อาจจะไม่ใกล้เคียงกับตะกั่วป่า หรือ ตะโกลา เลย แต่คำนี้ก็หมายถึงชาวทมิฬ เช่นกัน แต่ผมคงต้องยกไว้ศึกษาในกะลาของผมอีกซักระยะ เพราะไม่มีอะไรมารองรับข้อสงสัยของผมได้เลย แต่สรุปว่าแถวๆตะกั่วป่าในสมัยนั้นเป็นทาง ลักผ่าน ที่จะไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางให้กับอาณาจักรทะเลใต้ที่ควบคุมช่องทางเดินเรือและมีกองทัพที่ชำนาญการรบทางน้ำ อาศัยการเก็บภาษีผ่านทางอย่างเดียวก็ร่ำรวยแล้ว ตะโกลา ตะกั่วป่า มีอายุอยู่ไม่นานนัก ก็ถูก เจ้าถิ่น แห่งอาณาจักรทะเลใต้ ยกทัพมาปราบจนราบคาบ เหลือไว้แต่เส้นทางเดินที่ไม่ใช่เพื่อการค้าที่ยังคงใช้งานกันมาจนถึงเมื่อประมาณไม่กี่สิบปีมานี้ ก่อนที่จะสร้างเขื่อนรัชประภา และการคมนาคมสะดวกมากขึ้น

ช่องทางเดินนี้มีเส้นทางใหม่ที่ไม่ต้องผ่านเขาศก คือ เมื่อเดินทางขึ้นมาจนสุดแม่น้ำคีรีรัฐแล้ว สามารถเปลี่ยนเส้นทางไปทางอ่าวลึกได้ ( เหมือนรถไฟฟ้าเลย ) แล้วไปลงทะเลที่แถวๆปากลาว นั่งเรือหรือเดินต่อไปพังงา ภูเก็ตได้สะดวก เส้นทางนี้ใช้กันมากในสมัยอยุธยาครับ

เอาไว้วันหน้าจะมาเปิดกะลาให้อ่านกันอีกนะครับวันนี้มีภาระกิจต้องไปตรัง คงจะกลับมาดึก

นภดล 25/6/2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น