วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560

บางงอนในความทรงจำ

บางงอนในความทรงจำ

บ้านบางงอนนี้มีความหลังกับผมอยู่มากทีเดียว เพราะสมัยเด็กๆก็ได้มาเที่ยวมานอนอยู่ที่วัดบางงอนหลายๆครั้ง ที่บางงอนนี้เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ ที่ปลูกฝังความคิดอะไรๆให้ผมหลายๆอย่าง บางอย่างผมแทบจะลืมไปแล้วว่า ผมไปเจอที่ไหนไปพบเห็นมาจากไหน แต่เมื่อผมได้กลับมาอีกครั้งทำให้ผม เหมือนกับได้กลับไปสู่อดีต

สมัยก่อนนั้นการเดินทางไปบางงอนต้องใช้เรือเท่านั้น หรือไม่ก็รถไฟผ่านทางสายคีรีรัฐนิคม จากสถานีสุราษฎร์ธานีในช่วงเย็น ลงที่สถานี ขนาย แล้วเดินไปอีกนิดหน่อยก็จะถึงบ้านบางงอน ในสมัยที่ผมเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี เพื่อนๆที่มาจากแถวๆนั้นก็จะโดยสารรถไฟมาในตอนเช้าแล้วกลับกับรถไฟขบวนนี้เป็นประจำ

ในเส้นทางสายนี้มีรถไฟเดินรับส่งผู้โดยสารอยู่แค่ขบวนเดียว ในระยะทาง สามสิบกว่ากิโลเมตร และได้มีการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางรถไฟไปยังท่านุ่น จังหวัดพังงา (บริเวณสะพาน สารสิน ) แต่ไม่มีงบประมาณในการสร้างเลยหยุดอยู่แค่สถานี คีรีรัฐนิคมเช่นเดิมจนถึงทุกวันนี้

วัดบางงอนในตอนนั้นมีเจ้าอาวาสคือ หลวงพ่อหัน ปภากโร (พระครูรัษฏารามคณิศร์)หลวงพ่อหันเป็นลูกศิษย์สมัยเป็นนักเรียนของปู่ผม และท่านได้บวชที่วัดตรณาราม กับ ท่านพระครูธรรมปรีชาอุดม (พุ่ม) ในปี 2500 หรือกึ่งพุทธกาล ยี่สิบห้า ศตวรรษ

และด้วยการที่เป็นครูกับลูกศิษย์กันมาก่อน ท่านจึงแวะเวียนมาเยี่ยมปู่ของผมเสมอๆ และแม้กระทั่งในช่วงที่ปู่ของผมป่วย ปู่ก็ไปรักษาตัวอยู่ที่วัดบางงอน และสมัยนั้นญาติพี่น้องของปู่ก็อยู่ที่นั่นเป็นจำนวนมาก (เรื่องราวบางส่วนของบ้านบางงอน หาอ่านได้จากงานเขียนของ วิลาศ มณีวัต ครับ)

ผมในตอนนั้นหรือแม้กระทั่งในตอนนี้ ผมก็นับญาติได้ไม่หมด เพราะว่าญาติเยอะจริงๆ สาเหตุเพราะว่า ก๋งมีเมียเยอะ มีลูกเยอะ แต่ละคนก็มีลูกกันเยอะ ทำให้นับกันไม่ค่อยถูก ถึงแม้ว่าจะนานสกุลเดียวกัน

ในสมัย ปี 2521-2525 ช่วงนั้นคงไม่มีใครในแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดใกล้เคียงที่จะไม่ได้ข่าว "พระผุด" ที่วัดบางงอน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้มีการใช้ดินบริเวณนั้น กินเพื่อรักษาโรคร้ายต่างๆ อย่างได้ผล

พระพุทธรูปองค์นั้น ภายหลังได้เรียกกันว่า หลวงพ่อ"พระพุทธโอสถาพร" อันเป็นที่มาจากการที่ได้ใช้ดินเป็นยารักษาโรคนั่นเองครับ จนแม้กระทั่งหนังตะลุงในสมัยต่อมาในช่วงปี 2530 ก็ยังเอามาเล่นเป็นมุกตลกอยู่เนืองๆ ที่ว่า

"คนสุราษฏร์กินดินวัดบางงอน คนนครกินย่านลำเพ็ง"

ต้นลำเพ็งชอบอยู่บริเวณที่ชุ่มน้ำ ใบมีลักษณะคล้ายๆเฟิร์น ชอบอยู่ตามที่รกทึบ ยอดอ่อนเอามาลวกกระทิ จิ้มน้ำพริก

ในปี 2530-2531 (ไม่แน่ใจว่าปีไหนแน่) มีการหล่อพระประธานของวัด หลวงพ่อหัน ปภากโร ได้จัดงานหล่อพระประธานขึ้น ตอนนั้นผมอายุ สิบกว่าปี ได้ไปที่วัดพร้อมกับลุง ซึ่งตอนนั้นผมจะรู้สึกผูกพันธ์กับท่านมาก เพราะท่านจะใจดีกับผมเป็นพิเศษ

ในย่ามของท่าน ผมจะเป็นเด็กที่สามารถล้วง หยิบ สิ่งของเอามาดูมาถามได้ตลอดเวลา และทำให้ได้มีโอกาสได้วัตถุมงคลต่างๆไว้มากมาย เพราะเวลาที่ท่านไปพุทธาภิเษกที่ไหนก็จะได้วัตถุมงคลที่นั่นมาด้วย เมื่อได้มาท่านจะใส่ไว้ในย่าม

และแน่นอน ... ผมจะขอท่านทันที แล้วท่านก็จะให้เสมอ

แต่ที่ผมจำได้อีกอย่างก็คือมีวัตถุบางอย่างอยู่ในย่ามของท่าน ที่ท่านไม่ให้ผม มีรูปร่างคล้ายๆ หอยแต่ทำมาจากดิน(ไม่แน่ใจ) ท่านบอกว่า "ถ้าเอาไปแล้วต้องเป็นโจรนะ จะเอาหรือเปล่า" ผมในตอนนั้นก็ยังเด็กๆอยู่ก็รีบตอบว่าไม่เอา แล้วก็ไม่สนใจอีกเลย และตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าของสิ่งนี้ไปอยู่ไหนหรืออยู่ที่ใคร

หลวงพ่อหัน จะเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในละแวกนั้นเป็นอย่างมาก เพราะท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อพัว วัดบางเดือน ที่โด่งดัง และที่ผมจำได้แต่ไม่แน่ใจมากนักคือ วัตถุมงคลรุ่นสุดท้ายที่ท่านไปร่วมพุทธาภิเษกคือ วัตถุมงคลของวัดสองพี่น้อง อำเภอพนม ซึ่งน่าจะเป็นงานสุดท้ายก่อนที่ท่านจะมรณะภาพ

กลับมาเรื่องหล่อพระประธานกันต่อครับ... ผมจำได้ว่ามีการตั้งโรงตั้งพิธีกันที่หลังโบสถ์ มีช่างมาจากที่อื่น มาทำการหล่อ หลอม เท ทอง เพื่อสร้างพระประธานของวัดบางงอน มีคนถามท่านว่า ทำไมไม่หาแบบที่เขาทำเสร็จแล้วมาวางเลย แล้วค่อยทำพิธี พุทธาภิเษก

ท่านบอกว่า แบบนั้นมันง่ายเกินไป การทำพระประธาน ต้องทำให้ถูกต้อง การที่เราทำตามฤกษ์ ยาม ทำการเททอง หล่อ ให้ชาวบ้านได้มาร่วมกันสร้าง ดีกว่ามาร่วมกันซื้อ เพราะจะได้หล่อหลอมจิตใจของชาวบ้านเข้าไว้ด้วยกัน สร้างความสามัคคีได้อย่างมากด้วย

และทุกวันนี้พระประธานองค์นี้ก็ยังอยู่ มีหลายคนสงสัยว่าพระองค์ใหญ่ มาหล่อทีหลัง จะเอาเข้าโบสถ์ ได้อย่างไร คำถามแบบนี้ผมเคยอ่านเจอในหนังสืออะไรซักอย่างเกี่ยวกับพระที่อยุธยา ว่าหลวงพ่อในโบสถ์สร้างก่อนหรือโบสถ์สร้างก่อน ถ้าพระสร้างทีหลังจะเอาเข้าโบสถ์ได้อย่างไร ผมงงอยู่นาน ทั้งๆที่เคยเห็นวิธีการเอาพระเข้าโบสถ์ มาแล้วในสมัยเด็กๆ นี่ถ้าไม่มางานศพ ไม่กลับมาเดินเที่ยวในวัด ผมคงจะลืมไปแล้วจริงๆ

เดี๋ยวมีต่อ รอแป๊บนึง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น