ประวัติของ พระครูบาผาผ่า ( พระครูปัญญาวรวัตร )
ที่มา http://board.palungjit.org/f15/%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87-%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2-192901.html
· ตนบุญแห่งอำเภอแม่สะเรียง ผู้มีสมาธิจิตแก่กล้าแต่เยาว์วัย
· สามารถหยั่งรู้จิตใจของคนอื่นและเหตุการณ์ล่วงหน้าได้
· ผู้ถือมังสะวิรัติเคร่งครัดในพระกัมมัฎฐาน เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม
· เป็นพระภิกษุรูปเดียวที่ครูบาเจ้าศรีวิไชย ยกย่องประกาศเกียรติคุณว่า มีบุญญาธิการบารมีแก่กล้า แต่ไม่ชอบแสดงตนและยอมรับว่าเป็น “ ตุ๊น้อง ”
· วัตถุมงคลของท่านครูบา เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ ให้ผลทางเมตตามหานิยม แคล้วความจากอุบัติเหตุเภทภัยอันตรายต่างๆ นานา
“ แม่สะเรียง ” ในอดีตมีชื่อเรียกว่า “ เมืองยวม ” คู่กับอำเภอขุนยวม เพราะคำว่า “ ยวม ” ก็คือ แม่น้ำยวม เมืองยวมอยู่ปลายแม่น้ำยวม เคยเป็นเมืองหน้าด่านเพื่อปกป้องอาณาจักรลานนาไทย มีอยู่หลายครั้งพม่าเคยยกกองทัพผ่านเมืองยวมไปตีเมืองเชียงใหม่ และกองทัพลานนาไทยส่วนหน้าก็ได้เคยมาสะสมกำลัง และเสบียงอาหารไว้ ณ ดินแดนแห่งแคว้นนี้ ก่อนที่จะยกกองทัพลานนาบุกตลุยข้ามแม่น้ำสาละวิน ไปฟากตะวันตกโดยได้มาพักที่ริมแม่น้ำสะเรียง และได้มาที่ วัดกิตติวงศ์ ซึ่งในอดีตเรียกว่า “ วัดชัยสงคราม ” เพื่อทำพิธีทางไสยศาสตร์ อาทิ อาบขาง สักยา ในทางคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดตามวิชาการสู้รบในครั้งกระโน้น ปรากฏว่าได้ผล และได้รับชัยชนะในการรบมาทุกครั้ง
บรรดาบรรพบุรุษเราคือ ทหารหรือคนหาญ ก็ได้ไปเดินขวักไขว่ อยู่ในกรุงหงสาวดี และเด็ดดอกฟ้าเอาข้ามแม่น้ำสาละวินมาเชยชม แต่ก็มีอยู่หลายครั้งเหมือนกันที่บรรพบุรุษของเราได้วิ่งหนีจนป่าราบมาแล้วในสมัย หยิ่นหน่อง มหาราชเจ้ากรุงหงสาวดี ที่คนไทยเราเรียกว่า “ บุเรงนองมหาราช ” แต่ทั้งหมดนี้มันก็เป็นเรื่องอนิจจังในอดีต ปัจจุบันไทยกับพม่าเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทสนม มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน
ครูบาผาผ่าคือใคร
จากเมืองยวมสู่ลุ่มน้ำสาละวิน เขตแดนพม่า ในบรรดาพระอาจารย์ผู้เรืองเวทย์ เปี่ยมไปด้วยเมตตาบารมี มีศีลาจารวัตรยึดมั่น ในสัมมาปฏิบัติ ถือมังสาวิรัติเคร่งครัดในพระกัมมัฏฐาน มีสมาธิแก่กล้า มีเจโตปริญาณสามารถหยั่งรู้จิตใจของคนอื่น และเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ ในถิ่นแคว้นลานนาไทย หรือภาคเหนือก่อนโน่น เห็นมีครูบาผาผ่า หรือพระครูปัญญาวรวัตร สำนักวัดผาผ่า อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ครูบาเจ้าศรีวิไชย ได้ยกย่องประกาศเกียรติคุณ ทั้งนี้จากการกล่าวขานของชาวพุทธ ทั้งชาวเรา ชาวเขา
ในสมัยที่ครูบาเจ้าศรีวิไชยยังมีชีวิตอยู่ ชาวเรา – ชาวเขา แม่สะเรียงจำนวนมากได้หลั่งไหลกันไปทำบุญขอศีลขอพรกับท่านครูบาเจ้าศรีวิไชย ที่เชียงใหม่ และช่วยทำงาน เช่น สร้างทางขึ้นดอยสุเทพเป็นต้น และการคมนาคมในสมัยนั้นแสนทุระกันดาร ไม่มีถนนให้รถราวิ่งสะดวกอย่างปัจจุบันนี้ จากอำเภอแม่สะเรียงไปเชียงใหม่ ต้องเดินเท้า ใช้เวลาเดิน ๕ - ๗ วัน เดินขึ้นเขาลงห้วย ได้รับความลำบากยากเข็ญเป็นที่สุด
ครูบาเจ้าศรีวิไชยได้เห็นความลำบากของพี่น้องชาวพุทธ อำเภอแม่สะเรียง ที่ต้องเดินทางไกลมาด้วยความลำบากเช่นนั้น จึงได้บอกว่า ต่อไปไม่จำเป็นจะต้องมาทำบุญขอศีลขอพรกับอาตมาถึงที่นี่ก็ได้ มีอะไรก็ให้ไปหา “ ตุ๊น้อง ” ที่ วัดดอยล้อม ที่เมืองยวม โน้นก็ได้ เพราะท่านก็มีบุญบารมีแก่กล้าทุกอย่างเหมือนกัน เพียงแม่ตุ๊น้องไม่ชอบแสดงตนเท่านั้น คำว่า “ ตุ๊น้อง ” หมายถึงท่านครูบาผาผ่าฯนั่นเอง นับแต่นั้นมา บรรดาชาวพุทธ ทั้งชาวเรา – ชาวเขา อำเภอแม่สะเรียง ต่างพากันไปทำบุญให้ทานขอศีลขอพรกับท่านครูบาผาผ่ามากขึ้น
สมัยเมื่อ ๒๐ ปีก่อนโน้น การคมนาคมจากอำเภอแม่สะเรียงไปยังหมู่บ้านผาผ่า แสนทุระกันการ ไม่มีทางรถยนต์ไปถึงเหมือนปัจจุบันนี้ เราจะต้องเดินทางไปอีกด้วยเท้าเปล่าประมาณ ๑๕ กิโลเมตรเศษ แต่ประชาชนทั้งใกล้และไกล ทั้งชาวเรา – ชาวเขา ต่างก็มีอุตสาหะเดินทางไปทำบุญ ขอศีลพรจากท่านครูบาฯโดยมิได้ขาด มีบางคนบางพวกก็ไปขอยารักษาโรค ขอน้ำมนต์ ขอวัตถุอันเป็นมงคลเพื่อความสุขความสวัสดีแก่ตนและครอบครัว
ชาติกำเนิด ครูบาผาผ่าฯ นามเดิมชื่อ สวน นามสกุล คำภีระ เกิดที่หมู่บ้านผาผ่า ตำบลแม่คะตวน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๒ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒ ปีฉลู บิดาชื่อนายปั่น มารดาชื่อนางธิ มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม ๔ คน
อันธรรมดาผู้มีบุญญาธิการมักจะมีอุบัติเกิดผิดแผกกว่าคนอื่น ๆ เราจะไม่ขอเปรียบเทียบเช่น พระพุทธเจ้า ซึ่งประสูติที่สารวโนยานไม้รังคู่ โดยพระมารดาประทับยืนประสูติ จึงขอเปรียบเทียบกับนักบุญแห่งล้านนาไทย คือท่านครูบาเจ้าศรีวิไชย ขณะคลอดมีเสียงฟ้าร้องอึกคนึงไปทั่วทิศ ทั้งๆ ที่ไม่มีเค้าฝน ท่านจึงได้นามเมื่อเป็นเด็กว่า “ อ้ายฟ้าฮ้อง ” ท่านครูบาผาผ่าก็เช่นเดียวกัน ท่านเกิดในขณะที่มารดาอุ้มท้องแก่ไปเก็บผักในสวนตอนเช้าเพื่อนำมาปรุงอาหาร ท่านก็คลอดจากครรภ์มาโดยง่ายดายไม่มีอาการทุรนทุราย จึงได้ชื่อว่า “ เด็กชายสวน ”
เด็กชายสวน เป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อเกเร มีเมตตาธรรมแต่เยาวัย ไม่ทานเนื้อสัตว์ตัดชีวิต อายุ 17 ปี จึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรโดยมี ครูบาเต๋ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบรรพชาแล้วได้ศึกษาคำภีร์มูลกัจจายน์พระสูตรและพุทธมนต์คาถา และพระกัมมัฏฐาน จนมีความรู้ความสามารถและมีจิตเป็นสมาธิแก่กล้าแต่เยาวัย
สามเณรสวน ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดผาผ่า ครูบาตุ้ย วัดห้วยสิงห์เป็นพระอุปัชณาย์ พระอธิการอินต๊ะวัดบ้านใหม่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้นามฉายาว่า “ ปัญญาวโร ” แปลว่าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ เมื่ออุปสมบทแล้วก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดผาผ่า สืบแทนท่านครูบาเต๋จ๊ะมาจนสิ้นอายุขัย
เมื่อท่านครูบาฯได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว ปรากฎว่ามีธนบัตรใบละหนึ่งบาทเก่า ๆ อยู่เพียง ๑๐๐ บาทเศษ
ท่านครูบาฯได้รักษาศีล วินัย อย่างเคร่งครัดมิได้ด่างพร้อย มีอยู่บ่อยครั้งท่านครูบาฯได้หลบความวุ่นวายในวัดที่มีคนไปกวนใจ หนีขึ้นเขาเข้าป่าจำศีลภาวนาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่ฉันอาหารเป็นเวลา ๓ - ๗ วัน จนเป็นที่ร่ำรือกันว่า ท่านครูบาฯได้สำเร็จญานสมาบัติมีเมตตาเปี่ยมล้น ท่านจึงเปรียบเสมือนสังฆราชสุข วัดพลับ หรือหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน แห่งโพทะเล
ด้านการปกครองสงฆ์ ท่านครูบาฯก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล และเป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตตำบลแม่คะตวนมาเป็นเวลาอันยาวนานและได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ “ พระครูปัญญาวรวัตร ” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๑ และท่านได้ถึงแก่มรณะภาพเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๐๔ รวมอายุได้ ๗๒ ปี
แม้ว่าท่านครูบาฯจะได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้วก็ตาม แต่คุณความดีและบารมีอภินิหารยังปรากฏเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศ มีสาธุชนเป็นจำนวนมาก เมื่อทราบประวัติเกียรติคุณแล้ว ต่างก็แสวงหาวัตถุอันเป็นมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับท่านครูบาฯ
ในขณะที่ท่านครูบาฯยังมีชีวิตอยู่ ไม่เคยมีการสร้างพระผง หรือเหรียญของท่านเลย นอกจากผ้ายันต์ที่มีคนขอท่านก็ทำให้เป็นรายบุคคลไป หลังจากท่านถึงแก่มรณภาพแล้วจึงมีคณะศิษย์ได้จัดสร้างรูปเหมือน พระผง และเหรียญของท่านออกเผยแพร่ เพื่อเป็นอนุสรณ์น้อมรำลึกถึงคุณความดีและประกาศเกียรติคุณของท่าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น