วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หลานชาวสวน

เมื่อประมาณสามสิบปีที่แล้ว บ้านผมยังเป็นบ้านสวนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ต้นไม้ต่างๆมากมายเรียกได้ว่าบางส่วนของที่ดินแปลงนี้แทบจะไม่เคยโดนแสงแดดส่องลงไปถึง นกนานาชนิด ผีเสื้อหลายหลายสายพันธุ์ ดอกไม้ต่างๆที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ รวมทั้งพื้นที่อันกว้างใหญ่ของสวนหลังบ้านที่ในขณะนั้นยังเป็นที่ดินผืนเดียวกันของปู่และย่าที่ยังไม่ได้แบ่งให้กับลูกๆทั้งแปดคน

ผมใช้ชีวิตช่วงเด็กแบบเด็กชนบททั่วๆไป คำว่าเด็กชนบททั่วๆไปถ้ามาคุยกับคนแถวๆนี้ในตอนนี้คงจะแปลกหูไปบ้าง เนื่องจากคงจะมองไม่เห็นภาพของวันเก่าๆเหล่านั้นแล้ว วันนี้ที่ถนนหน้าบ้านผมเป็นถนน หกช่องทางจราจร มีเกาะกลางถนนมีตึกรามบ้านช่องมากมาย ร้านเช่าแผ่น VCD มีร้านขายของชำมากมายหลายร้าน ถึงจะไม่มี 7-11 มาเปิดอยู่ใกล้ๆแต่ก็สามารถหาของกินของใช้ได้แทบตลอดทั้งคืน

ชีวิตในวัยเด็กตอนนั้นเมื่อครั้งที่ผมเริ่มจำความได้นั้น ครอบครัวของเราอยู่บ้านเดียวกันกับปู่และย่า ในบ้านจะมีปู่ ย่า อาผู้หญิงและน้องสาวลูกของอาอยู่ด้วยกันในบ้านหลังนี้ ตอนนั้นพ่อผมยังไม่ได้สร้างบ้านแยกออกมา จะด้วยสาเหตุที่ว่า พ่อผมยังไม่มีเงินมากพอที่จะสร้างบ้านเป็นของตัวเองหรือจะด้วยเหตุที่ว่าต้องการอยู่ร่วมกันเพื่อที่จะได้ดูแลกัน เพราะในสมัยนั้นแถวๆบ้านผมยังไม่เจริญมากมายขนาดนี้ พ่อผมต้องไปทำงานที่ต่างอำเภอ โดยออกเดินทางในเช้าวันจันทร์กลับมาเย็นวันศุกร์ อาเขยในตอนนั้นไปทำงานที่ซาอุ ซึ่งตอนนั้นเป็นอาชีพยอดฮิตของคนไทยเลยก็ว่าได้

ส่วนแม่ของผมและอาผู้หญิงก็ทำงานในเมือง เช้าไปเย็นกลับ ปู่ของผมตอนนั้นก็เริ่มที่จะไม่สบายนอนอยู่กับที่เดินไปไหนมาไหนไม่สะดวกแล้ว เหลือย่าเพียงคนเดียวที่จะดูแลเด็กสองคนที่กำลังซน ดังนั้นการอยู่บ้านหลังเดียวกันก็ย่อมจะดูแลกันได้ดีกว่าที่จะแยกกันออกไป

ที่ดินแปลงที่ผมอยู่นี้ มีเนื้อที่ร้อยกว่าไร่ ปู่ของผมย้ายมาอยู่ในช่วงปีสองพันห้าร้อย หรือประมาณห้าสิบกว่าปีมาแล้วในสมัยนั้นใครมีเรี่ยวมีแรงก็หักร้างถางพงกันเอาเอง ปู่ผมเป็นข้าราชการ เป็นครูเลยมมีพรรคพวกมากหน่อย อีกอย่างปู่ก็เป็นคนใจนักเลงตามแบบฉบับของคนบ้านป่า ถึงไหนถึงกัน ดังนั้นปู่จึงมีพรรคพวกมาช่วยในด้านต่างมากมาย ดังที่เห็นว่าเรื่องที่ดินปู่ผมสามารถครอบครองที่ดินได้ถึงร้อยกว่าไร่ทั้งๆที่ต้องทำงานเป็นครูไปด้วยไม่ได้มาบุกป่าฝ่าดงทำสวนเพียงอย่างเดียว

เรื่องนี้ผมเองเคยได้ยิน หลวงพ่อหัน ปภากโร (พระครูรัษฏารามคณิศร์) เจ้าอาวาสวัดบางงอน พูดให้ผมฟังตอนที่ท่านมาบอกบุญเพื่อทำซุ้มประตูวัดที่บ้านว่า "ที่แถวนี้เมื่อก่อนตามใจติเอา" ท่านพูดเป็นภาษาใต้ ก็แปลง่ายๆว่า ใครจะเอาแค่ไหนก็เอา แต่นั่นมันเมื่อก่อนครับ ตอนนี้ลองมาซื้อสิครับ ไร่นึงเป็นล้านแล้วครับ

ที่ดินของปู่ยังมีอีกแปลงอยู่อีกด้านนึงของถนน ในตอนนั้นถนนเส้นนี้มีชื่อเรียกตามประสาชาวบ้านว่า ถนนท่าข้าม-บ้านดอน แต่พอเป็นภาษาราชการกลับเป็น สุราษฎร์-พุนพิน ซะงั้น จนมาเปลี่ยนเป็นถนนธราธิบดี ในปัจจุบัน ที่ดินที่อยู่อีกด้านของถนนเป็นที่นา แต่ผมจำไม่ได้ว่ากี่ไร่ มีสวนชมพู่อยู่อีกหลายร่อง ซึ่งลุงของผมที่เป็นพี่ชายคนโตของพ่อเข้าไปดูแลอยู่ แต่ภายหลังที่ดินแปลงนี้ได้ขายให้กับโรงงานทำยางแผ่นรมควัน หรือที่ชาวบ้านแถวนี้เรียกสั้นๆว่าโรงรมไป ก่อนที่ที่ดินแปลงนี้จะเปลี่ยนมือไปเป็นโรงงานนั้น ที่นาแปลงนี้ หรือที่พวกเราเรียกว่า "นอกนา" นั้นจะเป็นสวรรค์สำหรับเด็กๆอย่างพวกผมในช่วงปิดเทอมหน้าแล้ง เพราะจะมีการจับปลากันทุกปีแต่ละปีก็ได้ปลาตัวใหญ่ๆมากมายแบ่งกันกินในหมู่พี่น้องเพื่อนบ้านกันอย่างเหลือเฟือ

ผมใช้ชีวิตช่วงเด็กมากๆอยู่บ้านเดียวกันกับปู่และย่า รวมทั้งอาและน้องสาว มาหลายปีแต่ชีวิตช่วงนั้นก็ยังจดจำอะไรไม่ได้มากมายนัก ชีวิตเด็กในสวนของผมมาเริ่มจริงๆตอนที่อาเขยกลับมาจากซาอุ กลับมาอยู่บ้านเดียวกันกับปู่และย่า พ่อผมก็เลยแยกออกมาสร้างบ้านอยู่ติดๆกันคงไม่อยากรบกวนการอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวของอา และอีกอย่างบ้านหลังนั้นก็ได้เงินจากอาเชยมาใช้จ่ายต่อเติมมาตั้งแต่แรก ดังนั้นบ้านหลังนั้นจึงเป็นสิทธิ์ของอาอยู่แล้ว

ในตอนที่พ่อผมเริ่มสร้างบ้านหลังแรก พ่อผมสร้างเป็นบ้านชั้นเดียวมีสองห้องนอน หนึ่งห้องน้ำ เป็นบ้านหลังเล็กๆที่ไม่ใหญ่โตอะไรเลยเพราะขาดแคลนเรื่องเงินทุนพ่อผมตอนนั้นยังเป็นครูสอน ทอสปช. หรือ ไทยอาสาป้องกันชาติ เงินเดือนไม่กี่บาท ต้องอยู่ในเขตพื้นที่สีแดง พื้นที่ของคอมมิวนิสต์ ในอำเภอพระแสง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พ่อผมจะมีเงินมาสร้างบ้านหลังที่ใหญ่กว่านี้ได้ เพราะแค่บ้านหลังเล็กๆพ่อผมยังต้อง สอยมะพร้าวมาปอกขายเพื่อซื้อกับข้าวอยู่บ่อยๆ

สมัยสิบกว่าปีที่แล้วยังมีชาวบ้านรุ่นเก่าๆยังเรียกพ่อผมว่าครูเดชอยู่เหมือนกัน แต่ปัจจุบันนี้คนที่เรียกพ่อผมว่าครู คงจะไม่มีอีกแล้วครับเพราะคนส่วนใหญ่จะจดจำพ่อผมไว้ในฐานะ เกษตรอำเภอในอำเภอต่างๆ รวมทั้งนักวิชาการเกษตรที่ลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้านมากกว่า

ตอนที่พ่อผมสร้างบ้านหลังนี้นั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีพระภิกษุทางเหนือกำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนเกือบทั้งประเทศ นั่นก็คือ พระภิกษุ นิกร ธรรมวาที ที่ อ.พร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผมจำชื่อของพระรูปนี้ได้แม่นยำมากก็เพราะในช่วงนั้นมีการจัดทัวร์ทำบุญ จากภาคใต้ขึ้นไปทำบุญที่เชียงใหม่ คนในตลาดท่าข้ามบ้านผมไปกันมากมาย รวมถึงย่าผมด้วย หลังจากที่ย่ากลับมาจากเชียงใหม่ ย่าผมมีหนังสือเล่มเล็กๆกลับมาด้วย สามเล่ม เป็นหนังสือประวัติ และอภินิหารย์ต่างๆของท่านนิกร ผมซึ่งเป็นหลานที่อยู่ใกล้ชิดจึงจำเป็นต้องมีหน้าที่ อ่านหนังสือเหล่านี้ให้ย่าผมฟัง และเวลาที่ผมอ่านจบ ย่าผมจะยกมือสาธุทุกครั้ง ในตอนนั้นผมเองยังไม่รู้หรอกครับว่า การอนุโมทนาบุญด้วยการสาธุนั้นคืออะไร

เวลาที่ย่าผมว่าง ท่านจะถามหาหนังสือ "พระภิกษุนิกร" ทันที ท่านเรียกเต็มยศแบบนี้ทุกครั้งที่เอ่ยนามของท่านนิกร แต่แล้วหลังจากนั้นเรื่องราวของพระภิกษุนิกรก็เริ่มหายไปจากชีวิตของผม อาจจะเพราะย่าผมไปทำบุญที่อื่นเพิ่มขึ้น ได้เจอพระเกจิอาจารย์ต่างๆมากขึ้น ผมจึงไม่ค่อยได้อ่านหนังสือพระภิกษุนิกรให้ย่าฟังอีก แต่หนังสือเหล่านั้นย่าผมจะเก็บไว้ที่หัวนอนตลอดเวลาไม่ยอมให้ใครเอาไปไหนได้เลย

จนกระทั่ง หลายปีต่อมา ในสื่อต่างๆลงข่าวพาดหัวตัวโต ถึงเรื่องพระหนุ่มกับสีกาสาว ที่มีความสัมพันธ์กันถึงขั้นมีพยานรักด้วยกัน นั่นคือพระภิกษุนิกร กับสีกาอรปวีณา มีการนำเสนอข่าวเรื่องนี้ติดต่อกันหลายวัน และเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น พ่อผม เรียกผมเข้าไปหาแล้วบอกว่า "เอาข่าวนี้ไปเล่าให้ย่าฟังด้วย" ทำไมต้องเอาไปเล่าให้ย่าฟังก็เพราะว่าย่าผมอายุมากแล้ว อ่านหนังสือพิมพ์ก็ไม่เห็น วิทยุก็ฟังแต่พวกละครวิทยุ ผมยังจำได้ว่าก่อนนอนเวลาที่ผมนอนกับย่า ย่าจะเปิดวิทยุ AM รายการนิทาน ซึ่งผมจำชื่อรายการไม่ได้แต่จำชื่อคนจัดได้ว่าชื่อ ลุงพร ชื่อจริงคือชัยพร พูนลาภ หรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ที่จำได้ว่าชื่อลุงพรเพราะแกชื่อเหมือนลุงแถวบ้าน ที่เป็นใบ้หูหนวก ชอบพกหนังสะติ๊ก และรับจ้างขึ้นมะพร้าวแถวๆบ้านผม และเมื่อย่าไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ และไม่ได้ฟังข่าว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแน่ใจได้ว่า ย่าผมยังไม่รู้ข่าว "พระภิกษุนิกร"ของท่าน

ตอนนั้นผมยังเด็กมากเกินกว่าที่จะสงสัยว่าทำไมพ่อผมไม่ไปบอกเอง ทำไมต้องให้ผมไปบอก แต่เมื่อผมได้เห็นปฏิกิริยาตอบสนองของย่าหลังจากที่ผมเล่าเรื่องนี้ให้ย่าฟังแล้ว ผมก็เข้าใจเรื่องราวต่างๆได้ดีขึ้นมากทีเดียวครับ

"ไอ้นรกกินหัว มาใส่ความพระดีๆแบบนี้ มันต้องตกนรกหมกไหม้ ไม่ได้ผุดได้เกิด" ย่าผมบ่นอย่างมีอารมณ์และจะไล่ทุกคนที่ไปเล่าเรื่องนี้ให้ย่าฟัง ย่าผมเชื่อและศรัทธาในพระภิกษุนิกร และพระอาจารย์ต่างๆอย่างสนิทใจไปจนกระทั่งท่านเสียชีวิตไม่ว่าจะมีข่าวคราวใดๆท่านก็จะไม่สนใจทั้งสิ้น เรียกได้ว่ายึดมั่นและศรัทธาแบบไม่มีความลังเลสงสัยใดๆเจือปนอยู่เลย ผมจึงมั่นใจว่า ตอนนี้ที่ย่าผมจากโลกนี้ไปแล้ว ย่าผมไปดี ไปที่สบายแน่นอนครับ เพราะมีความอิ่มอกอิ่มใจ ทำบุญด้วยความศรัทธา แต่คนที่ทำความผิด ทำสิ่งที่เลวร้ายหรือหลอกลวงให้ชาวบ้านนับถือ ถ้าตายไปคงจะไม่ได้เจอกับย่าผมแน่นอนครับ ตายไปคงจะไปอยู่ในขุมนรกขุมใดขุมนึงแน่ๆ ส่วนจะอยู่ขุมไหนนั้น ใครว่างๆก็ตามไปดูเอาเองนะครับ เรื่องนี้ผมขอผ่านไม่เข้าไปยุ่งครับ

ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมพ่อผมพอรู้ข่าวพระนิกร ถึงให้ผมรีบไปเล่าให้ย่าฟังนั้นต้องใช้เวลาอีกหลายปีต่อมา กว่าที่ผมจะได้รู้ความจริงว่าทำไมพ่อผมจึงจงเกลียดจงชังท่านนิกรรูปนี้นักหนา เวลาได้ยินเรื่องพระนิกรครั้งใด พ่อผมจะด่าสมีนิกรทุกครั้ง

วันนั้นพ่อผมและลุงป้า อา มาพร้อมกันในวันทำบุญประจำปี ที่ในแต่ละปีพี่ๆน้องๆของพ่อทั้งแปดคน จะมาร่วมกันทำบุญให้บรรพบุรุษ ซึ่งบ้านเราถือเป็นประเพณีที่ทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน วันนั้นหลังจากทำบุญเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในช่วงเย็นก็มีการตั้งวง นั่งดื่มนั่งกินกันที่บ้าน วันนั้นพ่อผมเล่าให้ฟังว่า ตอนที่พ่อสร้างบ้านหลังแรกนั้น ลำบากมาก ปูนกระสอบละห้าสิบบาท พ่อยังแทบจะไม่มีเงินซื้อปูนเลย พอเอ่ยปากบ่นให้ย่าได้ยิน ย่าก็เฉย แต่ตอนไปเชียงใหม่ไปทำบุญกับพระนิกร ย่าทำบุญไปตั้งหมื่นนึง ทีกับลูกแล้วปล่อยให้ดิ้นรนเกือบตาย แต่พ่อก็เล่าแบบอารมณ์ดี ไม่ได้จริงจังอะไร และก็สรุปเหมือนที่ผมคิดก็คือ ย่ามีบุญ ทำบุญด้วยจิตบริสุทธิ์ ต้องได้ขึ้นสวรรค์แน่นอน

พูดถึงเรื่องทำบุญเชียงใหม่ ในสมัยที่ย่าผมไปเชียงใหม่กับชาวบ้านในตลาดท่าข้าม คงจะเป็นเรื่องฮือฮากันพอสมควรในสมัยนั้น เพราะตอนที่ผมเรียนปริญญาตรีอยู่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว และเหตุการณ์ทัวร์เชียงใหม่ในตอนนั้นก็ผ่านมาสิบกว่าปีแล้วเช่นกัน แต่ก็ยังมีคนจำได้ วันนั้นผมได้ไปงานเผาศพที่วัดตัน หรือวัดตรณาราม ที่ในตลาดท่าข้าม วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ อยู่แถวๆสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี ในตอนนั้นเมรุที่วัดตรณารามยังสร้างไม่เสร็จแต่พอใช้งานได้ ซึ่งจริงๆแล้วผมจำความได้ผมก็เห็นมันเป็นแบบนี้ ตอนเผาศพญาติผม หรือเวลามางานเผาศพของคนรู้จักผมก็เห็นเมรุวัดตรณารามเป็นแบบนี้จนชินตา คือสร้างไม่เสร็จ เสาปูนยังตั้งชี้ฟ้ายังมีเหล็กเส้นโผล่ออกมาให้เห็น ฝาบางด้านก็ยังไม่ได้ฉาบปูน แต่มันก็ใช้งานได้

ในงานผมนั่งคุยกับพี่ชายคนนึงแกเป็นคนในตลาดท่าข้ามนี่ละครับ คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ตามประสาคนไม่ได้เจอกันนาน จนช่วงนึงแกนั่งมองเมรุแล้วหันมาทางผมแล้วบอกว่า "แลเมรุวัดบ้านเราตะ ติพังแหล่ไม่พังแหล่ ตอนทำบุญถ่อไปทำกันถึงเชียงใหม่ พอตายเห็นมาเผาวัดตันทั้งเพ" และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่ผมคิดถึง พระนิกร ครับ

หมายเหตุ

ตอนนี้เมรุวัดตัน หรือวัดตรณาราม ได้สร้างใหม่สวยงามแล้วครับแต่ของเก่าก็ยังคงอยู่ ใครสนใจจะใช้บริการก็ติดต่อหลวงพี่เล็กเจ้าอาวาสได้เลยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น