วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560

บางงอนในความทรงจำ ตอนที่ 4

บางงอนในความทรงจำ ตอนที่ 4

ตอนบวช สิ่งที่ตาหลวงบอกไว้เสมอคือต้องตื่นบิณฑบาต ทุกเช้าห้ามขาด ผมก็ทำตามอย่างเคร่งครัด ผมเดินบาตรไปทางวัดขนาย สิ้นสุดตรงต้นมะขามที่สามแยกพอดีแล้วเดินกลับ

ในตอนนั้นเป็นช่วงออกพรรษาแล้ว เหลือพระในวัดอยู่ไม่มากเท่าไหร่ ประมาณ สี่ห้ารูปกับเณร อีกสองรูป ผมเดินบาตรคู่กับเณรตั้ม ซึ่งจะคอยถือปิ่นโตเดินตามหลัง เวลาใส่บาตรเสร็จญาติโยมจะนั่งลงพนมมือขอพร

วันแรกผมก็งงๆ หันไปถามเณร เณรบอกว่าให้ให้พร ผมก็ให้พรเป็นภาษาไทยเลย .. ขอให้โชคดี สุขภาพแข็งแรง พอเดินออกมาจากบ้านนั้นเณรบอกผมว่าให้ให้พรเป็นภาษาบาลี มันดูขลังดี

พอถึงบ้านต่อไป ผมก็ ยะถาสัพพี เต็มสูตร เณรก็บ่นอีก มันยาวไป เอาสั้นๆก็พอ "จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง" แค่นี้ก็พอ

ผมก็เลยให้พรแค่นี้มาโดยตลอด และเมื่อเดินกลับมาถึงวัด ผมต้องเดินผ่านประตูวัดไปอีกทางเพื่อจะไปยืนบาตรที่บ้านยายสร้อยก่อน แล้วถึงจะกลับมาเข้าวัด ช่วงแรกๆก็ไม่มีอะไร

แต่พอเริ่มจะสนิทกัน ก็มีเสียงพระในวัดแซวว่า "เดินพ้นวัดแล้วๆๆ จะไปฉันเช้าที่วัดน้ำรอบเหรอ" แต่ผมก็เฉยๆ พูดถึงการเดินบาตรในวัดแถวบ้านนอก วันไหนที่เราจะไม่มาเราต้องบอกโยมก่อน เขาจะได้ไม่คอย ไม่งั้นวันหลังมาจะอด

หลวงติ่ง ที่บวชเข้าพรรษามาก่อนผม จะเดินบาตรไปทางวัดน้ำรอบ วันนึงมีโยมมานิมนต์ไปฉันเช้าที่บ้านเนื่องจากที่บ้านมีงานศพ หลวงติ่งก็ไม่รู้มาก่อนเพราะโยมนิมนต์ตอนกลางคืนหลังจากสวดอภิธรรมเสร็จ

เป็นอันว่าเช้าวันนั้นหลวงติ่งไม่ได้บอกโยมไว้ล่วงหน้า และเราก็ไปฉันเช้าที่บ้านงานศพติดๆกันสองสามวัน จนศพเผาเรียบร้อย

เช้าวันต่อมาหลวงติ่งก็เดินบาตรตามปกติ เมื่อกลับมาถึงโรงฉัน หลวงติ่งเปิดบาตรให้ดู มีผักเสี้ยนดอง หนึ่งถุง นอกจากนั้นไม่มีอะไรเลยเพราะชาวบ้านคิดว่าพระไม่มา เลยไม่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้า แต่ก็ยังดีที่ได้มาบ้าง

เวลาผมไปเดินบาตรมันจะเช้ามืดและชาวบ้านก็จะเอาข้าวที่หุงสุกใหม่ๆมาใส่บาตร และนี่ทำให้ผมได้เข้าใจว่าทำไมเวลาใส่บาตรคนโบราณถึงให้สำรวมอย่าให้ข้าวหก

มีอยู่บ้านนึงเป็นคนแก่ แกจะใส่บาตรทุกวัน วันนั้นแกตักช้อนแรกแล้วมีข้าวหกออกมาจากทัพพี ตกลงมาระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ของผมที่อุ้มบาตรอยู่พอดี ร้อนมากถ้าสะบัดบาตรก็จะหล่น ผมกัดฟันอดทนกว่าแกจะตักครบสามช้อน เนื่องจากยายแกแก่แล้ว มือไม้ก็สั่น แต่เราก็ต้องสำรวมไว้ กว่าจะผ่านไปได้น้ำตาซึมเหมือนกันครับ

ถนนหน้าวัด ตอนที่ผมบวชนั้นเป็นหลุมเป็นบ่อ รถราวิ่งลำบากต้องคอยหลบหลุมกันตลอดเวลา ต่างกับตอนนี้มาก ตอนนี้เป็นถนนลาดยางอย่างดีวิ่งสบายมากๆ วันนึงทางหลวงชนบทเกิดหวังดี เรารถมาไถข้างทางเพื่อเตรียมซ่อมถนน สำหรับคนอื่นอาจจะไม่เป็นปัญหา แต่สำหรับพระอย่างผม ต้องเดินเท้าเปล่า ไปบนหินมันช่างทรมานอะไรเช่นนี้

จากการที่เดินแบบนั้นอยู่หลายวันทำให้ที่ฝ่าเท้าของผมเป็นเนื้อกลมๆอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ มีคนบอกให้ไปจี้ออกซะแต่ผมไม่ไปเพราะอยากเก็บไว้เป็นที่ระลึก เวลามองมันจะทำให้คิดถึงสมัยที่บวชทุกที เป็นอนุสรณ์เตือนความจำได้อย่างดีเลยทีเดียวครับ

และที่จำได้อีกอย่างคือ วันนั้นมีโยมใส่บาตรมาเป็นขนมปุยฝ้าย ที่นานๆจะมีมาซักครั้ง เพราะแถววัดบางงอนสมัยนั้นยังเป็นชนบท ไม่เจริญเหมือนสมัยนี้ ผมไม่ได้สนใจอะไรกับขนมมากนัก จนมาถึงวัด เข้าในโรงฉันเอากับข้าวมาวางรวมกัน จนฉันเสร็จ ก็ลืมเรื่องขนมปุยฝ้ายไปเลย

ด้านหลังที่พระนั่งฉันข้าว จะมีผ้าผืนยาวขึงไว้ เพื่อความสวยงามหรือเพื่ออะไรผมก็ไม่แน่ใจ แต่เมื่อพระฉันเสร็จให้ยะถาเรียบร้อย เณรตั้ม ก็เปิดผ้าหยิบเอาขนมปุยฝ้ายออกมาแล้วพูดว่า "หมดเวลาพระแล้วนะ ที่เหลือ เณรจัดการต่อเอง" ... ดูมันทำ

จนวันที่ผมจะสึก เพื่อนติดต่อมาให้มาทำงานเป็นลูกจ้างที่ TAC (ก่อนจะเป็น dtac ทุกวันนี้) ผมเลยเตรียมตัวลาสิกขา แต่พอดีมีศพมาตั้งที่วัด ผมเลยได้สวดบังสุกุลในคืนแรกก่อนที่จะลาสิกขา ถือว่าเป็นงานทิ้งทวนก็ว่าได้

และเมื่อลาสิกขาแล้วก็ต้องกลับไปนอนที่วัด สามคืน ตามประเพณี ในคืนแรกของชีวิตฆราวาส ผมมาถึงวัดในช่วงเย็น ในวัดก็มีงานศพอยู่ ก็งานเมื่อคืนที่ผมสวดก่อนสึกนั่นละครับ

สมัยนั้นงานศพจะมีการละเล่นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าถ้ามีงานศพ ต้องมีสิ่งเหล่านี้ พวกการพนันเล็กๆน้อยๆ สมัยนั้นยังไม่เข้มงวดมากนัก ผมเองก็ชอบกุ้ง ปลา น้ำเต้า อยู่แล้วเลยไปนั่งเล่นกับเขาด้วย

มีป้าคนนึงมานั่งข้างๆ แทงไปแทงมา แกหันมามองหน้าผมแล้วอุทานออกมา "อ้าว เจ้า เมื่อวานซืนยังยืนบาตรหน้าบ้านอยู่เลย"

ผมก็หัวเราะแล้วบอกว่าผมสึกแล้วครับ แต่สามคืนที่ผมไปนอนที่วัดได้ค่าน้ำมันกลับบ้าน วันละสองสามร้อยทุกวัน ... กรรมจริงๆ

หลังจากมาทำงานเป็นลูกจ้าง จนเป็นพนักงานประจำ จนลาออก จนถึงปัจจุบันผมไม่ค่อยได้ไปวัดบางงอนมากนัก

จบเรื่องราวของบางงอนแค่นี้ก็พอเนอะ ว่างๆนึกขึ้นได้ค่อยมาเล่าใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น