วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาษาถิ่น กับ ประวัติศาสตร์

สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดใหญ่ที่มีพื้นที่กว้างขวางมาก มีพื้นที่ติดทะเลและมีเกาะแก่งต่างๆรวมถึงพื้นที่เป็นภูเขาทางด้านตะวันตก มีความเกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมมากมายหลายรุ่น ทั้งอารยธรรมเก่าแก่ตั้งแต่พุทธศัตวรรษที่ 5 เป็นต้นมา หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น

กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในสุราษฎร์ธานีมีอยู่หลากหลายประเภท มีวัฒนธรรมทางภาษาที่แตกต่างกัน อย่างทางกาญจนดิษฐ์ ดอนสัก เกาะสมุย เกาะพะงัน ยาวไปถึงอำเภอขนอมจังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีสำเนียงเฉพาะที่ใครๆได้ฟังแล้วจะรู้ได้ทันทีว่า คนพูดสำเนียงแบบนี้ต้องมาจากพื้นที่แถวนั้น

บริเวณด้านตะวันออกของสุราษฎร์ธานีจะออกเสียง ไม้โทเป็นเสียงจัตวา เช่น ได้ จะออกเสียงเป็น ด๋าย ด้วย ก็จะเป็น ด๋วย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคนแถบนั้น แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษและเกี่ยวข้องกับอารยธรรมเก่าแก่ของดินแดนแถบนี้หรือรวมไปถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยก็คือ สำเนียงภาษาของคนไชยาและท่าชนะครับ

ดินแดนไชยาเป็นดินแดนเก่าแก่ หรือที่หลายๆคนรู้จักว่า ศรีวิชัย คำว่าศรีวิชัยเป็นคำที่นักโบราณคดีชาวต่างชาติใช้เรียกดินแดนแถบนี้ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนไปเรียกชื่ออื่น เช่นดินแดนอาณาจักรทะเลใต้ แต่ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อเรียกไปแล้วในเชิงเอกสารโบราณคดี แต่ชื่อศรีวิชัยกลับติดปากคุ้นหูของคนไทยไปเสียแล้ว ยากที่จะเปลี่ยนความเข้าใจได้ ดังนั้นคำว่าศรีวิชัยจึงยังคงอยู่คู่กับอารยธรรมแถบนี้ไปอีกยาวนานเลยทีเดียวจนกว่าจะชี้ชัดเจนแบบฟันธงลงไปได้โดยไม่ให้มีข้อโต้เถียงกันอีก

พูดถึงเรื่องภาษาถิ่นของคนไทยสุราษฎร์ธานี ที่ไชยาและท่าชนะนั้น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ยังคงอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ เพื่อนๆของผมที่มาจากพุมเรียงหรือคันธุลี จะออกเสียงสำเนียงแบบนี้กันทั้งนั้น เช่น เย็น จะออกเสียงเป็น หยิน ตู้หยิน ลมออกเสียงเป็น ลุม เค็ม ออกเสียงเป็น คิม แบบนี้เช่นกัน ดังน้นถ้าเรามองย้อนกลับไปประมาณพันกว่าปีที่แล้ว ถ้าสำเนียงแบบนี้ที่พูดกันอยู่ในดินแดนแถบนี้ยังมั่นคงแข็งแรงทางวัฒนธรรมที่ยังไม่มี ภาษากลาง บางกอก เข้ามากลืนให้เริ่มเลือนลาง สำเนียงเฉพาะถิ่นตรงนี้จะมีบทบาทสำคัญในการเรียกชื่อบ้านนามเมืองในสมัยนั้นมากมาย

ผมสงสัยว่า สำเนียงไชยาและท่าชนะ จะมีบทบาทสำคัญในบันทึกของจีน ที่เรียกชื่อบ้านเมืองแถบนี้อย่าง หลวงจีนอี้จิง เพราะในสมัยนั้นการจะรู้จักบ้านเมืองที่ไม่รู้จัก หรือการเรียกชื่อท้องถิ่นคงจะต้องถามจากคนพื้นเมืองในสมัยนั้น อย่างตอนนี้เพื่อนผมที่อยู่ที่ท่าชนะ ยังออกเสียงบ้านเกิดของมันว่า คัน โท่ ลี ตามสำเนียงพื้นถิ่นอยู่เลย ซึ่สำเนียง คันโท่ลี นี้ก็ตรงกับเอกสารจีนโบราณที่เขียนไว้เกี่ยวกับบ้านเมืองเก่าแก่แถบนี้ แต่ถ้าออกเสียงแบบภาษากลางจะเป็น คันธุลี ไปเสีย

ดังนั้นการค้นเอกสารจีนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในแนวทาง ประวัติศาสตร์ในกะลา ของผมจึงพยายามจะมองลึกลงไปถึงเรื่องของภาษาถิ่นหรือตำนานท้องถิ่นควบคู่กันไปด้วย ส่วนจะลงไปได้ลึกแค่ไหนนั้นต้องคอยดูกันต่อไปว่าผมจะหาเอกสารหลักฐานเหล่านั้นได้มากขนาดไหน หรือเมื่อเวลาผ่านไปแล้วผมก็ยังคงวนเวียนอยู่ในกะลาของผมต่อไปโดยไม่ได้อะไรเพิ่มเติมขึ้นมาเลยก็เป็นได้

นอกจากภาษาถิ่นในสุราษฎร์ธานีแล้ว ภาษามลายู เป็นภาษาที่น่าสนใจมากๆ เพราะดินแดนแถบนี้ใช้ภาษามลายูมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชื่อบ้านนามเมืองและภูเขาทะเลแม่น้ำ ล้วนมีรากฐานมาจากภาษามลายูเสียเป็นส่วนมาก ในแนวความคิดของผมมีความสงสัยว่า บางครั้งชื่อเรียกต่างๆของเมืองแถบนี้ อาจจะมีหลายชื่อ แต่เป็นสถานที่เดียวกัน แตกต่างกันตรงที่บริเวณนั้นจดบันทึกโดยคนชาติใดและใช้ภาษาอะไรในการบันทึก ทั้งนี้จะต้องมีเงื่อนไขของเวลามาเกี่ยวข้องด้วยว่า แผ่นดินขณะนั้นเป็นสมัยใดและชนชาติใดปกครอง

และมาจนถึงบรรทัดนี้ ความรู้เดิมที่ว่าคนไทยมาจากที่อื่นอพยพลงมาจากเทือกเขาอัลไต ได้ถูกล้างออกไปจนหมดสิ้นจากสมองของผมแล้วครับ เพราะที่ศึกษามาก็รู้แล้วว่าอารยธรรมแถวๆนี้มีความเป็นมายาวนานร่วมสองพันปีเลยทีเดียว แล้วแบบนี้เราจะยังคงเชื่อตามนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศษที่มาเขียนประวัติศาสตร์ให้เราเรียนกันอีกหรือ เราลองมาค้นคว้าหาที่มาของบ้านเมืองของเราด้วยความเป็นกลางและตามหลักฐานที่มีอยู่ในบ้านเรากันดีกว่าครับ ถึงแม้ว่าบางครั้งเราทำไปแล้วจะไม่ได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นมาเลย แต่อย่างน้อยเราก็จะได้ภาคภูมิใจในความเป็นมาของเรากันครับ

ครั้งต่อไปผมจะลองหาคำต่างๆเกี่ยวกับภาษาถิ่น ที่เป็นภาษามลายูมาเปรียบเทียบกับสถานที่ในปัจจุบันเท่าที่จะหาได้จากห้องสมุดในกะลาของผมให้ได้อ่านกันนะครับ

นภดล

24/6/2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น