สถานีเพชรบุรีในเวลาที่มีรถไฟเข้าสู่สถานี แม่ค้าพ่อค้าต่างก็เดินขายของกันอย่างคึกคัก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของรถไฟไทย โดยการขายของข้างขบวนรถจะมีเวลาไม่นานนัก ขึ้นอยู่กับเวลาที่ขบวนรถจอดที่สถานีนั้นๆ การขายของของพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของตามสถานีรถไฟมีอยู่สองแบบ คือการเดินขายข้างรถที่สถานี กับการขึ้นไปเดินขายบนรถ เดินทางไปพร้อมๆกับขบวนรถ ซึ่งแม่ค้าพ่อค้าจะมีกำหนดชัดเจนเลยว่า จะขึ้นขบวนไหนไปลงที่ไหน แล้วจะขึ้นขบวนไหนกลับมา
ย้อนอดีตไปเมื่อเกือบๆยี่สิบปีที่แล้ว ในวันที่ผมยังเรียนไม่จบ(ซักที) ปีนั้นเพื่อนๆผมจบกันเกือบหมดแล้ว ส่วนผมเองก็เกือบจะจบเห่เอวัง เพราะเรียนมาจนหมดวิชาในคณะของตัวเองแล้วแต่เกรดก็ยังไม่ถึง 2.00 จึงยังไม่สามารถขอจบได้ ปีนั้นผมมีเรียนเทอมละหนึ่งวิชา เพื่อเก็บเกรดเฉลี่ยให้ได้ตามเกณฑ์ที่จะขอจบ แต่การอยู่ในกรุงเทพทั้งปีเพื่อเรียนเทอมละหนึ่งวิชานั้น ดูจะเป็นการโหดร้ายไปซักนิดสำหรับผู้ปกครองที่ต้องส่งเสียค่าใช้จ่าย ทั้งค่าที่พักค่ากินค่าใช้ ที่ต้องมารับภาระกับนักศึกษาที่ไม่จบตามเวลาอย่างผม
ช่วงนั้นเพื่อนชวนผมมาทำงานเป็นลูกจ้างรายวัน มีรายได้วันละ 200 บาทถ้วน วันไหนไม่มีงานก็จะไม่ได้เงิน สัปดาห์นึงมีงาน สี่วันบ้าง สามวันบ้างแล้วแต่ว่าจะมีของให้ทำงานหรือเปล่า แต่นั่นก็ดีกว่าที่ผมจะอยู่ในกรุงเทพที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากๆโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแล้วรอเรียนแค่สัปดาห์ละครั้ง
ผมทำงานมีรายได้สัปดาห์ละ 600 - 800 บาท มันก็ยังพอที่จะใช้จ่ายและซื้อตั๋วรถไฟเดินทางขึ้นกรุงเทพ ในคืนวันพุธ แล้วกลับมาในคืนวันพฤหัส โดยทั้งสองคืนผมจะนอนบนรถไฟ กลับมาถึงก็ทำงานต่อเลย ผมทดลองเดินทางอยู่หลายขบวน จนมาลงตัวที่รถด่วนตรัง ที่มาถึงสุราษฎร์ธานีประมาณสามทุ่ม เพราะว่ารถชั้นสามของขบวนนี้จะมีผู้โดยสารน้อยกว่าขบวนอื่นๆ ผมสามารถเอาเบาะนั่งลงมาตั้งที่พื้น แล้วนอนยาวๆได้เลย หลับสบายๆแบบรถนอนชั้นสามที่ พวกซื้อตั๋วรถนั่งชั้นสองต้องอิจฉาเลยทีเดียว
ผมมาถึงกรุงเทพ ประมาณสิบโมงเช้า นั่งรถเมล์สาย 7 มาบ้านรุ่นน้องที่บางแค อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วเดินทางไปเรียนตอนบ่ายสอง เลิกสี่โมงเย็น หลังจากนั้นผมก็นั่งรถเมล์ไปหัวลำโพง ซื้อตั๋วรถไฟขบวน กรุงเทพ - กันตัง เดินทางกลับถึงสุราษฎร์ธานีในตอนเช้าอีกวัน โดยผมใช้เวลานอนบนรถไฟสองคืน ใช้เวลาอยู่ในกรุงเทพหนึ่งวัน ที่เหลือก็มาทำงานบ้าง เที่ยวบ้าง ตามประสาวัยรุ่นในสมัยนั้น ผมใช้ชีวิตแบบนี้อยู่หนึ่งปีเต็มโดยไม่รู้จัดเหน็ดเหนื่อย อาจจะเป็นเพราะผมชอบรถไฟ ชอบเดินทาง และที่สำคัญได้ใช้ชีวิตแบบที่เรียกได้ว่าเผชิญชะตากรรมตามแบบหนังสือนิยายคาวบอยที่ชอบอ่าน ถึงแม้ว่าจะแตกต่างกันมากกับการขี่ม้ายิงปืนแบบในหนังสือ แต่การนั่งรถไฟชั้นสามไปกรุงเทพทุกสัปดาห์เป็นเวลาหนึ่งปีนั้น ให้อะไรกับผมมากมายจนทำให้ได้เป็นผมในวันนี้
มาถึงเรื่องที่จะเล่าเกี่ยวกับสถานีเพชรบุรีเสียที วันที่ผมกลับจากกรุงเทพนั้น ผมจะเดินทางกับรถเร็วกันตัง ออกจากสถานีกรุงเทพ 18:20 น. (ถ้าจำไม่ผิด) เวลานั้นเป็นเวลาที่สบายๆแล้วสำหรับผม เพราะไม่ต้องรีบ เรียนเสร็จแล้ว กำลังจะกลับบ้าน ในตอนนั้น ณ.จุดๆนั้นผมจะเหลือเงินอยู่ประมาณสองร้อยบาท ผมจะเปลี่ยนมันเป็น เหล้าหนึ่งแบนกับฉลามหนึ่งขวด น้ำเปล่าหนึ่งขวดนั่งกินมาเรื่อยๆคนเดียว ตอนนั้นเหล้ายังขายบนรถไฟได้เป็นปกติ ไม่ได้ห้ามเหมือนทุกวันนี้ เหล้าที่ขายบนรถไฟจะเป็นเหล้าราคาถูกๆ ยี่ห้อแบล๊ค แคท อันโด่งดังจากโฆษณา "ไอ้ฤทธิ์ กินแบล็ค" ที่ตอนนี้หายไปจากตลาดแล้ว เพราะว่าราคามันถูกเวลามาขายบนรถไฟแบนละ 100 บาทจะทำกำไรได้มาก หงสืทองหรือแสงทิพย์ ดังนั้นผมที่เป็นสาวกหงส์ทอง เลยต้องซื้อมาจากข้างล่าง ใส่กระเป๋าทหารที่ผมสะพายเป็นประจำขึ้นมานั่งกินบนรถ
ผมทำแบบนั้นอยู่หลายสัปดาห์ก็ได้รู้จักพ่อค้าขายขนมหม้อแกงคนนึง แกชื่อพี่อ้อย พี่อ้อยจะขึ้นจากสถานีศาลายา ขายขนมหม้อแกงมาบนรถเที่ยวนี้จนถึงเพชรบุรีในเวลาค่ำๆเป็นประจำทุกวัน ถ้าวันไหนขายดีก็จะเสร็จสิ้นภาระกิจประจำวันของแกเร็วหน่อย แกก็จะมานั่งพักสบายๆรอเวลารถเข้าสถานีเพชรบุรี วันนึงแกมานั่งข้างๆผม ผมก็ชวนแกคุยหรือแกชวนผมคุย ผมก็จำไม่ได้ จำได้แค่ว่าวันนั้นเมื่อเหล้าของผมหมดแบน แกก็ซื้อเหล้าบนรถมาอีกแบน กว่าจะถึงเพชรบุรีผมก็กรึ่มๆเต็มที เหล้าเพียวๆผสมฉลาม ซดแล้วตามด้วยน้ำเปล่า ระยะทางจากแถวๆนครปฐม ถึงเพชรบุรี หมดไปสองแบน ทั้งๆที่ถ้าผมนั่งคนเดียวเหล้าแบนนี้บางครั้งผมยังเหลือกลับมากินต่อที่บ้านได้อีกครึ่งนึงเลย
หลังจากนั้นทุกสัปดาห์ผมก็จะมีพี่อ้อยเป็นเพื่อนกินเหล้า ดูแกจะชอบนั่งกินกับผมด้วยเช่นกัน สังเกตจากช่วงหลังหม้อแกงแกจะเหลือมากน้อยแค่ไหนแกก็ไม่สนใจแล้ว ขึ้นจากศาลายกก็เดินมานั่งกับผมเลย บางครั้ง บางวันแกก็เอาหม้อแกงใส่ถุงบังคับให้เอากลับมากินที่บ้าน บางวันก็ติดลมจนผมลงรถไฟที่สุราษฎร์ธานีไม่มีเงินติดตัวซักบาท ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์เข้าบ้านมาเอาเงินที่พ่อจ่ายค่ารถอยู่บ่อยๆ และผมก็ใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่หนึ่งปีเต็มๆจนกระทั่งผมเรียนจบ ส่วนจะจบยังไงนั้นว่างๆจะเล่าให้ฟังอีกทีนะครับ (เรื่องมันยาว)
เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ผมรับปริญญา ในตอนนั้นผมทำงานประจำแล้วครับ ขึ้นไปรับที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ รับปริญญาเสร็จก็ให้พ่อ แม่ เดินทางกลับกันก่อน ผมเคลียร์เรื่องชุดที่เช่ามาอยู่ที่กรุงเทพต่ออีกวันแล้วถึงจะได้กลับบ้าน ตอนจะกลับก็อยากจะรำลึกความหลังด้วยการนั่งรถไฟขบวนเดิม ขบวนรถเร็วกรุงเทพ - กันตัง ที่ผมเคยนั่งอยู่ประจำเป็นปี และด้วยความหวังลึกๆว่าผมจะเจอพี่อ้อย อีกครั้ง คราวนี้ในกระเป๋าสะพายที่ผมนำติดตัวมา มีรีเจนซี่อยู่หนึ่งกลมกับอีกหนึ่งแบน คิดไว้ว่าจะนั่งกินกับพี่อ้อยซักแบน แล้วให้แกไว้อีกกลมเป็นของขวัญวันรับปริญญาของผมเอง และจะได้ขอบคุณแกด้วยที่นั่งเป็นเพื่อนดื่มเพื่อนคุยกับผมมาตลอด แต่วันนั้นเมื่อรถถึงศาลายาผมกลับไม่เจอพี่อ้อย
ผมถามน้องที่เดินขายผลไม้ ที่เคยซื้อมะม่วงตอนนั่งกินเหล้าว่าพี่อ้อยไม่มาเหรอ น้องคนนั้นบอกว่าพี่อ้อยเข้าโรงพยาบาล แกดื่มเหล้าเยอะ ช่วงหลังๆแกไม่ค่อยได้มาขายของ สุขภาพแกไม่ค่อยดีมาขายไม่ไหว ผมก็เลยซื้อมะม่วงหนึ่งถุงนั่งกินเงียบๆ โดยที่ไม่ได้แตะเหล้าที่เตรียมมาเลย และหลังจากนั้นผมก็ไม่ได้นั่งรถไฟชั้นสามไป กลับ กรุงเทพอีกจนเกือบจะลืมๆเรื่องพี่อ้อยไปแล้ว เมื่อได้มานั่งเล่นที่สถานีเพชรบุรี จึงคิดถึงพี่อ้อยขึ้นมาอีกครั้ง
ผมนั่งอยู่ที่สถานีเพชรบุรีทั้งวัน นั่งมองพ่อค้าหรือคนที่เดินไปเดินมาเผื่อว่าจะเจอผู้ชายใส่แว่นตา ท่าทางใจดีคนนั้นอีกซักครั้ง แต่ก็ไม่มีวี่แวว สุดท้ายเรื่องราวของพี่อ้อยคงเป็นความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิตของผม ที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้เท่านั้นเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น