เห็นหมีหนูมั๊ย
สารภาพว่าไม่เคยฟังเพลงนี้มาก่อนเลยในชีวิต แต่ที่อุตสาห์ดิ้นรนไปหามาฟังเพราะได้อ่านข่าวของเฮียเอ พีราวุธ ดีเจชื่อดังผู้ใจดีของพวกเรา ปกติพี่เอ แกจะไม่ค่อยวิจารณ์เพลงหนักๆขนาดนี้ แต่รอบนี้ดูเฮียแกของขึ้นพอสมควร ดังนั้นผมจึงต้องไปหามาลองฟังดู
พอเริ่มเปิดขึ้นมา "เห็นหมีหนูม้ายยย" เฮ๊ย... เพลงเหี้ยไรวะเนี่ย
ผมไม่อยากจะเชื่อเลยครับว่าชีวิตผมที่อยู่มาจนอายุสามสิบกว่าๆจะได้ฟังเพลงแบบนี้ในสื่อ ก่อนหน้านี้เคยรู้สึกอึดอัดๆกับเพลง ชิมิ แต่พอฟังเพลงนี้แล้ว ชิมิ ดูดีขึ้นมากเลยครับ ฟังไปไม่ทันจบเพลงก็ต้องปิด ปิดแบบสงสารตัวเองเหลือเกิน เพลงแบบนี้ไม่น่าจะมีอยู่ในโลก มัน...บอกไม่ถูกจริงๆครับ
เคยมีเพื่อนๆถามความเห็นของผมในเวลาที่นั่งคุยกันว่า "ทำไมเพลงใต้ถึงไม่พัฒนาเหมือนเพลงที่อื่น"
ผมก็ตอบไปว่าเพลงใต้ไม่พัฒนาก็เพราะคนใต้ไม่พัฒนาแนวเพลงของตัวเอง คอยแต่จะลอกคนอื่น และทำเพลงออกมาในแนวที่ไม่สร้างสรรค์
เพลงใต้คุณภาพที่เป็นเพลงใต้แท้ๆ อย่างมาลีฮวนน่า สันติภาพ เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในทุกยุคทุกสมัย ทำออกมาเมื่อไหร่ก็จะขายได้เสมอ นั่นคือเพลงใต้ที่ผมยอมรับและกล้าที่จะแนะนำเพื่อนๆที่อยู่ในภูมิภาคอื่นๆให้ฟัง
"แล้ว หลวงไก่ บิว บ่าววี ละ" นั่นก็เพลงใต้นี่ หลายๆคนเคยถามผมเช่นกัน
ในทีมของอาร์สยาม ผมว่าไม่ใช่เพลงใต้นะครับ แค่เอาคำในภาษาใต้มาร้องเท่านั้นเอง นักร้องแต่ละคนไม่ได้ออกเสียงในสำเนียงของบ้านเกิดตัวเองเลย ผมเองก็ไม่ใช่ผู้ที่มีความสามารถใดๆที่จะเรียบเรียงเสียงประสาน หรือแต่งคำร้อง ทำนองได้อย่างผู้รู้หรือครูเพลง (...?) ทั้งหลาย
แต่ผมว่าอาร์สยาม ไม่ใช่เพลงใต้พันธุ์แท้ครับ
"มันก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยสิคุณ" เสียงใครแถวๆนี้ตะโกนเข้ามาให้ผมได้ยิน
ใช่ครับมันก็ต้องเปลี่ยน แต่ถ้าเปลี่ยนแล้วมันดีขึ้นมันก็น่าจะทำ นี่แหละครับที่จะมาตอบคำถามที่ว่าทำไมเพลงใต้ถึงได้แค่นี้ ลองดูงานของ มาลีฮวนน่ากันซักนิดนะครับ นักร้องใหม่ๆที่ปั๊มแผ่นออกมาขายตอนนี้มีมากมายเลยครับที่เลียนแบบการร้องของอาจารย์ไข่ มาลีฮวนน่า หรือคิดว่าทำดนตรีในสไตล์ของมาลีฮวนน่า แล้วจะขายได้เพลงจะเป็นที่นิยม เป็นอมตะแบบมาลีฮวนน่า แต่ผมเห็นออกมากี่ชุดๆก็เจ๊ง ไม่เป็นท่า ขนาดใช้บริการ โลว์คอร์ส เรคคอร์ด แล้วนะครับ ยังไปไม่รอดกัน คงเป็นเพราะ คิดว่า ร้องแบบนั้น ทำดนตรีแบบนั้นแล้วจะเป็นที่นิยม แต่ก็พลาด ผิดหวังกันไปหลายราย
ผมยังชื่นชม พี่เอก เอกชัย ศรีวิชัย อยู่มากมายเลยทีเดียวในการที่ พี่เอก ใช้คำภาษาใต้ได้อย่างไม่ขัดเขิน ไม่มากไปไม่น้อยไป และเป็นคำไทยภาคใต้ที่ออกเสียงชัดแทบทุกเพลง ผมลองแอบๆคิดว่า ถ้าชุดไหน พี่เอกชัย ไม่ร้องแบบสำเนียงใต้ ชุดนั้น ขายไม่ดีแน่นอนครับ (ลองฟังเพลง แนวอื่นๆของพี่เอกดูก็ได้ครับ ยกเว้นชุด สุดซึ้งนะครับ ชุดนั้นพี่เอก ร้องเพราะมากๆๆ)
ลองมาฟังวงดนตรีแนวๆเพื่อชีวิตภาคใต้ระดับบรมครูอย่างมาลีฮวนน่ากันบ้างครับ
มาลีฮวนน่า ใช้คำภาษาใต้แท้ๆครับ คำว่าภาษาใต้แท้ จะออกเสียงต่ำ ดังนั้นการเขียนเนื้อร้องจึงจำเป็นต้องหาคำที่ ลงตัวกับโทนเสียงนี้
"มาลีฮวนน่า เสียงต่ำที่ไหน เสียงสูงจะตายห่า.. กูร้องตามไม่เคยถึงซักที" มีคนข้างๆบอกผมอีกแล้ว
"นั่นเป็นวิธีร้องโว๊ย มันเลยฟังว่าสูง" อย่างคำร้องท่อนที่ว่า "หัวใจพี่ยังพรือ......โฉ้" โหนเสียงขึ้นสูงแต่ "คำ" ที่ใช้เป็นตัวที่กดเสียงลงในภาษาใต้ คำว่าพรือโฉ้ โฉ้จะออกเสียงต่ำ ถ้าความหมายเดียวกันแล้วจะออกเสียงสูงต้องใช้คำว่า "ฉู้" พรือโฉ้ จะเป็น พรือฉู้ ในสำเนียงใต้ หัวใจพี่ยังพรือโฉ้ ออกเสียงต่ำตามภาษาดั้งเดิมของท้องถิ่น ก่อนที่จะดึงขึ้นไปสูง ทำให้เพลงนี้มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ทำให้ใครๆหลายคนชื่นชอบ
ลองยกตัวอย่างมาอีกซักเพลงครับ ของ เดช อิสระ ที่ชื่อ นางเอกหนังลุง เพลงนี้หลายๆคนชื่นชอบ และร้องตามกันได้แทบจะทั้งภาคใต้ เหตุผลง่ายๆแบบที่ไม่ต้องถามบิ๊กแอส ก็คือ สำเนียงร้องไงครับ "พรือมั่ง หว่างนี้" "มือม้วนใบจาก ส่วนในปาก เคี้ยวท่อม" การออกเสียงคำว่าปาก คือ สำเนียงใต้แท้ตัวต่ำ ไม่ต้องดัดเสียง คนใต้เลยฟังได้แบบไม่ขัดขืน และรู้สึกเป็นธรรมชาติเมื่อร้องตาม "ปูสาด นั่งแล หนังพร้อม" และอีกมากมายในเพลง นั่นคือ การออกเสียงตัวตรงตามสำเนียงท้องถิ่น มันเลยติดหูคนฟังได้เร็ว
คำว่าพรือ แปลว่า เป็นอย่างไร อย่างพรือมั่ง คือเป็นไงมั่ง
"โฉ้" เป็นคำขยายตัวหน้า แปลว่า "...ก็ไม่รู้"
พรือ เมื่อเติม "โฉ้" เข้าไปก็จะเป็น พรือโฉ้ แปลว่า "เป็นอย่างไรก็ไม่รู้"
ใคร เมื่อเติม "โฉ้" เข้าไปก็จะเป็น ใครโฉ้ แปลว่า "ใครก็ไม่รู้"
ไหน เติม โฉ้ เข้าไปก็จะเป็น ไหนโฉ้ แปลว่า "ที่ไหนก็ไม่รู้"
แต่เพลงของ บิว อย่างเพลงอิจฉา ที่ว่า มันอิจฉา โร่ม้าย ไอ้ โร่ม้าย นี่ไม่ใช่คำใต้นะครับ เพียงแค่เอาคำใต้มากดให้ลงตัวกับเมโลดี้ของเพลง ที่มาจากแนวความคิดของคนภาคกลางมากกว่า ผมว่า ถ้า บิวไม่ร้องเพลง แล้วพูดภาษาใต้ คำว่า โร่ม้าย ต้อง ออกเสียงว่า หรู่ม้าย หรือ โหร่ม้าย มากกว่าครับ
ก่อนที่จะกลายเป็นเวทีวิวาทะเรื่องภาษาใต้ไปซะก่อน ขอข้ามกลับมาเรื่องเพลงใต้กันอีกดีกว่า
ผมพูดเล่นๆกับเพื่อนๆที่นั่งฟังเพลงด้วยกันเสมอว่า เพลงใต้นี่โครตแมนเลย.. ถ้าอยากฟังเพลงที่ด่าผู้หญิง ละก็เพลงใต้ แน่นอนที่สุด ยิ่งแนวๆ เธอหลายใจ อ้อร้อ ตอแหล หาเพลงใต้มาฟังเถอะครับไม่ผิดหวัง บางครั้งผมยังบ่นคิดถึง มาลีฮวนน่า สะพาน สันติภาพ ที่ทำเพลงใต้คุณภาพออกมาให้ผมได้ฟังอยู่บ่อยๆ พี่ๆหายไปไหนกันหมด ออกมาให้ผมหายคิดถึงซักหน่อยเถอะครับ ทำเพลงใต้ สำเนียงใต้ แท้ๆ ออกมาให้คนใต้แบบผมได้ชื่นใจซักหน่อย
ผมคิดเอาเล่นๆแบบของผมคนเดียวนะครับว่า ถ้าใครจะทำเพลงใต้ให้ประสบผลสำเร็จ เป็นที่ติดหูของคนใต้ด้วยกันจริงๆแล้ว ลองใช้ภาษากับสำเนียงเป็นตัวตั้ง แล้วให้ทำนองกับดนตรีเป็นตัวรองดูสิครับ อย่าเอาทำนองมาก่อนแล้วแก้ภาษาหรือการออกเสียงตามทำนองเพลง ผมว่ามันจะเป็นเพลง ภาษาใต้ใส่ทำนองที่น่าฟังมากมายเลยทีเดียว และผมมั่นใจว่าถ้าจะทำเพลงใต้ให้ติดตลาดภาคใต้แบบยั่งยืน ต้องทำเพลงในรูปแบบที่เป็น เสียงจริง สำเนียงจริง ของคนใต้ครับ แล้วจะดังยาวนาน ไม่เชื่อลองหาเพลงของ "พายุ สุริยัน" มาฟังดูสิครับ กี่ปีกี่ชาติ ก็ยังสนุกเหมือนเดิม เพราะนั่นคือ เพลงใต้ที่ใช้ภาษาใต้และสำเนียงใต้ครับ
กลับมาที่เพลง "เห็นหมีหนูมั๊ย" ดีกว่าครับ ตอนแรกตั้งใจจะเขียนถึงเพลงนี้ แต่อ่านไปอ่านมา ฟังไปฟังมา ผมว่าผมได้ข้อสรุปของเพลงนี้เรียบร้อยแล้วครับ
มันเป็นความรู้สึกเดียวกับการที่ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกเลยครับนั่นก็คือ... "เพลงเหี้ย อะไรวะเนี่ย"
นภดล 28/6/2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น