วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560

บางงอนในความทรงจำ ตอนที่ 2

บางงอนในความทรงจำ ตอนที่ 2

วิธีการที่จะนำพระประธานเข้าโบสถ์วัดบางงอน หลวงพ่อจะทุบฝาผนังด้านหลังที่อยู่บนขอบประตูออก แล้วยกพระประธานเข้าไปทางหลังครับ

หลังจากนั้นก็จะปิดฝาผนังอีกครั้ง จนทุกวันนี้ก็จะดูไม่รู้ว่า พระประธานองค์นี้มาหล่อทีหลัง งานหล่อพระมีด้วยกัน หลายคืนผมเลยได้นอนที่วัดหนึ่งคืน

และคืนนั้นเองผมก็ได้รู้จักกับมหรสพของภาคใต้ที่ชื่อว่า "หนังตะลุง" ในสมัยเด็กๆ ผมไม่ค่อยได้ออกไปไหนมาไหนในตอนกลางคืนซักเท่าไหร่ อยู่บ้านก็นอนตอนหัวค่ำเลยไม่มีโอกาสได้ดูได้ชมการแสดงประเภทนี้เลย

วันที่หล่อพระประธานของวัดบางงอนเลยเป็นวันที่เปิดโลกแห่งจินตนาการให้ผมเป็นวันแรกเลยทีเดียว

ผมนั่งมองโรงหนังตะลุงจากบนศาลาโรงฉัน ซึ่งวันนี้จะเป็นที่นอนของผมกับลุงรวมทั้งชาวบ้านที่มาจากหลายๆพื้นที่ ผมนั่งมองแสงเงา และฟังดนตรีหนังตะลุงด้วยความสนใจ ตัวหนังสือที่บนขอบจอด้านบนเขียนว่า "หนังจูเลี่ยม กิ่งทอง" ซึ่งนับว่าเป็นหนังตะลุงคณะแรกในชีวิตที่ผมได้ชม

ช่วงแรกผมก็ฟังไม่รู้เรื่อง เลยหลับบ้างตื่นบ้าง จนมาถึงตัวตลกออกมาเล่นเรื่องราวในสมัยนั้น มีเปรตออกมาหนึ่งตัว ชื่อ เปรตนิกร ซึ่งตอนนั้นคงจะได้ข่าวกันคือ พระนิกรกับอรปวีณา ที่โด่งดัง(ในทางชั่วๆ)

ผมตาสว่างทันทีนั่งฟังไปเรื่อยๆหัวเราะไปกับเรื่องราวบนแสงเงาและจินตนาการของนายหนังผู้นี้ และหลังจากหนังพักช่วงก็มีเสียงเพลงลูกทุ่งดังออกมา...

"จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นไทย
มิเป็นทาสใคร แหละมีน้ำใจล้นปริ่ม
ทั่วโลกกล่าวขาน ขนานนาม ให้ว่าสยามเมืองยิ้ม
เราควรกระหยิ่มถึงความดีงาม

คนเย็นใจซื่อได้ชื่อว่าไทย
ร้อนมาจากไหน ชาติไทยไม่เคยหวงห้าม
ข้ามเขตข้ามโขงถิ่นน้ำขุ่น มาพึ่งใบบุญเมืองสยาม
เรายิ้มรับตามที่ท่านต้องการ

เลื่องชื่อลือนาม สยามมีแต่น้ำใจ
ขอเตือนท่านผู้อาศัย อย่าทำอะไรให้ไทยร้าวราน
คนไทยใจซื่อ เขาถือแต่โบราณกาล
แค่เพียงข้าวสุกหนึ่งจาน ใครลืมของท่านนั้น เนรคุณ

คนไทยรักชาติแหละศาสนา
เทิดองค์เจ้าฟ้า ผู้ทรงเปี่ยมเนื้อนาบุญ
ถ้าท่านเคารพสิทธิ์ของไทย ท่านอยู่ต่อได้อีกนานคุณ
สยามใจบุญ ยังยิ้มเสมอ"

ผมนั่งฟังโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นเพลงของใครแต่คนที่ร้องเพลงนี้เป็นหนึ่งในคณะหนังตะลุง จูเลี่ยม กิ่งทอง ผมมาถามพี่สิน กิ่งทอง ในภายหลัง แกว่าน่าจะเป็นพี่ติ๋ว สาลิกา กิ่งทองเป็นคนร้อง

เสียงเพลงที่ร้องออกมาทำให้ผมรู้สึกชอบที่จะฟังเพลงลุกทุ่ง เพิ่มขึ้นมากเพราะก่อนหน้านี้ผมจะไม่ฟังเพลงอื่นเลยนอกจาก "คาราบาว"

หลังจากที่กลับมาจากวัดบางงอนคราวนั้น ผมจึงเริ่มฟังเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ สุนารี ราชสีมา และเอกพจน์ วงศ์นาค ผมฟังเพลงลุกทุ่งเหล่านี้จนซึมซับแบบขึ้นสมอง จำได้ว่าตอนเรียน ม 1 เคยออกไปร้องเพลงหน้าชั้นด้วยเพลงของเอกพจน์ วงศ์นาค ที่ผมจำไม่ได้แล้วว่าชื่อเพลงอะไร มีเนื้อร้องประมาณนี้ครับ

มองฟ้าคราใดหัวใจแทบพัง
ไม่อยากจะฟังเสียงนกหวีดดังวิ่งชนกันโครม
เดินแทบดินฟ้าถล่ม
บ้างนอนเกือกกลิ้งโคลนตมปวดร้าวระบมทั้วทั้งกายา
................................

ถึงแม้คุณพ่อน้องเป็นนายพัน
พี่ก็ใฝ่ฝันหมายเด็ดหมายดอมน้องมาแนบชม
บุญพี่มีน้อยจึงตรม
จึงฝากเพลงร้องตามลมหวังชิดเชยชมแต่น้องนางเดียว

บางงอน เลยมีความหมายกับชีวิตผมมากๆ ทั้งปลูกฝังเรื่อง ศาสนา ดนตรี ถ้าไม่มีบางงอน ผมคงจะไม่รู้สึกถึงเรื่องราวของพระ ของเพลง ของวัฒนธรรมพื้นบ้านมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนั้นในเช้าของอีกวัน ผมขึ้นไปนั่งอยู่ในกุฏิเจ้าอาวาส ซึ่งสร้างต่อจากโรงฉัน ยกพื้นสูง ภายในยกระดับ แต่ไม่สูงมากนักผมนั่งอยู่ด้านบน ส่วนที่พื้นที่ห่างกันประมาณไม่ถึงยี่สิบเซนต์ มีพระที่มาร่วมพิธีพุทธาภิเษกนั่งกันอยู่หลายรูป

นั่งฟังเรื่องราวที่พระอาจารย์เหล่านั้นพูดคุยกัน ตาก็มองออกไปด้านหลังโบสถ์เห็น ตาหลวงหัน (ที่บ้านให้เรียกแบบนี้) เดินอยู่แถวๆนั้น แต่เพียงแค่ช่วงเวลาที่ผมหันมาฟังหลวงพ่อเกจิอาจารย์คุยกันนั้น ก็มีมือมาจับที่แขนของผม "มึงนั่งสูงกว่าคนอื่นเขาแบบนี้ไม่ดีนะ" แล้วดึงแขนผมลงมานั่งที่ด้านล่าง

แล้วท่านก็เดินไปเลย ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าท่านเห็นได้อย่างไรเพราะจากกุฏิไปที่โบสถ์ก็ไกลกันพอสมควร แถมมาก็แค่ดึงผมลงแล้วก็ไปเดินดูนู่นดูนี่ต่อทันที แล้วท่านรู้ได้อย่างไร ว่าผมนั่งสูงกว่าพระในกุฏิ

ผมมาทราบทีหลังว่าพระเกจิที่นั่งอยู่ในกุฏิวันนั้น มี หลวงพ่อรัตน์ วัดกะเปา รวมอยู่ด้วย โดยหลวงพ่อรัตน์ วัดกะเปา ท่านนี้เป็นอาจารย์ท่านหนึ่งของท่านอาจารย์สูติ วัดในเตา จังหวัดตรังที่โด่งดัง

ในกุฏิของอาจารย์สูติ จะมีรูป หลวงพ่อรัตน์แขวนอยู่ด้วย อาจารย์สูติ วัดในเตาเคยเล่าให้ผมฟังว่า " พ่อท่านรัตน์ อาจารย์กู จุดเทียนไม่ต้องใช้ไฟ" ส่วนจะเป็นอย่างไรก็ไปหารายละเอียดกันเอาเองนะครับ

ไหนๆก็กล่าวถึงพ่อท่านรัตน์ วัดกะเปาแล้ว ขอต่ออีกซักนิด ในปี 2537 วัดโพธาวาส มีการสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อกล่อม วันนั้ผมก็ไปร่วมพิธีด้วย ไปทั้งชุดนักศึกษาเลยครับ ผมเรียน ปวส อยู่พอดี

พอเสร็จพิธีพุทธาภิเษก เหล่าพระเกจิก็เดินออกมาจากโบสถ์ ผมโชคดีได้ช่วยพยุงพ่อท่านรัตน์ไปที่รถด้วย ขณะที่เดินไปที่รถ จู่ๆ พ่อท่านรัตน์ก็หยุดแล้วหันหลังกลับ ยกมือไหว้ไปทางต้นไม้ใหญ่แถวๆประตูโบสถ์ แล้วบอกกับผมเบาๆว่า "งานนี้หลวงพ่อกล่อมมาด้วย"

ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่เคยได้เล่าให้ใครฟัง เลยอยากเก็บมาบันทึกไว้ที่นี่ด้วย เพราะตอนนี้ พ่อท่านรัตน์ก็มรณะภาพไปแล้ว เกรงว่าเหตุการณ์นี้จะไม่มีคนได้รับรู้ วันนั้นมีผมกับพ่อท่านรัตน์และพี่ชายอีกคนนึงเท่านั้นที่ได้เห็นและได้ยินพ่อท่านรัตน์พูด ใครไม่เชื่อก็ผ่านไปก็แล้วกันครับ

ยังมีต่อตอนที่สาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น