วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กาหลาหรือดาหลา

เมื่อเช้านี้ผมตื่นเช้าเป็นพิเศษอาจจะเป็นเพราะนานๆจะได้มีวันหยุดกับเขาซักที เลยใช้เวลาว่างให้คุ้มค่าซักหน่อย ผมเดินลงไปดูต้นไม้ที่หน้าบ้านมันเริ่มจะรกๆซักหน่อย โดยเฉพาะเจ้ากอดาหลาที่อยู่หน้าบ้าน กิ่งก้านมันเกะกะสายตาเหลือเกิน ผมเลยจัดการตัดแต่งซะโล่งไปเลย หลังจากนั้นก็นั่งกินกาแฟ นั่งดูปลาดูต้นไม้ไปเรื่อยๆ แล้วก็สะดุดตาสะดุดใจกับเจ้ากอดาหลากอนี้แหละครับ เพราะแถวๆบ้านผมเรียกเจ้าต้นไม้ชนิดนี้ว่า "ดาหลา" แต่ก็มีบางพื้นที่เรียกว่า "กาหลา"เช่นกัน

ดังนั้นเมื่อเกิดความสงสัยผมก็เริ่มหาคำตอบครับ เริ่มต้นจากเข้าไปถามพี่กู ( เกิ้ล ) ที่ใครๆก็บอกว่ารอบรู้ไปทุกเรื่อง แต่ก็ได้คำตอบที่ไม่ชัดเจน มีบางที่บอกว่า ต้องเรียก "กาหลา" เพราะว่า "ดาหลา" ไม่มีคำแปล เมื่อเห็นเช่นนั้นผมก็กวาดสายตาไปที่ชั้นหนังสือทันที แล้วผมก็เจอกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ที่เก็บไว้นานแล้ว เมื่อเปิดออกมาดูก็พบว่าจริงอย่างที่ในเวบนั้นกล่าวไว้คือ

กาหลา ว. เหมือนดอกไม้

ส่วนคำว่า ดาหลา ไม่มีในพจนานุกรมครับ ส่วนคำว่า หลา ที่เปิดแถมมาด้วยแปลว่า น.มาตราวัด 3 ฟุตเป็น 1 หลา 0.91 เมตร เอาละสิทีนี้ นี่เราเรียกผิดมาทั้งชีวิตแล้วเหรอเนี่ย แต่ก็คงจะไม่ใช่เราคนเดียวแน่ๆ เพราะที่ในเมืองสุราษฎร์ก็มีร้านอาหารชื่อ เรือนดาหลา อยู่ด้วย เมื่อเจอแบบนี้ผมยิ่งสงสัยมากขึ้นไปอีกครับ

เมื่อนั่งคิดไปคิดมาก็นึกได้ว่าเคยฟังเพลง ดอกไม้ชายแดน ของพี่ป๋อง ณ ปะเหลียน มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานของดอกไม้ชนิดนี้ พี่ป๋องเรียกชื่อ "ดาหลา" เช่นกันแต่พอนึกอีกที มีนักร้องเพลงเพื่อชีวิตแถวๆจังหวัดพังงา ชื่อ "โมทย์ กาหลา" เช่นกัน โอ๊ยๆๆๆๆ แล้วตกลงมันชื่ออะไรกันแน่เนี่ย

กลับมาที่พี่กู (เกิ้ล ) อีกที บางเวบก็บอกว่า มันเรียกได้ทั้งสองชื่อ ไม่มีอะไรผิด แต่อย่างว่าละครับผมเดินหน้ามาถึงขนาดนี้แล้วจะหยุดก็คงจะกระไรอยู่เลยก้มหน้าก้มตาหาข้อมูลต่อครับ คั่นเวลาด้วยการเอาเนื้อเพลง ดอกไม้ชายแดน มาให้อ่านกันครับ เพลงนี้เพราะดี ส่วนจะหามาฟังกันยังไงคิดว่าไม่เกินความสามารถของเพื่อนๆพี่ๆที่ใช้งาน อินเตอร์เนต กันเป็นประจำหรอกนะครับ

ดอกไม้ชายแดน ป๋อง ณ ปะเหลียน อัลบั้ม สวรรค์ห้องเช่า หน้า B เพลงที่ 3 ( ผมซื้อเป็นเทปมาฟังครับ ของแท้ซะด้วย)

เธอเป็นเจ้าหญิงชื่อจริงเธอคือดาหลา สดสวยโสภาเหมือนนางฟ้ามาจากสวรรค์
มีชายหนุ่มมากมายมั่นหมายมารุมชอบกัน แต่ใจเธอนั้นคงมั่นไม่ให้ชายใดเลย

เจ้าหญิงดาหลา คือบุหงาชายแดนมาเลย์ พบชายขายของเร่ที่มาจากชายแดนไทย
สองคนพบกัน มีความสัมพันธ์มัดใจ ตกลงมอบกายให้กับชายไทย อย่างทุ่มเท

รักที่สดใสหนุ่มไทยกับสาวมาเลย์ เกิดความหักเห พ่อแม่รู้แล้วมีปัญหา
ชายหนุ่มเมืองไกล เป็นคนไทยต่างศาสนา จึงห้ามคบค้า พบพากับสาวมาเลย์

เฝ้าคอยความหวัง รอวันคนรักกลับมา เจ้าหญิงดาหลาร่ำหาจนหัวใจสลาย
รักถูกกีดกั้นจนเธอนั้นกลั้นใจตาย เพื่อเกิดเป็นดอกไม้คอยคนรักอยู่ชายแดน

เพื่อเกิดเป็นดอกไม้ชื่อ ดาหลา ดอกไม้ชายแดน

เมื่อฟังเพลงจบผมก็นึกขึ้นได้ว่า ดอกไม้ชายแดน ไทย มาเลเซีย หรือ ดาหลาเป็น ภาษามลายูวะ ลองถามคนแถวนั้นดูดีกว่า พูดถึงภาษามลายู หลายๆคนจะเรียกภาษานี้ว่า ยาวี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยาวีเป็นชื่อตัวอักษรที่เขียนแทนภาษามลายูมากกว่าครับ ผมว่าการเรียกภาษาท้องถิ่นแถวนั้นน่าจะใช้คำว่า ภาษามลายูจะดีที่สุดครับ ในการอยู่ร่วมกันในประเทศที่หลากหลายด้วยเชื้อชาติอย่างประเทศไทยเรา การเข้าอกเข้าใจกันจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขครับ คนแถวนั้นคงจะไม่ค่อยพอใจนักถ้าเราไปเรียกภาษาของเขาว่าภาษาแขก คงจะคล้ายๆกับที่ใช้คำว่าลาว เขมร เจ๊ก กับคนเชื้อชาติอื่นๆ ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้นมาอีกนิดเพื่อความสบายใจกันทุกฝ่ายนะครับ

เมื่อสงสัยเรื่องภาษามลายู ผมเลยโทรไปหาเพื่อนที่ทำงานอยู่ที่ยะลา เพื่อนคนนี้ดูแลพื้นที่จังหวัดยะลายาวไปถึงเบตงเลยครับ เสี่ยงอันตรายน่าดู แต่มันก็อยู่ของมันมาได้ เก่งจริงๆ

"หมัด ดอกดาหลา แถวๆยะลา เรียกว่าอะไร"

"ก็เรียกว่า ดาหลาสิวะ"

"ไม่ใช่ๆๆๆ ภาษาบ้านเอ็งนะเรียกว่าอะไร"

"บุงอ ราแต"

อธิบายก่อนนะครับว่าคำว่า ราแตนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจเพราะสำเนียงมันเร็วมากๆอาจจะเป็น กาแต ลาแฆ หรืออะไรก็ได้ อันนี้ขอผ่านนะครับ แต่คำว่า บุงอ มาจากคำว่า bunga (บุงา) ในภาษามลายูกลาง แต่เมื่อมาใช้ในท้องถิ่นเลยมีการแผลงออกเสียง (ปาฮาซอ กาปง) ดังนี้ครับ ถ้ามี a อยู่ท้ายจะแผลงเป็น ออ ดังนั้น บุงา หรือ บุหงา ในภาษาไทย ก็จะกลายเป็น บุงอ ครับ

และเมื่อยังไม่เข้าทางเกี่ยวกับคำว่า ดาหลา หรือ กาหลา ผมก็วางสายแล้วเริ่มหาต่อไปแล้วผมก็มาเจอที่นี่ครับ

http://plugmet.orgfree.com/sk_dialect_4.htm

กาหลา (น.) ชื่อของพันธุ์ไม้ตระกูลข่า พืชท้องถิ่นชนิดหนึ่งของปักษ์ใต้ ชื่อของพืชพันธุ์นี้ พ้องเสียงกับคำ พระกาหลา - พระกาฬ ( พระอิศวรเทพแห่งความตาย ในอดีตจึงไม่นิยมนำมาปลูกในบ้าน และไม่นิยมนำดอกกาหลาไปบูชาพระ ( ปัจจุบันคนปักษ์ใต้น้อยคนที่จะรู้ความหมายของคำ กาหลาในอดีต ประกอบกับ กาหลา ได้ชื่อใหม่เป็นดาหลาจึงนิยมนำมาปลูกกันทั่วไป โดยเริ่มจากปลูกเป็น ผักเหนาะ ใช้ทานคู่กับขนมจีนหรือข้าวยำ ต่อมา ก็ปลูกเป็นไม้ตัดดอกขาย ถือเป็นไม้ตัดดอกที่ทนทาน อยู่ได้หลายวัน มีราคาดี )

เริ่มเข้าทางมานิดๆ เพราะใกล้ๆกันมีคำว่า กาหลอ ที่เป็น มโหรีสำหรับส่งวิญญาณคนตายของทางใต้อยู่ด้วย มันทำให้ผมยังสงสัยเรื่องที่ว่า มันน่าจะเป็นภาษามลายู ดังนั้นผมจึงไปหยิบ พจนานุกรมภาษามลายู-ไทย มาเปิดอ่านไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับหาข้อมูลจองเจ้าดอก ดาหลา หรือ กาหลาเพิ่มเติม

Torch Ginger ชื่อสามัญของเจ้าดาหลาในภาษาอังกฤษ ผมก็แปลตามประสาของผมที่ไม่ค่อยรู้เรื่องภาษาอังกฤษมากมายนักว่า "ขิงไฟ" "ดอกไม้ที่เหมือนคบเพลิง" อย่าหัวเราะนะครับ ผมแปลได้แค่นี้จริงๆ และวิธีการหาของผมก็เริ่มจากหาคำพ้องเสียงใน ภาษามลายูกลาง ก่อนเลยครับได้มาดังนี้

kala (กาลา) ยุค สมัย ระยะเวลา
dara (ดารา) สาว พรหมจาริณี

ถ้าเป็นชื่อเกี่ยวกับตำนานเจ้าหญิงดาหลา ก็น่าจะเป็น dara ที่แปลว่า สาว หรือ พรหมจาริณี แต่ถ้าออกเสียงตามแบบท้องถิ่น น่าจะเป็น ดารอ ซึ่งก็ต้องหาข้อมูลมาเพิ่มอีกเยอะเลยทีเดียว

มีคำว่า latu,lelatu (ลาตู เลอลาตู )แปลว่าดอกไม้ไฟ ( le ภาษามลายูออกเสียง เลอ เหมือนฝรั่งเศสเลย)
laal (ลาอัล) พลอยสีแดง ซึ่งผมคิดว่ายังไม่ใช่อยู่ดี ค้นไปค้นมาเจอ คำว่า "หน่อกะลา" ที่พวกเราไปกินกันที่เกาะเกร็ดนั่นละครับ เป็นพืชพันธุ์เดียวกันเลยครับ อยู่ในตระกูลขิงเหมือนกัน หรือว่า กาหลา มาจาก กะลา หรือ กะลา มาจาก กาหลา อันนี้ก็ต้องคิดกันเอาเองนะครับ แต่ในส่วนตัวของผมที่เป็นคนใต้แล้วนั้นคงจะเลี่ยงคำว่า กาหลา เพราะ มันจะพ้องกับ คำว่า พระกาหลา - พระกาฬ อย่างที่เวบข้างบนได้บอกไว้ เพราะคนรุ่นผมยังทันที่จะได้ฟัง "กาหลอ" ที่ใช้เล่นเฉพาะในงานศพ ของคนทางใต้ ยังจำเสียงที่โหยหวนได้ดี เลยขอเรียกว่า ดาหลา ตามอย่างคนแถบนี้ดีกว่าครับ และผมก็คิดเอาเองว่าที่คนแถวนี้เรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า ดาหลา น่าจะมีสาเหตุมาจากเรื่องนี้ด้วยเช่นกันครับ

นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานมาครึ่งวัน ผมได้ข้อมูลมาแค่นี้เองครับ ใครมีข้อมูลเพิ่มเติมก็ช่วยบอกด้วยนะครับ เพราะถึงยังไงผมก็คงจะสงสัยไปอีกนานจนกว่าจะได้คำตอบครับ

นภดล 22/5/2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น