ตะขบป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Flacourtia indica)
ภาคเหนือเรียก มะเกว๋นนก มะเกว๋นป่า หรือตานเสี้ยน พบทั่วไปตั้งแต่เอเชีย แอฟริกา โพลีเนเซีย เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นคดงอ เปลือกสีน้ำตาลอ่อน มีหนาม ผิวใบเรียบหรือมีขนกระจาย ดอกออกเป็นช่อ ขนาดเล็ก สีขาว มีขนปกคลุม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน แยกออกตอนปลาย เกสรตัวผู้จำนวนมากสีขาว ผลกลม เมื่ออ่อนสีเขียว สุกแล้วเป็นสีแดงสด รสเปรี้ยว
ผลและยอดอ่อนรับประทานได้ ผลสดนำมาแปรรูปเป็นแยมหรือไวน์ เนื้อไม้ใช้ทำด้ามอุปกรณ์ต่างๆ ผลและเนื้อไม้มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม ใบใช้แก้งูกัด เปลือกไม้รักษาโรคผิวหนังได้ ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดเชียงใหม่ใช้รากต้มน้ำดิ่มแก้ปวดเมื่อย
ตะขบป่า http://frynn.com/%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2/
ตะขบป่า ชื่อสามัญ Ramontchi, Governor’s plum, Batoko plum, Indian plum, East Indian plum, Flacourtia, Madagascar plum[2],[3]
ตะขบป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Flacourtia indica (Burm.f.) Merr.[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์สนุ่น (SALICACEAE)
สมุนไพรตะขบป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมักเบ็น (นครราชสีมา), เบนโคก (อุบลราชธานี), ตานเสี้ยน มะแกว๋นนก มะแกว๋นป่า (ภาคเหนือ), มะเกว๋น (เมี่ยน, คนเมือง), ตะเพซะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), บีหล่อเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ตุ๊ดตึ๊น (ขมุ), ลำเกว๋น (ลั้วะ), มะขบ เป็นต้น
ต้นตะขบป่า จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-15 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง ปลายกิ่งโค้งลง ตามลำต้นและกิ่งใหญ่จะมีหนามแหลม กิ่งอ่อนจะมีหนามแหลมตามซอกใบ หนามยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ส่วนกิ่งแก่ ๆ มักจะไม่มีหนาม เปลือกต้นเป็นสีเหลืองอมเทาแตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศรูปรีกระจายแบบห่าง ๆ พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ และตามป่าชายหาด ตลอดจนตามริมแม่น้ำ ชอบพื้นที่กลางแจ้ง ทนแล้งและน้ำท่วมขังได้ดี[1],[2]
ใบตะขบป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ขนาดของใบค่อนข้างเล็ก มักเรียงชิดกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง มีรูปร่าง ขนาด เนื้อใบ และขนที่ขึ้นปกคลุมแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่แล้วแผ่นใบจะเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบกลม โคนใบสอบแคบ ส่วนขอบใบค่อนข้างเรียบหรือจัก (มักจักใกล้ปลายใบ) ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงถึงมีขนสั้นหนานุ่มทั้งสองด้าน ใบอ่อนและเส้นกลางใบเป็นสีแดงอมเส้น เส้นแขนงใบมีประมาณ 4-6 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห พอเห็นได้ลาง ๆ ก้านใบเป็นสีเขียวหรือแดงและมีขน ยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร
ดอกตะขบป่า ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบและปลายกิ่ง มีจร ดอกย่อยมีจำนวนน้อย ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว เป็นดอกแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ที่โคนช่อมีใบประดับ บางทีมีหนาม ก้านดอกมีขน ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกมีประมาณ 5-6 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ ปลายมน ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ด้านและที่ขอบกลีบมีขนแน่น ส่วนด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง ดอกเพศผู้ จานฐานดอกจะแยกเป็นแฉกเล็กน้อยหรือหยักมน มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร มีขนเฉพาะที่โคน ส่วนดอกเพศเมีย จานฐานดอกจะเรียบ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รังไข่กลม ปลายสอบแคบ มี 1 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมีประมาณ 5-6 อัน ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร แต่ละก้านปลายจะแยกออกเป็น 2 แฉก และม้วนออก ส่วนกลีบเลี้ยงมีประมาณ 5-6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายมน มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ผิวด้านในและขอบมีขนขึ้นหนาแน่น ส่วนด้านนอกเกลี้ยง
ผลตะขบป่า ผลจะออกเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นพวงเล็ก ๆ ตามกิ่ง ลักษณะของผลเป็นรูปกลมหรือรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำ ลักษณะชุ่มน้ำ ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 5-8 เมล็ด มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผล ผลจะสุกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[1]
สรรพคุณของตะขบป่า
ใบแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงร่างกาย (ใบ)
ผลใช้กินเป็นยาแก้อ่อนเพลีย (ผล)
แก่นหรือรากใช้กินเป็นยาแก้ตานขโมย (แก่น,ราก)
ใช้เป็นยาแก้อหิวาตกโรค (น้ำยางจากต้น)
น้ำต้มจากใบแห้งใช้กินเป็นยาแก้ไข้ แก้ไอ (ใบ)
หนามมีรสฝาดขื่น มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ลดความร้อน แก้พิษฝีต่าง ๆ (หนาม)
น้ำยางจากต้นและใบสด ใช้กินเป็นยาลดไข้สำหรับเด็ก แก้อาการไอ (น้ำยางจากต้นและใบสด)
น้ำต้มจากใบแห้งใช้กินเป็นยาขับเสมหะ (ใบ)
แก่นมีรสฝาดขื่น ใช้ต้มน้ำดื่มเป็นยาขับเหงื่อ (แก่น)
เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้เสียงแห้ง นำเปลือกมาแช่หรือขงเป็นยากลั้วคอแก้เจ็บคอ (เปลือกต้น)
ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ผล)
น้ำต้มจากใบแห้งใช้กินเป็นยาแก้หืดหอบ หลอดลมอักเสบ (ใบ)
รากมีรสหวานฝาดร้อน ใช้กินเป็นยาแก้โรคปอดบวม (ราก)
น้ำยางจากต้นและใบสดใช้เป็นยาแก้โรคปอดอักเสบ (น้ำยางจากต้นและใบสด)
ใบแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับลม(ใบ)
ใช้เป็นยาแก้บิดและท้องเสีย (น้ำยางจากต้นและใบสด)
แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด(แก่น)หรือใช้ใบแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องร่วง (ใบ)
เปลือกต้นนำมาตำรวมกับน้ำมัน ใช้ทาถูนวด แก้ปวดท้อง (เปลือกต้น)
ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้แก่นตะขบป่า นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดง (แก่น)
ผลมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ผล)
น้ำยางจากต้นและใบสดมีสรรพคุณในการช่วยย่อยอาหาร (น้ำยางจากต้นและใบสด)
ใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน (แก่น,ราก)
ใบนำมาย่างไฟจนแห้งใช้ชงกินหลังการคลอดบุตรของสตรี (ใบ)
ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้แก่นหรือรากตะขบป่า 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำพอท่วมยา ใช้ดื่มวันละ 3-5 ครั้ง เป็นยาแก้โรคไตพิการ (แก่น,ราก)
รากใช้กินเป็นยาแก้ไตอักเสบ (ราก)
ผลมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการของโรคดีซ่าน ม้ามโต (ผล)
น้ำต้มใบแห้งใช้กินเป็นยาฝาดสมาน (ใบ)
ลำต้นใช้ผสมกับหัวเอื้องหมายนา ผักแว่นทั้งต้น และหอยขมเป็น ๆ 3-4 ตัว นำมาแช่น้ำให้เด็กอาบเป็นยาแก้อีสุกอีใส อีดำอีแดง (ลำต้น)
แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคผิวหนัง ประดง ผื่นคัน (แก่น,ราก,ทั้งต้น)
เปลือกต้นนำตำรวมกับน้ำมัน ใช้ทาถูนวด แก้คัน (เปลือกต้น)
แก่นตะขบป่าใช้เข้ายากับแก่นมะสัง หนามแท่ง และเบนน้ำ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย แก้คัน(แก่น)ส่วนชาวกะเหรี่ยงแดงจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (ราก)
เมล็ดใช้ตำพอกแก้ปวดข้อ (เมล็ด)
รากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำนม (ราก)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น