ปราสาทหินพนมรุ้ง กับ ปราสาทหินพิมาย
ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ลองไปหาข้อมูลมา ได้ความว่า พนมรุ้ง มาจากคำว่า วนำรุง แปลว่าภูเขาใหญ่ เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ไศวนิกาย ที่บูชาพระศิวะ และ ศิวลึงค์มาก่อน สร้างมาตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่15 จนพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เปลี่ยนเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา
ปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีลักษณะที่แตกต่างจากปราสาทหินทั่วไปคือ จะหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทขอมส่วนใหญ่ที่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คำว่าพิมาย มาจากคำว่า วิมายปุระ ปรากฏอยู่ในจารึกขอมบนกรอบประตูด้านหน้าของปราสาท ปัจจุบัน จารึกชุดนี้ทางกรมศิลปากร ได้ทำแผ่นพลาสติก มาปิดทับเพื่อรักษาสภาพไว้ เดี๋ยวจะเอารูปมาให้ชมอีกที
ปราสาทหินพิมาย สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16 สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 รูปแบบของศิลปะที่เห็นในปัจจุบันเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด ซึ่งหมายถึงปราสาทนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
เมื่อหมดสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมามีอำนาจเมืองพิมายก็หายไปในที่สุด เนื่องไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย จนแอบคิดว่า ขอมที่ชาวสุโขทัย ขับไล่ออกไปแล้วประกาศตนเป็นไท นั้น คงจะเป็นขอมที่อยู่แถวๆ พิมายหรือพนมรุ้งหรือเปล่า หรืออาจจะไม่ใช่เลยก็ได้ ... ผมเดาเอาเอง 555
ปราสาทหินพนมรุ้ง กับ ปราสาทหินพิมาย มีส่วนที่เหมือนกันหลายอย่าง และที่น่าสนใจคือ พลับพลา หรือ พลับพลาเปลื้องเครื่องในสมัยปัจจุบัน พลับพลา จะอยู่บริเวณด้านนอก ก่อนจะข้ามสะพานนาคราช เข้าไปด้านใน ใช้สำหรับเป็นที่พักเตรียมตัว ผลัดเปลี่ยนชุด ของกษัตริย์หรือผู้ที่มาสักการะเทพเจ้า
สมัยนั้นการจะเดินเข้าไปสู่ปราสาทดินแดนของเทพเจ้านั้น คงเป็นไปด้วยความเคารพยำเกรง แม้แต่ผู้ที่มีอำนาจ ยังต้องวางอาวุธ ถอดยศ เครื่องประดับ จัดแต่งกายให้เหมาะสมก่อนที่จะเข้าไป
ในปัจจุบันที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว วัดวาอารามและพระพุทธรูป มีไว้สำหรับถ่ายภาพ ผมได้เห็นคนใส่กางเกงขาสั้น เดินขึ้นไปบนเขา ได้เห็นคนมากระโดดถ่ายภาพ ในบริเวณปราสาทหิน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเป็นสมัยก่อน มาทำบ้าๆแบบนี้ ถ้าไม่โดนเฆี่ยนหลังลาย ก็ คงจะโดนตัดหัวไปแล้ว
โชคดีที่เกิดช้าไปเกือบๆพันปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น